×

รัฐบาลฉลองใหญ่ 6-8 ธ.ค. หลัง ‘ต้มยำกุ้ง-เคบายา’ เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พร้อมต่อยอดเศรษฐกิจ-วัฒนธรรม สร้างงาน สร้างรายได้

โดย THE STANDARD TEAM
06.12.2024
  • LOADING...

วันนี้ (6 ธันวาคม) ที่ EMQUARTIER สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานงานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ในโอกาสที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนต้มยำกุ้งและเคบายาเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ประจำปี 2024 ซึ่งมีการจัดงานระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม

 

โดยมี ประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมด้วย ซูฮยอนคิม ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคยูเนสโก กรุงเทพมหานคร, เชฟชุมพล เชฟระดับมิชลิน และเป็นผู้ทำอาหารไทยเสิร์ฟบนเวทีเอเปค 2022 พร้อมคณะทูตานุทูต 8 ประเทศ ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์, สวิตเซอร์แลนด์, แคนาดา, เมียนมา, จีน, สิงคโปร์, กัมพูชา และมาเลเซีย ร่วมเป็นสักขีพยาน

 

สุดาวรรณกล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนต้มยำกุ้งและเคบายาเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 ณ เมืองอาซุนซิออน สาธารณรัฐปารากวัย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา

 

ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2016 และดำเนินการร่วมกับชุมชนเสนอรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งปัจจุบันมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ รวม 6 รายการ คือ โขน ในปี 2018, นวดไทยในปี 2019, โนรา ในปี 2021, สงกรานต์ ในปี 2023 และในปีนี้คือต้มยำกุ้งและเคบายา

 

สุดาวรรณกล่าวอีกว่า ในวาระแห่งการฉลองการประกาศขึ้นทะเบียนต้มยำกุ้งและเคบายาเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในนามของรัฐบาลและประชาชนไทยขอประกาศเจตนารมณ์ในการรักษาและสืบทอดรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต้มยำกุ้งและเคบายา

 

“รัฐบาลและประชาชนไทยจะร่วมกันดำเนินการในทุกวิถีทางอย่างเต็มความสามารถ ให้เจตนารมณ์บรรลุผลสัมฤทธิ์ เพื่อสนับสนุนให้มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมทางต้มยำกุ้งและเคบายาดึงดูดให้ผู้คนจากทุกมุมโลกเข้ามาในประเทศ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ เสริมสร้างขีดความสามารถของประชาชนในการให้บริการ ด้วยการพัฒนาแรงงาน ส่งเสริมอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน และส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนวัฒนธรรม” สุดาวรรณกล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X