วันนี้ (21 กุมภาพันธ์) นิโรธ สุนทรเลขา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดนครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงแนวทางการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้ว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะพิจารณาร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะนำร่างของพรรคการเมืองและพรรคร่วมรัฐบาลมาพิจารณาเป็นหลัก
นิโรธกล่าวว่า ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ของพรรคเพื่อไทยที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 28 และ 29 สามารถให้บุคคลอื่นให้คำปรึกษา แนะนำ เสนอแนะ หรือให้ข้อมูลแก่พรรคการเมือง เพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองได้ ซึ่งน่าจะทราบดีอยู่แล้วว่ามีเจตนาอย่างไร โดยเฉพาะกรณีให้บุคคลภายนอกเข้ามาแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมรัฐสภา เพราะควรจะต้องเป็นสมาชิกพรรคถึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้ เพราะกฎหมายได้กำหนดเอาไว้แบบนั้น ซึ่งส่วนตัวมองว่าการเสนอให้แก้ไขเช่นนี้ทำให้กฎหมายบิดเบี้ยว กฎหมายและรัฐธรรมนูญเขียนมาดีอยู่แล้ว ซึ่งต้องการให้สอดคล้องกับการเลือกตั้ง พร้อมย้ำว่าจะไปแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายหลักให้บิดเบี้ยวไม่ได้ ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วย และในการประชุมวิปรัฐบาลในวันนี้จะมีการพูดถึงประเด็นนี้
อย่างไรก็ตาม นิโรธกล่าวว่า ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์และไม่ก้าวล่วงว่าเรื่องนี้จะมีความเชื่อมโยงกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จุดยืนของรัฐบาลคือจะไม่รับหลักการในส่วนของกฎหมายที่พรรคเพื่อไทยเสนอใช่หรือไม่ นิโรธระบุว่า จะมีการพูดคุยกันในที่ประชุมวิปรัฐบาลวันนี้ แต่ส่วนตัวยืนยันจะไม่รับร่างดังกล่าว เพราะทำให้กฎหมายบิดเบี้ยว
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมพิจารณากฎหมายลูกทั้งสองฉบับในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้ หากผ่านในชั้นรับหลักการแล้วก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามกรอบเวลา กฎหมายกำหนด 180 วัน และจะใช้เวลาในช่วงปิดสมัยประชุมหารือใน กมธ. ก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม และเชื่อว่าจะไม่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาออกไป
ส่วนที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าสภาล่มเนื่องจากตนเองในฐานะประธานวิปรัฐบาลไม่แข็งแกร่ง นิโรธย้ำว่าตนเองไม่ได้เป็นคนอ่อนแอ แต่เป็นคนอ่อนน้อม