วันนี้ (1 มิถุนายน) เวลา 13.45 น. อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าว รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเป็นต้นมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังไม่พูดแสดงความยินดีกับผู้ได้รับการเลือกตั้งต่างๆ ว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจกับพี่น้องประชาชนไปตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังการเลือกตั้งแล้ว
หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกวันอังคารหลังการเลือกตั้ง (16 พฤษภาคม) นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีไปแล้ว ฉะนั้นตรงนี้อยากให้เข้าใจตรงกัน และส่วนที่มีการพูดถึงว่า ณ วันนี้เรื่องของสปิริตในการที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลชุดปัจจุบันทำไมถึงไม่ดำเนินการในลักษณะที่จะให้ความร่วมมือในการที่จะมีการเปลี่ยนผ่านหลังเลือกตั้งมาแล้ว และทราบว่าพรรคการเมืองใดกำลังจัดตั้งรัฐบาลกันอยู่
อนุชากล่าวต่อไปว่า ในส่วนนี้ตนเองได้เคยชี้แจงไปหลายรอบแล้ว ในเรื่องไทม์ไลน์ต่างๆ ว่า หลังจากการเลือกตั้งจะมีกำหนดระยะเวลาอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีการรับรองภายใน 60 วันหลังการเลือกตั้ง และหลังจากที่มีการรับรองแล้วจะมีการเปิดสมัยประชุมสภาเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อได้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี
เมื่อนายกรัฐมนตรีมีการจัดตั้ง ครม. และถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว รัฐบาลชุดนี้ก็จะหยุดปฏิบัติหน้าที่และพร้อมให้ทางรัฐบาลใหม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นประมาณต้นเดือนสิงหาคม ตรงนี้อยากชี้แจงทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่าไทม์ไลน์ต่างๆ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างยังเป็นลักษณะนี้อยู่ และปัจจุบัน หากพรรคการเมืองที่กำลังรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล ทางรัฐบาลเองไม่ได้ห้ามปรามหากจะเดินสายไปพบกับหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆ ซึ่งเราก็เห็นอยู่ทั้งสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทยต่างๆ
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคราชการนั้น อนุชากล่าวว่า ต้องบอกว่าในส่วนของข้าราชการเองก็มีเสียงสะท้อนพูดคุยกลับมาทางรัฐบาลเหมือนกันว่าในลักษณะเช่นนี้เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร เพราะปัจจุบันรัฐบาลที่กำลังดำเนินงานยังคงทำหน้าที่อย่างเต็มที่อยู่แล้ว โดยมีการประชุมกับหน่วยงานราชการต่างๆ และ ครม. จึงอยากให้ประชาชนและพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคการเมืองที่กำลังฟอร์มจัดตั้งรัฐบาลอยู่ ได้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลในปัจจุบันและบทบาทหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในปัจจุบันด้วยว่ายังคงทำหน้าที่อยู่ และในส่วนของ ไทม์ไลน์ต่างๆ สิ่งแรกรอ กกต. ประกาศเรื่องการรับรองผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามไทม์ไลน์ที่พูดถึงจะมีการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้เมื่อมีการรับรอง ส.ส. ได้ครบ 95% หรือประมาณ 475 คน ซึ่งถือเป็นครรลองที่รัฐบาลชุดนี้ได้ประกาศมาตลอดระยะเวลา จึงอยากให้พรรคการเมืองที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลอยู่ได้เข้าใจ รวมถึงพี่น้องประชาชนเพื่อเข้าใจตรงกันในเรื่องของไทม์ไลน์และการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลในชุดปัจจุบันด้วย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ไทม์ไลน์จะเลยเดือนสิงหาคมก็มีความเป็นไปได้ใช่หรือไม่ อนุชากล่าวว่า การรับรอง ส.ส. ต้องอยู่ภายใน 60 วัน ตรงนั้นชัดเจน หลังจากนั้นจะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกำหนดไว้หลังจากมีการเรียกประชุมแล้ว เมื่อมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว การที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ ฉะนั้นตรงนี้รัฐบาลทำหน้าที่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของนโยบายอนาคตอาจจะเกิดอะไรขึ้นมาก็ตาม เราคงดำเนินการในลักษณะที่ กกต. กำหนดไว้อยู่แล้วว่า
- จะไม่ใช้ในส่วนของงบประมาณที่ยังไม่ได้อนุมัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง
- การจะดำเนินนโยบายอะไรต่างๆ คงต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา
ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบ 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการอย่างเคร่งครัดในเรื่องนี้ อย่างเช่นเรื่องการลดค่าไฟ เราได้มีการดำเนินการส่งให้ กกต. เรื่องการโยกย้ายบุคลากรต่างๆ ก็ได้ส่งให้ กกต. เพื่ออนุมัติกลับมา
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าการที่ออกมาพูดว่านายกรัฐมนตรีไม่เก็บข้าวเก็บของตรงนี้ถือว่าเกินเลยไปหรือไม่ อนุชากล่าวว่า การที่ออกมาพูดว่ารัฐบาลไม่โชว์สปิริตและไม่มีการมอบหมายหรือไม่มีการดำเนินการในลักษณะเหมือนเตรียมเก็บของเพื่อที่จะออกจากทำเนียบรัฐบาลอะไรต่างๆ คิดว่าเป็นการพูดที่เกินกว่าเหตุ ตอนนี้ในส่วนของการจัดตั้งรัฐบาลทุกคนก็กำลังให้กำลังใจอยู่ อยากให้พรรคการเมืองที่ได้มีการรวบรวมเสียงของผู้ที่ประชาชนให้การเลือกตั้งมา เราอยากให้ดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย นายกรัฐมนตรีกล่าวอยู่เสมอว่าตอนนี้ท่านจะไม่ไปก้าวล่วง และจะให้พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงจากพี่น้องประชาชนได้เดินหน้าอย่างเต็มที่ เพียงแต่ให้ระมัดระวังเรื่องของระเบียบต่างๆ เท่านั้นเอง ซึ่งท่านได้ให้ข้อสังเกต เช่น การเรียกข้าราชการหรืออะไรต่างๆ เท่านั้นเอง
เมื่อผู้สื่อข่าวย้ำถามว่า แสดงว่ายังไม่มีการเก็บของจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ใช่หรือไม่ อนุชากล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้อย่างไรก็จะทำหน้าที่จนกว่าจะมี ครม. ชุดใหม่ และอยากให้เข้าใจไทม์ไลน์ให้ตรงกัน ไม่ใช่วันที่มีการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วตรงนั้นก็ถือว่ายังไม่เสร็จสิ้นต้องให้มีการฟอร์ม ครม. เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อน นั่นถึงจะเรียกว่าเป็นการยุติของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ฉะนั้น ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องเก็บข้าวของ เวลานี้เราต้องเข้ามาทำหน้าที่ แม้กระทั่งตามกระทรวงต่างๆ รัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรียังต้องเข้ามาทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลตามปกติ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ไม่มีไทม์ไลน์เรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรี เขาจะว่าเราไม่ได้ เพราะเลือกกันไม่ได้เองใช่หรือไม่ ตรงนี้จะทำความเข้าใจอย่างไร อนุชากล่าวว่า ในเรื่องการที่มีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เลือกรองประธานสภา คนที่ 1 คนที่ 2 แล้ว หลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของ ส.ส. ที่จะรวบรวมเสียงหรือมีการพูดคุยกัน อาจจะผ่านพรรคร่วมที่แสดงเจตจำนงจัดตั้งรัฐบาลเพื่อที่จะเสนอชื่อ ซึ่งหากตรงนั้นไม่สามารถดำเนินการได้ รัฐบาลชุดนี้ก็ยังทำหน้าที่ต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลาว่าจะต้องเสร็จสิ้นภายในเวลาเมื่อไร หากยังหาไม่ได้รัฐบาลชุดนี้ก็คงต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นเรื่องของระเบียบกฎหมายที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว