Goldman Sachs ค้นพบว่าความต้องการทองแดงในจีนเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ความต้องการแร่เหล็กและน้ำมันเพิ่มขึ้น 7% และ 6% ตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับที่เหนือการคาดการณ์ของ Goldman Sachs และคาดว่าความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์หลักในจีนกำลังเติบโตในอัตราที่แข็งแกร่ง
ในรายงานของ Goldman Sachs ระบุว่า ความต้องการที่แข็งแกร่งนี้ส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับการเติบโตที่แข็งแกร่งจากเศรษฐกิจสีเขียว โครงข่ายไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้าง
ในขณะที่ภาคอสังหาของจีนกำลังต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนัก Goldman Sachs ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจสีเขียวของจีนยังคงแสดงความแข็งแกร่งจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ความต้องการโลหะที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านสีเขียว เช่น ทองแดง เพิ่มขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs ระบุว่า ความนิยมของทองแดงในจีนส่วนใหญ่มาจากการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งในปี 2023 จำนวนการติดตั้งในทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีที่แล้ว
รายงานเมื่อเดือนมิถุนายนของ Global Energy Monitor กล่าวว่า กำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในจีนสูงถึง 228 GW ซึ่งเป็นระดับที่มากกว่าส่วนที่เหลือของโลกรวมกัน และจีนกำลังเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตลมและพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 2 เท่าภายในปี 2030
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของภาคการผลิตของจีนยังช่วยเพิ่มความต้องการโลหะพื้นฐาน เช่น อะลูมิเนียม โดยมูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนขยายตัว 4.5% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.9% และมูลค่าเพิ่มของการผลิตอุปกรณ์เพิ่มขึ้น 5.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ขณะที่ความต้องการน้ำมันของจีนเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในภาคบริการที่ใช้น้ำมันจำนวนมาก เช่น การขนส่ง แม้นักวิเคราะห์เชื่อว่าความต้องการอาจลดลงอย่างรวดเร็วในอนาคตก็ตาม
รายงานของ Goldman Sachs ตั้งข้อสังเกตว่า “ความต้องการน้ำมันของจีนได้รับการสนับสนุนจากการเดินทางและเที่ยวบินจำนวนมากภายในประเทศ ในมุมมองของเรา ความต้องการที่แข็งแกร่งนี้ยังคงยั่งยืน แม้เราคาดว่าการเติบโตจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในปีหน้าก็ตาม”
ราคาน้ำมันเริ่มกลับมาทรงตัว หลังจากที่ปรับตัวลดลงอย่างหนักเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากนักลงทุนกลับมาสนใจกับแนวโน้มอุปทานทั่วโลกที่ตึงตัว ขณะที่ข้อตกลงที่ช่วยให้รัฐบาลสหรัฐอเมริการอดพ้นวิกฤต Shutdown ช่วยฟื้นคืนความเสี่ยงที่ยอมรับได้
ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ล่วงหน้าเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้น 17 เซนต์ หรือ 0.18% สู่ 92.37 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในเช้าวันนี้ (2 ตุลาคม) หลังจากลดลง 90 เซนต์เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเบรนต์พฤศจิกายนร่วงลง 7 เซนต์ เหลือ 95.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ล่วงหน้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 26 เซนต์ หรือ 0.29% สู่ 91.05 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากร่วงไป 92 เซนต์เมื่อวันศุกร์
ดัชนีทั้งสองปรับตัวขึ้นเกือบ 30% ในไตรมาสที่ 3 จากการคาดการณ์การขาดดุลน้ำมันดิบทั่วโลกในไตรมาส 4 หลังจากที่ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียขยายเวลาหั่นการผลิตจนถึงสิ้นปีนี้
นักวิเคราะห์ของ ING กล่าวว่า แม้ OPEC+ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการผลิต เนื่องจากความแข็งแกร่งของตลาดในช่วงนี้ แต่ซาอุดีอาระเบียอาจเริ่มผ่อนคลายนโยบายโดยสมัครใจที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และแม้ซาอุดีอาระเบียยังกังวลถึงแนวโน้มอุปสงค์ของจีน แต่จากข้อมูล PMI ที่ออกมาในช่วงสุดสัปดาห์แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมโรงงานของจีนขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และอาจเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจจีนเริ่มมีเสถียรภาพแล้ว
อ้างอิง: