วันนี้ (31 กรกฎาคม) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงประเด็นสืบเนื่องจากมีข้อกังวลว่า การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจมีผลต่อความต่อเนื่องของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
โดยระบุว่า การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสําคัญใน EEC มีความคืบหน้าไปมาก โดยมีสํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นผู้ติดตามความก้าวหน้าการดําเนินงาน โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสําคัญได้ลงนามกับคู่สัญญาไปเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างเดินหน้าต่ออย่างเดียว ไม่ต้องมีข้อกังวลใดๆ ซึ่งรายละเอียด มีดังนี้
- โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ลงนามสัญญาร่วมลงทุนวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ปัจจุบันการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภค อยู่ระหว่างเตรียมดําเนินการรื้อย้าย โดยรถไฟความเร็วสูงสายนี้เข้าเชื่อมโยง 3 สนามบิน ยกระดับสนามบินอู่ตะเภามาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 อีกท้ังเป็นการสร้างพื้นที่ต่อขยายของเมืองให้กับกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ EEC (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง)
- โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 ช่วงที่ 1 ลงนามสัญญาร่วมลงทุนวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดําเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการกํากับดูแลและคณะกรรมการบริหารสัญญา โดย สกพอ. และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนคณะกรรมการบริหารสัญญาและหน่วยงานเจ้าของโครงการในการควบคุมและกํากับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญาตามท่ีกําหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน เพื่อดําเนินการก่อสร้าง
- โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ถือเป็นหนึ่งในโครงการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานหลักของ EEC เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง ทําให้ 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation รวมทั้งเป็นมหานครการบินภาคตะวันออก ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย
- โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ปัจจุบันคณะกรรมการคัดเลือกได้เร่งเจรจาผลตอบแทนและร่างสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (ประกอบด้วยบริษัท พีทีที แทงค์เทอร์มินัล จํากัด ในกลุ่ม บมจ. ปตท (PTT) บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวล ลอปเมนท์ (GULF) บริษัท China Harbour Engineering Commpany Limited) ที่เป็นเอกชนผู้รับการคัดเลือก คาดว่าจะได้ผลการคัดเลือกเอกชน และลงนามสัญญาได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้
ทั้งนี้ ยังมีโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทําร่างเอกสารคัดเลือกเอกชนเพื่อรับฟังความเห็นอีกครั้ง ก่อนสรุปผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อพิจารณาแนวทางการดําเนินงานโครงการต่อไป
รัชดายังกล่าวด้วยว่า แม้จะมีการยื่นขอการลงทุนใน EEC ลดลงในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นจากนี้เป็นต้นไป เพราะยังมีนักลงทุนที่ต้องการย้ายการลงทุนสืบเนื่องจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา และ 3 อันดับแรกของประเทศที่เข้ามาลงทุนประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์
“ขอให้ประชาชนและภาคเอกชนสบายใจและมั่นใจได้ว่า ท่านนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้ความสำคัญขับเคลื่อนการลงทุนในไทยและในพื้นที่ EEC ผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี สกพอ. ที่เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามดูแลการดำเนินงานโครงการ EEC การปรับคณะรัฐมนตรีจึงไม่กระทบต่อความต่อเนื่องของโครงการแต่อย่างใด และนอกจากความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้างพื้นฐาน สกพอ. ได้ เดินหน้าควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรร่วมกับสถาบันการศึกษาและเอกชน เพื่อรองรับการจ้างงานใน EEC เป้าหมายจำนวนหลักแสนอัตราในระยะเวลา 2562-2566” รัชดากล่าวในที่สุด
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล