วันนี้ (31 มีนาคม) ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจสอบศูนย์ราชการ อาคาร A แจ้งวัฒนะ ว่า ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เข้าตรวจสอบสถานการณ์ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน ยืนยันว่าอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร และไม่กระทบต่อความมั่นคงของโครงสร้าง
การตรวจสอบโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญพบว่าอาคารยังมีสภาพแข็งแรง แต่เพื่อความมั่นใจ กรมโยธาธิการและผังเมืองจะเข้าตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายตรวจสอบให้ครบทุกอาคารภาครัฐ พร้อมเปิดศูนย์รับแจ้งผ่านสายด่วน 1531 เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ เข้ารายงานความผิดปกติ
ซาบีดาระบุว่า กรุงเทพมหานครได้รับคำสั่งให้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอาคารในพื้นที่รับผิดชอบอย่างเข้มข้น ทั้งคอนโดมิเนียม โรงแรม และที่พักอาศัย เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้อาคารได้อย่างปลอดภัย โดยมีหลายอาคารที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว
ยืนยันอาคารไม่ได้เอียง พร้อมตรวจซ้ำรอยร้าว
พงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเวลา 10.00 น. เกิดอาฟเตอร์ช็อกประมาณ 15 ครั้ง แม้หลายคนอาจไม่รู้สึก แต่บางรายอาจมีอาการเวียนหัวหรือรู้สึกสั่นไหว โดยอาคารศูนย์ราชการได้ผ่านการตรวจสอบตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบเพียงรอยร้าวเล็กน้อยที่ไม่กระทบโครงสร้าง ซึ่งอาจเป็นการขยับตัวของรอยเชื่อมระหว่างอาคาร
เขาย้ำว่า อาคารในโซน A และ B มีการออกแบบให้มีลักษณะเอียงตามแบบอยู่แล้ว ไม่ได้เกิดจากการเคลื่อนตัวของอาคารเพิ่มเติม พร้อมทั้งจะมีการตรวจสอบรอยแตกร้าวและสภาพอาคารอีกครั้ง เพื่อความมั่นใจของผู้ใช้อาคาร
ตรวจพบปัญหา 4 อาคารภาครัฐจากกว่า 200 แห่ง
พงษ์นรายังกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบอาคารภาครัฐกว่า 200 แห่ง พบปัญหาใน 4 แห่ง ได้แก่ อาคารทศมินทราธิราช โรงพยาบาลราชวิถี, ทางเชื่อมอาคารโรงพยาบาลเลิศศิลป์, กรมสรรพากร และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามและดำเนินการแก้ไข
คานไม่ได้แตก พร้อมแนะประชาชนถ่ายภาพรอยร้าวไว้
ด้าน ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า พบรอยร้าวบริเวณขอบเสาชั้น 7 ซึ่งเป็นรอยเดิมที่ไม่ส่งผลต่อโครงสร้าง ยืนยันว่าคานไม่ได้แตกร้าว และบริเวณรอยต่อระหว่างคานกับเสายังคงสภาพดี พร้อมแนะนำประชาชนให้ถ่ายภาพรอยร้าวที่พบไว้ก่อน และยังไม่ควรซ่อมแซมทันทีในช่วงที่ยังมีอาฟเตอร์ช็อก
แจ้งเตือนผิดพลาดจากรอยร้าวเดิม
ศูนย์วิทยุพระราม 199 สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานว่า การแจ้งเตือนให้อพยพจากศูนย์ราชการอาคาร A เกิดจากการเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่ประจำอาคาร ที่พบรอยร้าวเดิมจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม และเข้าใจว่าเป็นรอยร้าวใหม่ จึงกดสัญญาณแจ้งเตือน อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบไม่พบความเสียหายหรือแรงสั่นสะเทือนเพิ่มเติม