×

Google แพ้คดี! โดนคณะกรรมาธิการยุโรปสั่งปรับ 9.1 หมื่นล้านบาท ‘ฐานผูกขาด’ หลังโปรโมตบริการช้อปปิ้งออนไลน์ของตัวเองไว้เป็นอันดับ 1 ในหน้าค้นหา

11.11.2021
  • LOADING...
Google

ย้อนกลับไปในปี 2017 คณะกรรมาธิการยุโรปมองว่า Google ผูกขาดโดยการโปรโมตบริการช้อปปิ้งออนไลน์ของตน ซึ่งทาง Google ให้ความสำคัญกับบริการของตนในหน้าแสดงผลลัพธ์การค้นหาเป็นอันดับ 1 

 

โดย Google จะวางบริการของตนในตำแหน่งที่ดีกว่าคู่แข่งอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังมีการใช้อัลกอริทึมเพื่อสนับสนุนบริการของตนเหนือคู่แข่งอีกด้วย ส่งผลให้ศาลสั่งปรับ Google เป็นจำนวน 2.42 พันล้านยูโร หรือ 9.1 หมื่นล้านบาท แต่บริษัท Alphabet ผู้ให้บริการ Google ตัดสินสู้คดีต่อในศาลสูงสุดอันดับ 2 ของสหภาพยุโรป

 

ล่าสุดวันพุธที่ 10 พฤศจิกายน การตัดสินของศาลสูงสุดอันดับ 2 ของสหภาพยุโรป ได้ตัดสินออกมาว่า Google มีความผิดฐานผูกขาด และสั่งปรับ 2.42 พันล้านยูโรเช่นเดิม โดย Google ยังสามารถเลือกยื่นอุทธรณ์และสู้ต่อในศาลชั้นสูงสุดได้อีก

 

โฆษกของคณะกรรมาธิการยุโรประบุผ่านอีเมลว่า “การตัดสินในวันนี้ได้แสดงถึงความชัดเจนว่าการกระทำของ Google นั้นผิดกฎหมาย และยังเป็นมาตรฐานใหม่ที่ชัดเจนทางกฎหมายในอุตสาหกรรมนี้อีกด้วย และคณะกรรมาธิการจะยังคงใช้เครื่องมือที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อจัดการกับบทบาทของแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่ต่างๆ ที่ธุรกิจและผู้ใช้ต่างๆ ต้องพึ่งพาบริการของแพลตฟอร์มนั้น”

 

หลังจากการพิจารณาคดีจบลง โฆษกของ Google บอกกับสำนักข่าว CNBC ทางอีเมลว่า “การโปรโมตและโฆษณาสินค้าต่างๆ เรามุ่งเน้นไปที่การช่วยให้ผู้คนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย รวมถึงช่วยให้ผู้ขายเข้าถึงผู้คนที่มีโอกาสเป็นลูกค้าของเขาได้ การตัดสินนี้เป็นการตัดสินจากข้อเท็จจริงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งเราจะตรวจสอบอย่างใกล้ชิด และเราได้ทำการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับการตัดสินใจของคณะกรรมาธิการยุโรปนับตั้งแต่ปี 2017 แล้ว”

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศาลทั่วไปของสหภาพยุโรปได้ตัดสินคดีต่อต้านการผูกขาด ซึ่งนำโดยคณะกรรมาธิการยุโรปและกำกับดูแลยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี โดยในเดือนกรกฎาคม 2020 คณะกรรมาธิการล้มเหลวในการพิสูจน์ว่ารัฐบาลไอร์แลนด์ให้ข้อได้เปรียบทางภาษีแก่บริษัท Apple ที่ได้มีการยื่นฟ้องไปก่อนหน้านั้น โดยก่อนหน้านั้นสถาบันในบรัสเซลส์สั่งให้สาธารณรัฐไอร์แลนด์เรียกเก็บภาษีย้อนหลัง 1.3 หมื่นล้านยูโร หรือ 4.9 แสนล้านบาท จากผู้ผลิต iPhone ในปี 2016 อีกด้วย 

 

โดยคณะกรรมาธิการยุโรปไม่ยอมแพ้ ยื่นอุทธรณ์เพื่อสู้ต่อกับ Apple ต่อในศาลชั้นสูงสุด แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องยอมจำนนต่อหลักฐานต่างๆ ที่ชี้ว่า Apple ไม่ได้มีความผิดแต่อย่างใด แต่นี่ก็แสดงให้เห็นว่าสหภาพยุโรปกำลังดูแลมาตรฐานการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างเป็นจริงเป็นจัง

 

รวมทั้งในขณะนี้สหภาพยุโรปกำลังหารือถึงวิธีการทำให้กฎเกณฑ์เข้มงวดขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่ามีการแข่งขันที่เป็นธรรมใน 27 ประเทศสมาชิกยุโรป

 

โธมัส วินเญ หุ้นส่วนต่อต้านการผูกขาดที่สำนักงานกฎหมาย Clifford Chance เชื่อว่าคำตัดสินของศาลทั่วไปจะสนับสนุนและเร่งการบังคับใช้ข้อเสนอทางกฎหมายของคณะกรรมาธิการยุโรปอย่าง DMA หรือ Digital Markets Act ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำกับดูแลการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาดดิจิทัล ให้มีผลบังคับใช้เร็วยิ่งขึ้น และเขาเสริมผ่านอีเมลว่า “การตัดสินนี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงความพากเพียรของคณะกรรมาธิการ ในการหยุดยั้งการละเมิดของ Google มานานกว่าทศวรรษ”

 

DMA เป็นหนึ่งในกฎหมายหลักที่สหภาพยุโรปกำลังดำเนินการอยู่ และเมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว คณะกรรมการจะเริ่มพิจารณาเพื่อจัดการกับพฤติกรรมใดๆ ที่ขัดขวางการแข่งขันตลาดยุโรป ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจของยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีบางแห่งอีกด้วย

 

การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งเลยคือ จากเดิมที่ผู้ใช้ค้นหาแอปพลิเคชันต่างๆ ใน App Store ผลการค้นหาจะขึ้นเฉพาะแอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนาโดย Apple เท่านั้น แต่เมื่อกฎหมายนี้ถูกบังคับใช้แล้ว การค้นหานั้นจะมีแอปพลิเคชันของนักพัฒนาตัวเล็กๆ รายอื่นๆ แสดงขึ้นมา ถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักพัฒนาแอปพลิเคชันรายย่อยมีโอกาสถูกค้นพบและถูกเลือกโดยผู้บริโภคเช่นเดียวกัน 

 

นอกจากนั้น ผู้บัญญัติกฎหมายกำลังมองหาวิธีการจำกัดการโฆษณาแบบกำหนดเป้าหมายเฉพาะเจาะจง เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้อีกด้วย ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างแน่นอน

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X