การทำให้ข้อมูลการใช้ชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ ‘ข้อมูลสถานที่’ ที่ผู้ติดเชื้อแต่ละคนเดินทางไปในช่วงที่อาการป่วยยังไม่แสดงชัดเจนกลายเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และโปร่งใสนั้น ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้
เพราะหากสามารถไล่เช็กข้อมูลสถานที่ย้อนหลังที่ผู้ป่วยแต่ละคนเดินทางไปได้ในช่วงติดเชื้อ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสป้องกันการแพร่ระบาดได้ไปในตัว แต่ปัญหาคือไม่มีใครทราบว่าตัวเองติดเชื้อจนกว่าอาการต่างๆ จะเริ่มแสดงตัว และเมื่อพบว่าติดเชื้อแล้ว ความทรงจำในการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ก็เลือนรางลงไปทุกขณะ
ด้วยเหตุนี้ บริษัท Almond Digital Group หนึ่งในพาร์ตเนอร์ของ LINE Dev จึงได้พัฒนา LINE OA ที่ช่วยบันทึกข้อมูลสถานที่และการเดินทางของผู้ใช้งานแต่ละคนในชื่อ ‘GooCare’ โดยเปิดให้ใช้งานได้แบบฟรีๆ ผ่านแพลตฟอร์มของ LINE (LINE: @goocare หรือ https://lin.ee/tOSpesz) ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถจดจำ และไล่เช็กข้อมูลสถานที่ที่เดินทางย้อนหลังพร้อมวันเวลาได้แบบชัดเจน
นอกจากนี้ตัวระบบยังสามารถแจ้งผู้ใช้งานได้ทันที กรณีที่เคยเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงที่พบการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในเร็วๆ นี้จะเพิ่มฟีเจอร์ ‘บันทึกอาการ’ เพื่อช่วยให้การคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นจะต้องเข้ารับการตรวจการติดเชื้อโควิด-19 ของแพทย์ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
สรณัญช์ ชูฉัตร กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้งบริษัท Almond Digital Group เปิดเผยเบื้องหลังการพัฒนา GooCare กับ THE STANDARD ว่า เริ่มต้นจากการที่ตนและทีมงานอยากช่วยให้การตรวจสอบข้อมูลสถานที่ของผู้ป่วยหรือผู้ที่เสี่ยงจะป่วยโควิด-19 เป็นเรื่องที่โปร่งใส ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง และเพิ่มความแม่นยำในการเก็บข้อมูล
“โดยส่วนตัวผมมองว่าปัญหาคือ ‘ความโปร่งใสของข้อมูล’ ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหน ถ้าเราสามารถทำให้ความมืดดำของข้อมูลดังกล่าวหายไปด้วยการแทร็กข้อมูลสถานที่ ผู้ใช้งานไปไหนมาไหนก็จะได้รู้ว่าแต่ละวันตัวเองไปสถานที่ไหนบ้าง เคยเดินทางไปในสถานที่พบการติดเชื้อก็จะได้ติดตามข้อมูลได้
“ตอนนี้ผมมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมันเหมือนภาวะสงครามนะ ใครทำอะไรได้ก็ต้องร่วมกันทำ อย่างพวกเราเป็นบริษัทเทคโนโลยีก็อยากจะช่วยแก้ปัญหาในมุมที่ตัวเองพอจะสามารถทำได้บ้าง”
สรณัญช์ บอกว่าเขาและทีมงานเริ่มพัฒนา GooCare ขึ้นมาเมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ ก่อนจะพัฒนาเสร็จสิ้นในช่วง 03.00 น. ของวันเสาร์ โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานรวมทั้งสิ้น 7,420 ราย โดยตัวแพลตฟอร์มสามารถแสดงผลข้อมูลย้อนหลังได้สูงสุด 14 วัน แต่ในฝั่งเซิร์ฟเวอร์จะไม่มีการลบข้อมูลผู้ใช้งานแต่อย่างใด
ส่วนประเด็นข้อมูลส่วนตัวที่ใครหลายคนอาจจะกังวลนั้น สรณัญช์ระบุว่า GooCare ไม่มีนโยบายนำข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานไปเปิดเผยแต่อย่างใด โดยในกรณีที่มีหน่วยงานต้องการข้อมูลจากบริษัทเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ ก็จำเป็นจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้งานรายคน
ขณะที่ในอนาคต หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายแล้ว พวกเขาตั้งเป้าประยุกต์แพลตฟอร์ม GooCare ไปใช้ในสถานการณ์วิกฤตอื่นๆ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ เช่น สถานการณ์ฝุ่นควันพิษ PM2.5 หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ เป็นต้น
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์