วันอังคารที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา (ช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 9 พฤษภาคม ตามเวลาประเทศไทย) Google ได้จัดงานประชุมประจำปีสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ค่าย Google หรือ Google I/O 2018 ที่ Shoreline Amphitheatre รัฐแคลิฟอร์เนีย ระหว่างวันที่ 8-10 พฤษภาคม เพื่อเผยข้อมูลนวัตกรรม แอปพลิเคชัน หรือระบบปฏิบัติการที่น่าสนใจ
งานวันแรกนี้เน้นพูดถึงการนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์และบริการมากเป็นพิเศษ ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น THE STANDARD ได้สรุปออกมาเป็น 5 ข้อสำคัญๆ ไว้ให้แล้ว
คลิกอ่านบทความฉบับเต็มที่ thestandard.co/google-maps-google-i-o-2018/
อนึ่ง ชื่องาน I/O ย่อมาจากคำว่า ‘Input’ และ ‘Output’ และยังมีความหมายรวมถึงสโลแกนประจำงานที่ว่า ‘เปิดนวัตกรรม’ (Innovation in the Open)
ฉลาดกว่าเดิม
ผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ส่วนตัว Google Assistant ถูกพัฒนาให้มีลักษณะการใช้ภาษาง่ายๆ คล้ายกับคนมากขึ้น ต่อไปนี้ผู้ใช้สามารถคุยกับมันด้วยรูปแบบคำถามที่หลากหลาย ไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป เช่น คำถามเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ คือหมวดหมู่คำถามที่ผู้ใช้งานถาม Google Assistant มากที่สุดรวมๆ แล้วกว่า 10,000 รูปแบบประโยคคำถามที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น Will it be cats and dogs today? หรือวันนี้ฝนจะตกหนักหรือเปล่า
เดิมที Google Assistant อาจจะไม่เข้าใจประโยคคำถามที่กำกวมแบบนี้ แต่ต่อไปมันจะเข้าใจรูปแบบคำถามที่หลากหลายและซับซ้อนได้มากกว่าเดิม (ถามมากกว่า 1 คำถามในประโยคเดียว) รวมถึงต่อไปนี้เมื่อเรียกใช้ Google Assistant ไปแล้วและต้องการเรียกใช้อีกครั้ง ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นต้นประโยคว่า Hey Google หรือ Ok Google อีกต่อไป เพราะมันจะถูกพัฒนาให้เข้าใจผู้ใช้มากขึ้นผ่านฟีเจอร์ Continued Conversation ว่า ณ ขณะนี้คุณกำลังคุยกับมันหรือกำลังพูดกับคู่สนทนาอีกคน
น้ำเสียงเหมือนคน จองตั๋วหนังและร้านอาหารได้
เจ้าผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์เวอร์ชันใหม่ยังถูกปรับปรุงให้มีน้ำเสียงและการออกเสียงดูเป็นธรรมชาติคล้ายกับมนุษย์มากๆ โดยมีรูปแบบเสียงที่ต่างกันให้เลือกใช้มากถึง 6 แบบ รวมถึงเสียงของศิลปินชื่อดังอย่าง จอห์น เลเจนด์ เจ้าของเพลง All of Me และ Love Me Now ที่จะเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์คนใหม่ของ Google ด้วย
Google ยังขยายขีดความสามารถและขอบเขตการทำงานของผู้ช่วยรายนี้ให้ครอบคลุมทุกด้านมากกว่าเดิม รวมถึงการโทรไปขอรับบริการต่างๆ เช่น การจองร้านอาหาร หรือซื้อตั๋วหนังได้แทนเราแล้ว!
ปีนี้ Google จะพัฒนาระบบนำทางยอดนิยมที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านรายให้ใช้งานได้ง่ายกว่าเดิม รวมถึงนำผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์มาใส่ใน Google Maps ทำให้คุณไม่ต้องละสายตาจากถนนหรือกดออกจากตัวแอปฯ ก็สามารถส่งข้อความ เลือกเล่นเพลงหรือพอดแคสต์ และให้ผู้ช่วยส่วนตัวอ่านเมสเสจหรือสรุปใจความสำคัญของข้อความแบบไม่ต้องเปิดอ่านได้
นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์จัดลิสต์ร้านอาหารหรืออีเวนต์ต่างๆ ในบริเวณพิกัดที่คุณอยู่ โดยสามารถเลือกแชร์ให้เพื่อนๆ โหวตร้านที่อยากไป พร้อมๆ กับการนำเทคโนโลยี AR เข้ามาใช้เพื่อให้ระบบนำทางมีประสิทธิภาพ ผู้ใช้สามารถวางแผนการเดินทางได้สะดวกกว่าที่เคย ผ่านการทำงานควบคู่กับ Street View ข้อมูลบนแผนที่ รวมถึงกล้องสมาร์ทโฟน และยังมีการเพิ่มหมวดหมู่จักรยานยนต์ขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกพาหนะการเดินทาง พร้อมคาดการณ์ระยะเวลาที่ใช้เดินทางล่วงหน้าได้แล้ว
Google บอกว่าในยุคที่มีเว็บไซต์มากกว่า 2 พันล้านเว็บ มีคอนเทนต์ออนไลน์ให้เลือกเสพนับจำนวนไม่ถ้วน นี่คือโจทย์ที่ยากมากถึงมากที่สุดในการรวบรวมทุกเรื่องราวย่อยให้ผู้บริโภคได้เลือกเสพภายใน 1 นาที ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเลือกพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อคัดกรองรายงานข่าวที่ดีที่สุด 5 เรื่องเด่นในแต่ละวันจากนักวารสารศาสตร์ทั่วโลก (เว็บไซต์ข่าวชั้นนำ) มารวมไว้บนแพลตฟอร์ม Google News
ประกอบด้วย ข่าวท้องถิ่น ข่าวใหญ่ระดับประเทศ และข่าวความเคลื่อนไหวของโลก ซึ่งข่าวที่ถูกเลือกขึ้นมาจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้ใช้แต่ละคน เมื่อกดเข้าไปอ่านในเนื้อข่าว ระบบจะลิงก์ไปยังหน้าเว็บไซต์ฉบับเต็มของข่าวนั้นๆ รวมถึงยังมีลิงก์ข่าวจากเว็บไซต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้กดอ่านต่อได้ด้วย โดยจะเข้ามาทดแทน Google Play Newsstand และ Google News & Weather App ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ก่อนให้ใช้งานได้เต็มรูปแบบใน 127 ประเทศตั้งแต่ช่วงสัปดาห์หน้า
Google ได้เผยโฉมระบบปฏิบัติการ Android P เวอร์ชันใหม่ที่คาดว่าจะเปิดตัวเต็มๆ ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ (ตอนนี้เริ่มปล่อยเวอร์ชัน Beta ให้นักพัฒนาทดลองใช้กันบนสมาร์ทโฟน Sony Xperia XZ2, Xiaomi Mi Mix 2S, Nokia 7 Plus, Oppo R15 Pro, Vivo X21, OnePlus 6 และ Essential PH‑1 แล้ว) โดยยังยึดสโลแกนเดิมคือการเปิดกว้าง (เพื่อให้นักทดลองได้ร่วมพัฒนา) แต่เน้นความสำคัญของรูปแบบการใช้งานที่จะต้องฉลาดขึ้น ใช้งานง่ายกว่าเดิม
Android P จะทำงานร่วมกับแมชชีนเลิร์นนิ่งเพื่อช่วยให้สมาร์ทโฟนของผู้ใช้แต่ละรายถูกปรับฟีเจอร์ลักษณะการใช้งานให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้ใช้คนดังกล่าวให้มากที่สุด และยังร่วมกับ DeepMind (บริษัทลูกผู้พัฒนาโครงการปัญญาประดิษฐ์ AlphaGO) พัฒนาฟีเจอร์ Adaptive Battery ช่วยให้สมาร์ทโฟนสามารถดูและจัดการประจุแบตเตอรี่ให้เหมาะสมกับการใช้งานได้อย่างชาญฉลาด รวมถึง App Actions ฟีเจอร์คาดการณ์การใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ ล่วงหน้า (คำนวณจากพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้ที่ได้รับการจดบันทึก) เพื่อทำให้การใช้สมาร์ทโฟนจัดการเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันรวดเร็วและลดขั้นตอนความยุ่งยากไปได้เป็นกอง
นอกจากนี้ยังมีการปรับอินเทอร์เฟซอื่นๆ อีกพอสมควร โดยเฉพาะการลดทอน Navigation Bars คีย์ลัด 3 ปุ่มเอกลักษณ์ประจำระบบปฏิบัติการออกไปให้เหลือแค่ปุ่ม Back และ Home เท่านั้น
เชื่อว่าฟีเจอร์นี้น่าจะถูกใจใครหลายคน รวมถึงคนทำงานที่ต้องใช้อีเมลติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวันอยู่บ่อยๆ เพราะ Smart Reply คือตัวช่วยปัญญาประดิษฐ์สำหรับการตอบอีเมลโดยเฉพาะ ซึ่งจะคาดเดารายละเอียดประโยคคำพูดที่ผู้ใช้จะพิมพ์ตามเนื้อหาบทสนทนาเพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและความง่ายในการทำงานให้กับผู้ใช้ และคาดว่าน่าจะพร้อมให้ลองใช้งานใน Gmail เวอร์ชันปรับปรุงใหม่เร็วๆ นี้
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.blog.google/products/gmail/subject-write-emails-faster-smart-compose-gmail/