เมื่อวานนี้ (10 กันยายน) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นประโยชน์กับตัวเกษตรกรและผู้บริโภคในประเทศ รวมถึงเป็นสินค้าเกษตรที่มีโอกาสเติบโตในตลาดโลกอย่างมาก ซึ่งมีมูลค่าสูงถึงกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเติบโตปีละ 20% ตลาดที่สำคัญของโลกคือยุโรปและอเมริกาเหนือ และที่มีแนวโน้มสูงขึ้นมากคือจีน ออสเตรเลีย และอาเซียน สำหรับในประเทศไทยมีมูลค่าตลาด 3,000 ล้านบาท และส่งออก 2,000 ล้านบาท
โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560-2565 ด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกัน 7 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นการมุ่งเป้าภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์คือ
1. ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์
2. พัฒนาการผลิตผลิตและบริการเกษตรอินทรีย์
3. พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรองรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับชุมชน ประเทศ และภูมิภาคอาเซียน
ซึ่งขณะนี้กลุ่มประเทศอาเซียนได้ตกลงที่จะจัดทำมาตรฐานกลางของอาเซียน หรือชื่อทางการว่า Mutual Recognition Arrangement for Organic Agriculture โดยในปีงบประมาณ 2564 จะมีโครงการรวมทั้งสิ้น 209 โครงการ งบประมาณรวม 1.9 พันล้านบาท
รัชดากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ส่งเสริมการบริโภคเกษตรอินทรีย์ในกลุ่มโรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม และร้านอาหาร และสนับสนุนการปลูกในที่ดินเกษตรกร ที่ดินภายใต้การจัดสรรที่ดินแห่งชาติ และ ส.ป.ก. ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากคือโครงการข้าวอินทรีย์ที่ขยายพื้นที่ได้ปีละประมาณ 3 แสนไร่ ทั้งนี้เกษตรกรที่สนใจจะได้รับการสนับสนุนในเรื่องการผลิต องค์ความรู้ และการตลาด โดยสามารถหาข้อมูลได้ที่เกษตรอำเภอใกล้บ้าน
“รัฐบาลขอเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ เพราะนอกจากจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้วยังจะเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้อย่างมาก โดยภาครัฐมีแผนให้การสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ระดับต้นทาง เช่น การพัฒนาสารชีวภัณฑ์ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มห้องปฏิบัติการตรวจรับรองผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน ระดับกลางทาง เช่น การแปรรูปผลผลิต ปรับระบบโลจิสติกส์สินค้า และระดับปลายทาง เชื่อมโยงตลาดตามนโยบาย ‘เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด’ ส่งเสริมผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้มีการบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เน้นการขายทางออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มสากลและแพลตฟอร์มกลางให้ผู้ซื้อมั่นใจในมาตรฐาน การขายออฟไลน์ผ่านการจัดงานแสดงสินค้าระดับจังหวัดและเอ็กซ์โประดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงการจับคู่ผู้ผลิตและผู้ซื้อ” รัชดากล่าว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์