เว็บไซต์ The Register ในสหราชอาณาจักรออกมาเปิดเผยว่า ‘Google Brain’ ทีมวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ของปัญญาประดิษฐ์กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการฝึกสอนให้ AI รู้จักจับประเด็นสำคัญจากบทความหรือข้อมูลต่างๆ บนเว็บไซต์ ก่อนเทรนให้พวกมันสามารถสรุปออกมาเป็นใจความแบบสั้นๆ และยังคงความหมายเดิมได้แบบไม่ผิดเพี้ยน (คล้ายสไตล์การเขียนแบบเว็บไซต์วิกิพีเดีย)
โดยทีม Google Brain กำลังฝึกสอนให้ปัญญาประดิษฐ์รู้จักเขียนสรุปความจากแหล่งข้อมูลต้นทางที่หลากหลาย และพวกมันก็สามารถทำได้ดีกว่าปัญญาประดิษฐ์ของทีมพัฒนาอื่นๆ เสียด้วย เนื่องจากตัวบทความที่สรุปออกมาไม่ได้สั้นและแข็งทื่อจนเกินไป ทั้งยังมีจังหวะจะโคนที่ลื่นไหลเป็นธรรมชาติเหมือนสำนวนการเขียนของมนุษย์
ถึงอย่างนั้นก็ดี คงต้องบอกว่าการสอนทักษะสรุปใจความและ Grouping ข้อมูลทั้งหมดให้กับปัญญาประดิษฐ์เพิ่งจะอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น เนื่องจากทีมวิจัยและนักพัฒนายังต้องคิดหาวิธีอีกมากที่จะช่วยให้ปัญญาประดิษฐ์มีสกิลดังกล่าวได้ใกล้เคียงกับมนุษย์ทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทีมวิจัยโครงการสร้างสารานุกรมวิกิพีเดียจากการสรุปอนุกรมแบบยาว (Generating Wikipedia by Summarizing Long Sequences) ที่ออกมายอมรับแบบไม่อ้อมค้อมว่า การสอนให้คอมพิวเตอร์รู้จักทักษะสรุปความยังมีความยากอยู่พอสมควร
โมฮัมเม็ด ซาเลห์ (Mohammad Saleh) ผู้ร่วมวิจัยโครงการ Generating Wikipedia by Summarizing Long Sequences และวิศวกรซอฟต์แวร์จากทีมปัญญาประดิษฐ์ของ Google ให้สัมภาษณ์กับ The Register ว่า ขั้นตอนการสรุปใจความสำคัญไม่ต่างอะไรจากปัญหา ‘คอขวด’ ที่ยังเป็นตัวกำหนดอยู่ว่าข้อมูลส่วนไหนจะถูกใช้และถูกปัดทิ้งไป ทั้งที่จริงๆ แล้วพวกเขาอยากป้อนแหล่งข้อมูล ‘ทุก’ ตัวให้ปัญญาประดิษฐ์ได้นำมาสรุปใจความ
“การออกแบบโมเดลและตัวฮาร์ดแวร์ที่จะช่วยสนับสนุนการป้อนข้อมูลที่ยาวขึ้นกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพัฒนาและวิจัย ซึ่งมันจะช่วยให้พวกเราลดข้อจำกัดเหล่านั้นได้”
ด้วยเหตุนี้เอง แม้ Google จะมีประสิทธิภาพในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา รวมถึงประสบความสำเร็จในการฝึก Alpha GO ให้เรียนรู้ด้วยตัวเองพร้อมโค่นเซียนหมากล้อมระดับพระกาฬ (ภายใต้การดูแลของ DeepMind) แต่ผู้เขียนจาก The Register ก็ยังเชื่อว่าการฝึกให้ AI รู้จักสรุปใจความยังเป็นเรื่องที่ยังต้องอาศัยเวลาพัฒนาอีกนานพอสมควรอยู่ดี ทั้งยังมีเรื่องความน่าเชื่อถือจากแหล่งข้อมูลต้นทางบนโลกออนไลน์เข้ามาเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะชี้วัดว่าโปรเจกต์นี้จะเกิดหรือดับอีกด้วย
อ้างอิง: