×

จับตาความเสี่ยงนโยบายรัฐต่อหุ้นพลังงาน กำลังฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ

20.06.2022
  • LOADING...
หุ้นพลังงาน

ช่วง 5 วันทำการที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มพลังงานเป็นกลุ่มที่กดดันภาพรวมตลาดหุ้นไทยมากที่สุด เนื่องจากมาร์เก็ตแคปที่สูงกว่า 4 ล้านล้านบาท และเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน วันที่ดัชนีหุ้นไทยดิ่งลงกว่า 2% ติดลบไป 32 จุด ก็มีแรงขายหลักออกมาจากหุ้นกลุ่มพลังงานเช่นกัน 

 

ถัดมาเมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน หุ้นกลุ่มพลังงานยังคงถูกกดดันต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มโรงกลั่นที่ราคาหุ้นปรับตัวลงประมาณ 5-10% จากความกังวลต่อความเสี่ยงในเรื่องของนโยบายภาครัฐ ที่ต้องการให้บริษัทต่างๆ ช่วยส่งกำไรบางส่วนมาอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อกำไรของทั้งกลุ่มอย่างมากในปีนี้ 

 

ทั้งนี้ในช่วง 2 วันทำการ (16-17 มิถุนายน) หลังภาครัฐประกาศนโยบายดังกล่าว พบว่านักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยรวมสุทธิกว่า 7,411 ล้านบาท แบ่งเป็นการขายในวันที่ 16 มิถุนายน 5,799 ล้านบาท และขายสุทธิในวันที่ 17 มิถุนายน อีก 1,611 ล้านบาท

 

สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ช่วง 100 วันก่อนหน้านี้ ดัชนี SET ค่อนข้างเด่นกว่าภูมิภาค เนื่องจากกำไรของกลุ่มพลังงานที่คาดว่าจะสูงขึ้นมาก ช่วยให้ภาพรวมประมาณการกำไรตลาดของหุ้นไทยปีนี้น่าจะสูงขึ้นได้ 1% แต่หากตัดเอากลุ่มพลังงานออกไป กำไรตลาดของหุ้นไทยปีนี้จะติดลบถึง 8% 

 

“ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1.2 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นการเก็บหุ้นพลังงาน แต่จากความเสี่ยงด้านนโยบายของภาครัฐ เป็นปัจจัยกดดันให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นพลังงานออกมาแทน” 

 

จักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส และนักวิเคราะห์กลุ่มพลังงาน บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ความเสี่ยงจากนโยบายรัฐดังกล่าวมีส่วนให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกมา และอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน 

 

“นักลงทุนต่างชาติคงจะรอจนกว่าจะเห็นความชัดเจนในเรื่องนี้ หากเป็นการขอให้ช่วยอุดหนุนครั้งเดียวจบก็อาจจะเห็นการซื้อกลับ แต่สิ่งสำคัญคือ ความเสี่ยงจากนโยบายรัฐจะลามต่อไปยังหุ้นกลุ่มอื่นด้วยหรือไม่ ถ้าสามารถเรียกให้กลุ่มพลังงานช่วยอุดหนุนมากขนาดนี้ แล้วกลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มธนาคาร หรือกลุ่มอื่นๆ จะเป็นอย่างไร” 

 

สำหรับจำนวนเงินที่ภาครัฐต้องการให้กลุ่มโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซช่วยอุดหนุน คิดเป็นเม็ดเงินราว 2.55 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นส่วนของโรงกลั่นราว 2.1 หมื่นล้านบาท และจาก PTT ราว 4.5 พันล้านบาท 

 

สำหรับบริษัทที่ถูกขอให้ส่งกำไรมากที่สุดคือ TOP 4.6 พันล้านบาท, IRPC และ PTTGC บริษัทละประมาณ 3 พันล้านบาท, SPRC, ESSO และ BCP บริษัทละประมาณ 2-2.2 พันล้านบาท 

 

หากมองเป็นสัดส่วนต่อกำไรปีนี้ หุ้นอย่าง TOP และ SPRC จะถูกกระทบราว 17-19% ของกำไรทั้งปี แต่ IRPC จะกระทบมากถึง 47% ของกำไรทั้งปีนี้ เนื่องจากส่วนธุรกิจปิโตรเคมีไม่ดี 

 

“เงินส่วนนี้น่าจะช่วยตรึงราคาน้ำมันได้แค่ 1 เดือน และตรึงราคา LPG 2 เดือน ในขณะที่กระทบต่อกำไรของหุ้นอย่างมาก คำถามสำคัญคือ คุ้มหรือไม่ต่อสิ่งที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน ซึ่งอาจจะลามไปถึงกลุ่มอื่นด้วย” 

 

ในเบื้องต้นเราประเมินว่าผลกระทบต่อราคาหุ้นกลุ่มโรงกลั่นน่าจะอยู่ที่ราว 4-8% สิ่งที่ต้องติดตามคือ การขอให้ช่วยจะเป็นแค่ครั้งเดียวหรือไม่ ในมุมของการลงทุน สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำควรหลีกเลี่ยงไปก่อน เพราะความไม่ชัดเจนของนโยบาย ส่วนผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง การปรับตัวลงรอบนี้เป็นโอกาสในการเข้าซื้อ

 

“หากเศรษฐกิจไม่เกิด Recession กลุ่มโรงกลั่นจะเป็นขาขึ้นรอบใหญ่ และดีไปอีก 3-4 ปี” 

 

ด้าน ปรินทร์ นิกรกิตติโกศล รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า เม็ดเงินที่ภาครัฐขอให้ช่วยในครั้งนี้รวมกันน่าจะสูงถึง 2.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งเคยขอให้ช่วยด้วยเม็ดเงินรวม 2.2 พันล้านบาท 

 

สิ่งที่ต้องติดตามคือ โรงกลั่นทั้งหมดจะให้ความมือกับภาครัฐหรือไม่ หรือจะเป็นเหมือนกับปี 2551 ซึ่งโรงกลั่นต่างชาติไม่ได้เข้าร่วมด้วย 

 

ในกรณีที่โรงกลั่นทั้งหมดให้ความร่วมมือกับภาครัฐ จะกระทบต่อกำไรของแต่ละบริษัทราว 1.7-3.9 พันล้านบาท และกระทบต่อราคาหุ้น 2-6% ส่วน PTT ซึ่งมีธุรกิจโรงแยกก๊าซและถือหุ้นโรงกลั่น จะกระทบกำไร 8.5 พันล้านบาท และกระทบต่อราคาหุ้น 1% ส่วนกรณีที่โรงกลั่นต่างชาติไม่เข้าร่วม ผลกระทบต่อกำไรของแต่ละบริษัทจะอยู่ระหว่าง 2-4.5 พันล้านบาท ส่วน PTT จะกระทบราว 1 หมื่นล้านบาท 

 

“ปัจจุบันตลาดยังเห็นผลกระทบไม่ชัดเจน เพราะรายละเอียดเบื้องลึกต้องรอการประชุม ครม. วันที่ 21 มิถุนายน ในตอนนี้คาดว่าราคาน่าจะตอบรับเชิงลบประมาณ 5% แต่การช้อนซื้ออาจรอหลังการประชุม ครม. จะปลอดภัยกว่า” 

 

ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันในปีนี้ เชื่อว่าสิ้นปีน่าจะต่ำลงกว่าระดับปัจจุบัน เนื่องจากอุปสงค์จะเริ่มชะลอลงด้วยราคาที่สูงขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจที่เริ่มเห็นการปรับคาดการณ์ GDP ลง ประกอบกับการที่หลายประเทศเริ่มออกนโยบายเพื่อต้องการให้ราคาพลังงานลดลงเพื่อบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อ 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising