×

ทำไมกงยูจึงรับแสดง Kim Ji-Young, Born 1982 ภาพยนตร์สุดดราม่าสร้างจากหนังสือสะท้อนชีวิตผู้หญิงเกาหลี

10.05.2019
  • LOADING...
Gong yoo

ห่างหายจากการแสดงภาพยนตร์ไปกว่า 3 ปี ‘กงยู’ นักแสดงหนุ่มลมหายใจแห่งภาคพื้นเอเชีย กำลังจะกลับมาอีกครั้งกับภาพยนตร์ที่สร้างจากนวนิยายขายดีในเกาหลีใต้ Kim Ji-Young, Born 1982 หรือ คิมจียอง เกิดปี 82 ซึ่งเขียนโดย โชนัมจู นักเขียนบทรายการโทรทัศน์เชิงสังคมที่คลุกคลีอยู่ในวงการมากว่าสิบปี

 

ก่อนที่กงยูจะร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวเขานับได้ว่าเป็นนักแสดงที่พิถีพิถันในการเลือกบทที่แตกต่างหลากหลาย ดูได้จากภาพยนตร์หลายเรื่องล่าสุด A Man and A Woman (2016) การรับบทคุณพ่อที่มีลูกออทิสติก และต้องเผชิญกับความสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้อง, Train To Busan (2016) กับการรับบทคุณพ่อผู้เสียสละที่ต้องพาลูกสาวหนีเหล่าซอมบี้หัวซุกหัวซุน และ The Age of Shadows (2016) กับบทหัวหน้ากลุ่มต่อต้าน ในภาพยนตร์แนวรักชาติและการเมือง ที่เล่าเรื่องราวของเกาหลีในช่วงปี 1920

 

การกลับมารับงานแสดงอีกครั้งในปี 2019 นี้ เรายังคงเห็นความหลากหลายในบทที่กงยูเลือกรับแสดงเช่นเดิม นอกจากภาพยนตร์แอ็กชันฟอร์มยักษ์ Seo Bok ที่ร่วมงานกับผู้กำกับอียงจู จากภาพยนตร์ Architecture 101 กงยูก็เพิ่งปิดกล้องภาพยนตร์ดราม่า Kim Ji-Young, Born 1982 ซึ่งแม้ตัวแสดงหลักที่จะแบกหนังทั้งเรื่องจะเป็นหน้าที่ของ จองยูมี ผู้รับบทคิมจียอง แต่ก็น่าสนใจทีเดียวว่าการที่กงยูเลือกรับแสดงภาพยนตร์ที่แตะประเด็นสถานะทางสังคมระหว่างผู้หญิงผู้ชายของเกาหลี ก็เป็นการสะท้อนความคิดและตัวตนของเขาในประเด็นนี้เช่นกัน

 

และหากใครได้อ่านนวนิยายเล่มนี้แล้ว จะเข้าใจได้ว่านี่คือความท้าทายครั้งสำคัญ และเป็นภาพยนตร์ที่ช่วยเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงเรื่องความเท่าเทียมระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในสังคมเกาหลีได้เป็นอย่างดี

 

หากอ้างอิงตามนวนิยาย Kim Ji-Young, Born 1982 แล้ว กงยู จะรับบทเป็น ชองแดฮยอน สามีที่อายุมากกว่า 3 ปีของ คิมจียอง (รับบทโดย จองยูมี) พวกเขามีลูกสาววัยเตาะแตะร่วมกัน 1 คน และใช้ชีวิตอยู่ภายในอพาร์ตเมนต์ย่านชานเมืองแห่งหนึ่งตามแบบฉบับของคู่สามี-ภรรยาเกาหลีโดยทั่วไป จนกระทั่งวันหนึ่ง คิมจียอง ภรรยาของเขาเริ่มมีท่าทาง บุคลิก และน้ำเสียงที่เปลี่ยนไปราวกับเป็นคนอื่น ทำให้ ชองแดฮยอน ต้องพาเธอไปพบจิตแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นกับภรรยาของเขากันแน่

 

ด้วยพล็อตเรื่องที่ทำให้หลายคนคิดว่านวนิยายน่าจะเชิญชวนให้คนอ่านร่วมค้นหาความจริงของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคิมจียองผ่านสายตาของชองแดฮยอน สามีของเธอ แต่นวนิยายของโชนัมจู กลับต้องการให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของคิมจียอง มากกว่าการมองผ่านสายตาของชองแดฮยอน ด้วยการพาเราไปทำความรู้จักกับคิมจียอง ผ่านสายตา ความรู้สึก และประสบการณ์ในชีวิตของเธอไปพร้อมๆ กัน

 

เริ่มตั้งแต่การพาเราเข้าไปสัมผัสกับเด็กหญิงคิมจียองในวัยอนุบาลจนถึงประถมฯ ซึ่งครอบครัวของเธอต้องผ่านการดิ้นรนเพื่อก้าวพ้นอดีตที่กำลังเปลี่ยนผ่าน แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่คือการ ‘เลือกปฏิบัติ’ ที่ทำให้เราได้เห็นว่าย่า แม่ พี่สาว และคิมจียอง ต้อง ‘เสียสละ’ เพื่อสามีและพี่น้องเพศชายของพวกเธออย่างไร เรื่อยไปจนถึง คิมจียอง ที่เรียนจบจากรั้วมหาวิทยาลัยและพบกับความจริงอันโหดร้ายของวัยทำงาน ที่การ ‘เลือกปฏิบัติ’ ยังคงเป็นสิ่งที่เด่นชัดในสังคม เพราะถึงแม้พนักงานผู้หญิงจะทำงานได้ราบรื่นและถูกต้องกว่ามากแค่ไหน แต่เมื่อมีโอกาสสำคัญเข้ามา ‘พนักงานชาย’ ก็ยังคงเป็นตัวเลือกแรกของบริษัทมากกว่าพนักงานหญิงอยู่ดี

 

หรือแม้กระทั่งการจดทะเบียนสมรสกับชองแดฮยอน ที่พวกเขาต้อง ‘ระบุ’ ว่าจะให้ลูกที่เกิดมาใช้นามสกุลของใคร เพราะถึงแม้ว่าเกาหลีใต้จะล้มเลิกระบบหัวหน้าครอบครัว และมีกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ลูกของพวกเขาใช้นามสกุลของพ่อหรือแม่ก็ได้ แต่ทว่านิสัยปฏิบัติของคนในสังคมยังคงเดิม ทำให้สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ยังคงเลือกใช้นามสกุลของสามีอยู่เช่นเคย

 

นอกจากนี้ยังมีอีกสารพัดเรื่องราวที่ถูกร้อยเรียงโดยอ้างอิงจากยุคสมัย เหตุการณ์ในสังคม และข้อมูลเชิงสถิติที่เกิดขึ้น ซึ่งสอดแทรกเข้ามาให้ขบคิดตลอดทั้งเรื่องถึง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ และ ‘การค้นหาตัวตน’ ของผู้หญิงในเกาหลี ที่ท้ายที่สุดแล้ว โชนัมจูพาเรากลับมายังปัจจุบัน และมอง คิมจียอง อีกครั้ง ด้วยสายตาและความรู้สึกที่เปลี่ยนไป

 

อย่างที่บอกข้างต้นว่า Kim Ji-Young, Born 1982 นั้นเริ่มต้นจากการเป็นนวนิยาย ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 2016 โดยสำนักพิมพ์มีนัมซา ก่อนที่จะสามารถทำยอดขายได้มากกว่า 1 ล้านเล่มภายในระยะเวลา 2 ปี ในช่วงที่กระแส #MeToo ได้รับความสนใจในวงกว้างมากขึ้น

 

โดย Kim Ji-Young, Born 1982 นับเป็นนวนิยายเล่มแรกที่ทำยอดขายได้มากกว่า 1 ล้านเล่ม หลังจากนวนิยาย Please Look After Mom ของ ชินคยองซุก เคยเอาทำเอาไว้ในปี 2009 ปัจจุบัน Kim Ji-Young, Born 1982 ได้รับการตีพิมพ์ไปแล้วกว่า 16 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยมีชื่อว่า คิมจียอง เกิดปี 82 ซึ่งตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เอิร์นเนสต์

 

ในระหว่างที่รอ Kim Ji-Young, Born 1982 เข้าฉาย การเริ่มต้นทำความรู้จักกับ ‘คิมจียอง’ ผ่านตัวหนังสือก่อนที่จะรับชมภาพยนตร์ก็น่าจะช่วยเพิ่มอรรถรส และทำความเข้าใจ ‘ตัวตน’ ของเธอ รวมถึงภาพรวมสังคมชายเป็นใหญ่ที่ยังคงมีอยู่จริงจนถึงปัจจุบันนี้ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งยังรับรู้ได้ว่ารากเหง้าของปัญหาสืบทอดมายาวนานเพียงใด และไม่รู้เมื่อไรที่ความเท่าเทียมจะมีอยู่จริง

 

ภาพ: soopent.com, readery.co

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising