×

กกร. แนะรัฐขยายวงเงิน ‘คนละครึ่ง’ พร้อมเพิ่มความยืดหยุ่นโครงการ ‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ

09.06.2021
  • LOADING...
คนละครึ่ง

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เสนอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการใน 3 ประเด็น เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมามีแรงขับเคลื่อนภายในไตรมาส 4 ของปีนี้

 

ประเด็นแรกคือ การเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย และบริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่​เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว พร้อมกับการเร่งออกแผนสนับสนุนการท่องเที่ยวตามรูปแบบของภูเก็ต แซนด์​บ็อกซ์ ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีน และทยอยขยายขอบเขตไปยังจังหวัด​ท่องเที่ยวอื่นต่อไป 

 

ประเด็นที่สองคือ การเพิ่มมาตรการช่วยเหลือด้านกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ให้เข้ามาพยุงกำลัง​ซื้อ​ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 โดยเห็นว่าภาครัฐควรพิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท ซึ่งจะ​ช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 9 หมื่นล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท เมื่อรวมเม็ดเงินของ​ประชาชนที่นำออกมาใช้จ่ายคู่กับเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง

 

ประเด็นสุดท้ายคือ การปรับมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ (E-Voucher) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่จดทะเบียน​ภาษีมูลค่าเพิ่มให้มีความคล่องตัวมากขึ้น และให้ผู้บริโภคสามารถนำเงินที่ใช้จ่ายสำหรับซื้อสินค้าและบริการมาใช้เพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้โดยตรง ซึ่งเชื่อว่าจะอำนวยความสะดวกและดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงมากขึ้น

 

ทั้งนี้ เชื่อว่าหากภาครัฐสามารถผลักดันทั้งสามประเด็นนี้ได้สำเร็จ จะช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ​แทนที่จะเป็นไตรมาสที่ 1 ของปีหน้าตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์

 

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเวลานี้ยังต้องการแรงสนับสนุนจากทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพิ่มเติม เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า โดยผู้ประกอบการในภาคท่องเที่ยวสะท้อนว่า ผลกระทบจากการระบาดคราวนี้มีแนวโน้มรุนแรงมากกว่าทั้ง 2 ระลอกก่อนหน้า จากการแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและเข้ามาซ้ำเติมกิจกรรมทางธุรกิจให้แย่ลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการค้าที่สะท้อนว่า ได้รับผลกระทบมากกว่า 2 ระลอกก่อนหน้าจากกำลังซื้อที่ลดลง 

 

ดังนั้น แรงสนับสนุนจากนโยบายการเงินและการคลังเพิ่มเติมเป็นสิ่งจำเป็น สอดคล้องกับรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ฉบับล่าสุดในเดือนมิถุนายน (Article IV Consultation) ที่เสนอแนะให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการผ่อนคลายนโยบายการคลังมากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งใช้จ่ายด้านการลงทุนภาครัฐ และมีความต่อเนื่อง

 

ขณะเดียวกัน ความรวดเร็วในการกระจายวัคซีนและนโยบายสนับสนุนที่เหมาะสมจะช่วยเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยการเร่งกระจายวัคซีนในประเทศที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ภาคการผลิตและส่งออกไทยยังคงรักษาการเป็นฟันเฟืองหลักของเศรษฐกิจในภาวะวิกฤตเช่นนี้ และยังจะสร้างเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและประชาชน ทำให้อุปสงค์ในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้ 

 

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมองว่า ยังสดใสตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดที่มีความคืบหน้าด้านการกระจายวัคซีนอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ซึ่งเป็นเกือบ 40% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ต่อเนื่องจากในช่วง 4 เดือนแรกของปีที่มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวขยายตัวได้มากกว่า 10% นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนเกิดวิกฤตค่อนข้างมาก ยังเป็นแรงหนุนสำคัญให้มูลค่าส่งออกไทยในปีนี้ขยายตัวได้ดี 

 

อย่างไรก็ดี กกร. รวมทั้งสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มองว่าต้นทุนค่าระวางเรือที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไปตลอดปีนี้ และการขาดแคลนตู้ส่งสินค้า เป็นปัญหาด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญ ซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ ดังเช่นการอนุญาตให้เรือขนาดใหญ่ (ความยาว 300 เมตร แต่ไม่เกิน400 เมตร) เข้ามาในท่าเรือแหลมฉบัง ที่ช่วยบรรเทาการขาดแคลนตู้ส่งสินค้าได้ระดับหนึ่งไปแล้วก่อนหน้านี้ เป็นต้น

 

ที่ประชุม กกร. ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัวในกรอบ 0.5-2.0% ด้านการส่งออก กกร. คาดว่าจะขยายตัว 5.0-7.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0-1.2%

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X