*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนังสือ
เดือนตุลาคมเป็นช่วงเวลาที่หลายประเทศทั่วโลกเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีน (Halloween) อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา ผู้คนจะพากันตกแต่งบ้านหรือสถานที่ต่างๆ ในธีมสุดหลอน เด็กๆ จะแต่งตัวและออกไปเคาะประตูเล่น Trick or Treat กันในค่ำคืนวันสิ้นเดือน ในเม็กซิโกกับประเทศแถบลาตินอเมริกาก็จะฉลองวันแห่งผู้ล่วงลับ (Dia de los Muertos หรือ Day of the Dead) ที่เราอาจจะคุ้นเคยกันจากภาพยนตร์เรื่อง Coco ส่วนในประเทศอื่นๆ ก็มีการฉลองในรูปแบบปาร์ตี้ เอียงไปทางข้ออ้างในการแต่งตัวเป็นคาแรกเตอร์ที่ชอบมากกว่า
ในโลกของหนังสือก็เช่นกัน หนังสือหมวด Horror และ Suspense and Thrillers นับว่าเป็นหนึ่งในหมวดยอดฮิตมาตั้งแต่ไหนแต่ไร มีวรรณกรรมอมตะให้อ่านกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเบอร์ใหญ่ตลอดกาลอย่าง เอช. พี. เลิฟคราฟท์ (The Call of Cthulhu) เอดการ์ แอลลัน โพ (The Black Cat) และ เรย์ แบรดบิวรี (The October Country) ไล่มาจนถึงคนที่ยังมีชีวิตอยู่อย่าง นีล ไกแมน (Coraline) และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ สตีเฟน คิง (IT, The Shining, Doctor Sleep ฯลฯ)
หนังสือที่เราหยิบมาแนะนำส่งท้ายเดือนตุลาคมนี้ ก็มีดีกรีความหลอนไม่เป็นสองรองใคร และยังเป็นผลงานจากปลายปากกาของนักเขียนที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘สตีเฟน คิง เมืองไทย’ ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้เลยนอกจาก สรจักร ศิริบริรักษ์ นักเขียนระดับตำนานของเมืองไทย ที่ถึงแม้ลมหายใจจะล่วงลับไปแล้วกว่า 8 ปี แต่งานเขียนแนวเขย่าขวัญยังอยู่ยงคงกระพัน ได้รับความนิยมจากนักอ่านไม่เสื่อมคลาย และมีอิทธิพลต่องานของนักเขียนรุ่นหลังๆ มาจนถึงปัจจุบัน
คนดีตายหมดแล้ว คือหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดของสรจักร ที่แพรวสำนักพิมพ์ได้คัดสรร 30 เรื่องสั้นที่กลมกล่อมที่สุดจาก ชุดศพ ทั้ง 3 เล่ม ได้แก่ ศพใต้เตียง, ศพข้างบ้าน และ ศพท้ายรถ
ในฐานะคนที่ไม่เคยอ่านงานของสรจักรมาก่อนเลย แต่ได้ยินชื่อเสียงเรียงนามจากคนรอบๆ ตัวว่า สรจักรนี่แหละคือตัวจริงด้านงานหลอนหักมุม เราจึงอดไม่ได้ที่จะหยิบ คนดีตายหมดแล้ว มาอ่านในช่วงเทศกาลปล่อยผีแบบพอดิบพอดี
หนังสือเล่มหนาประมาณ 300 กว่าหน้านี้ อัดแน่นไปด้วยความลึกลับ ความตื่นเต้น และความเย็นยะเยือกที่โชยมาเป็นระลอก เป็นเล่มที่วางไม่ลงของจริง เราอ่านแบบรวดเดียวจบ พออ่านเรื่องหนึ่งเสร็จก็อยากอ่านเรื่องถัดไปทันที ด้วยความกระเหี้ยนกระหือรือและคำถามที่ว่า สรจักรจะผูกเรื่องและหักมุมแบบไหนได้อีก ซึ่งจากทั้งหมด 30 เรื่องในเล่ม เราชอบเรื่อง กรรม, นักเลงตัวจริง, จ้างฆ่า, ปราบเซียน และ ยำใหญ่ใส่สารพัด มากที่สุด
สรจักรมีวิธีเล่นกับจิตใจและจิตใต้สำนึกของคนอ่านอย่างแพรวพราว เรื่องสั้นส่วนใหญ่ในเล่มนี้ไม่ได้คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นคาวเลือด ไม่ได้มีคนไล่ยิงไล่ฆ่ากันอย่างโจ่งครึ่ม แต่เป็นการค่อยๆ หว่านเมล็ดสร้างความกลัว ค่อยๆ รดน้ำด้วยร่องรอยที่แฝงไว้ระหว่างบรรทัด รอให้เติบใหญ่แล้วใช้ขวานตัดฉับด้วยการ ‘หักมุม’ (Plot Twist) แบบไม่กรุณาปรานี บางเรื่องอ่านแล้วจุกจนพูดไม่ออก บางเรื่องก็เผลออุทานออกมาแบบไม่ตั้งตัว
งานของสรจักรมีความแม่นยำที่ร้ายกาจ เมื่อลองหาข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่า สรจักรประกอบอาชีพหลักเป็นเภสัชกร จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมโครงเรื่องและข้อมูลประกอบต่างๆ มีความสมจริง ลื่นไหล และแปลกใหม่เมื่อเทียบกับเวลาที่เขียนขึ้นมา (อยากให้ลองจินตนาการตามว่า ผู้มีความรู้ด้านยาและการแพทย์มาเขียนเรื่องสยองขวัญ มันจะสนุกและลงลึกขนาดไหน!)
นอกจากนี้ งานของสรจักรยังพาเราไปสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของสังคมไทยในหลายสิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ชีวิตหาเช้ากินค่ำของคนฐานะยากจน ไลฟ์สไตล์ในเมืองกรุงของคนชนชั้นกลาง ไปจนถึงความได้เปรียบของผู้มีอันจะกิน ที่สำคัญคือยังสะท้อนความบิดเบี้ยวและลักลั่นของระบบบางอย่างที่สืบทอดกันมาเรื่อยๆ แบบไม่ตั้งคำถามใดๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา
เรียกได้ว่าอ่านในปี 2564 ณ วินาทีนี้ ก็ยังมีบางสิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปจากในเรื่องแต่งที่ตีพิมพ์มาแล้วหลายสิบปี โดยเฉพาะประโยคจากตอน ศพข้างบ้าน ที่ว่า
“เช้าวันรุ่งขึ้นก็เหมือนเช้าของวันทำงานทุกวัน ผู้คนกระหืดกระหอบออกจากบ้านตั้งแต่ยังไม่รุ่งเหมือนนกกระจอกแตกรัง ที่มีรถส่วนตัวค่อยออกได้สายหน่อย ดูไปก็คล้ายคนกรุงเทพฯ เป็นพวกที่ทำกรรมไว้มาก จึงต้องมาชดใช้กันในชาตินี้”
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด นอกจากงานเขียนของสรจักรที่ลึกลับเขย่าขวัญระดับหาตัวจับได้ยาก การเสียชีวิตของสรจักรเมื่อ พ.ศ. 2556 ก็สร้างความตกตะลึงให้แฟนๆ และผู้อ่าน เมื่อร่างของเขาถูกพบเป็นศพในบ่อปลาหลังบ้านพักย่านสายไหม กรุงเทพฯ ซึ่งก่อนหน้านั้นเจ้าตัวป่วยเป็นโรคพาร์กินสันและปอดบวมแทรกซ้อน สิ้นสุดตำนาน ‘สรจักร’ ในวัย 58 ปี
เราเชื่อว่า คนดีตายหมดแล้ว จะกลายเป็นหนังสืออีกเล่มที่ถูกหยิบมาพูดถึงไปอีกนานแสนนาน ไม่ต่างจากผลงานและตัวตนของสรจักรที่ไม่เคยตายจากหน้าหนังสือไปแต่อย่างใด
ภาพ: Courtesy of the Brand