×

Goldman Sachs คาดกรณีเลวร้าย ‘โอไมครอน’ อาจฉุด GDP โลกปีหน้าหดตัว 2.5%

29.11.2021
  • LOADING...
Goldman Sachs

การอุบัติขึ้นของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ กำลังส่งผลกระทบต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2022 ที่ก่อนหน้านี้บรรดากูรูทางเศรษฐกิจและนักเศรษฐศาสตร์จากสำนักต่างๆ ล้วนคาดการณ์ว่าจะเป็นไปในทิศทางที่สดใส

 

ความเสี่ยงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศต่างๆ และการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศอาจถูกจำกัดอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลส่งท้ายปลายปีซึ่งเศรษฐกิจจะมีความคึกคักเป็นพิเศษ ทำให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคเริ่มปรับลดลง ขณะที่การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้เริ่มให้น้ำหนักกับปัญหาเงินเฟ้อมากกว่าอุปสงค์ที่อ่อนแอก็อาจต้องมีการทบทวนท่าทีกันใหม่

 

ล่าสุด ญี่ปุ่นได้ประกาศห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศแล้วเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ ที่นักวิจัยยังรู้จักและมีข้อมูลเกี่ยวกับมันค่อนข้างน้อย

 

ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ทำให้หลายสำนักวิจัยปรับลดโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สหราชอาณาจักร และออสเตรเลียจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้าลงราว 0.10% เมื่อวันศุกร์ (26 พฤศจิกายน) ที่ผ่านมา

 

ขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนทั่วโลกต่างกำลังรอฟังการอัปเดตข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์อย่างใจจดใจจ่อ ว่าเจ้าเชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้จะมีความรุนแรงและมีปฏิกิริยาต่อวัคซีนที่มีอยู่อย่างไร ทั้งนี้ Goldman Sachs ได้คาดการณ์ผลกระทบจากเชื้อ ‘โอไมครอน’ ที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลกเอาไว้ 4 กรณี

 

ในกรณีเลวร้ายสุดคือเกิดการระบาดครั้งใหญ่ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องนำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้ ซึ่งจะส่งผลลบต่อโมเมนตัมการฟื้นตัวในช่วงก่อนหน้านี้ รวมถึงซ้ำเติมปัญหาคอขวดในซัพพลายเชน Goldman Sachs เชื่อว่า GDP โลกในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าอาจขยายตัวลดลงจาก 4.5% เหลือ 2% ขณะที่ในภาพรวมทั้งปี GDP โลกจะขยายตัวได้ 4.2% ต่ำกว่าคาดการณ์ในปัจจุบันราว 0.4%

 

ในทางกลับกัน กรณีที่เชื้อโอไมครอนไม่มีความรุนแรงมากมายอย่างที่หลายฝ่ายกังวล การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก็จะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างไร โดยผลอย่างเดียวจากโอไมครอนที่จะเกิดขึ้นคือการย้ำเตือนโลกว่าโควิดจะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกต่อไปอีกหลายปี

 

“เรายังไม่เข้าสู่ภาวะ Stagflation แต่ถ้าเราไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศและปัญหาคอขวดในซัพพลายเชนโลกยังยืดเยื้อต่อไปอีกหนึ่งปี เราจะไปถึงจุดนั้นได้” อลิเซีย การ์เซีย เฮอร์เรโร หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ Natixis SA ระบุ

 

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์หลายรายยังมีมุมมองว่าผลกระทบจากโอไมครอนจะไม่รุนแรงเท่ากับการแพร่ระบาดในปี 2020 เนื่องจากปัจจุบันโลกมีความก้าวหน้าเรื่องวัคซีนโควิดขึ้นมาก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศยกเว้นจีน ลังเลที่จะนำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้

 

“ภาคธุรกิจและประชาชนเริ่มคุ้นชินและปรับตัวต่อมาตรการควบคุมการระบาดต่างๆ ได้แล้ว ทำให้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในรอบนี้จะไม่รุนแรงเหมือนครั้งก่อนๆ แต่ความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นก็ทำให้การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจในเวลานี้ทำได้ยาก” ร็อบ ซับบาราแมน หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดโลกของ Nomura Holdings กล่าว

 

ขณะที่ มิกกี้ เลวี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Berenberg Capital Markets มองว่า ในกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโอไมครอน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ร้อนแรงจะชะลอตัวลง ซึ่งอาจส่งผลให้ Fed ชะลอแผนการซื้อคืนพันธบัตรรวมถึงการขึ้นดอกเบี้ย

 

ภาพรวมตลาดหุ้นในวันนี้ (29 พฤศจิกายน) ปรับตัวดีขึ้นหลังเกิดการเทขายในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจากความกังวลต่อข่าวการค้นพบเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน โดย S&P 500, Nasdaq 100 และตลาดในยุโรปพร้อมใจกันปรับตัวขึ้นในช่วงเช้าที่ผ่านมา ขณะที่ราคาน้ำมันดิบก็ดีดตัวขึ้นมายืนเหนือระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง

 

ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เคยออกมาแสดงความกังวลถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดย IMF คาดว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดโควิดได้ในปี 2022 และจะขยายตัวได้อีก 0.9% ในปี 2024 ขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะยังคงเติบโตได้ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดถึง 5.5% ในปี 2024 ซึ่งหากมีการระบาดระลอกใหม่จากเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนอีกก็จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวเลวร้ายลง

 

อีกหนึ่งความท้าทายของเศรษฐกิจโลก หากเกิดการระบาดใหญ่ของเชื้อโอไมครอน คือช่องว่างในการใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางต่างๆ ที่เหลือน้อยลง หลังจากที่ในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีการปรับลดดอกเบี้ยกันจนเข้าใกล้ระดับ 0% ไปแล้ว ขณะที่การใช้มาตรการทางการคลังก็อาจเริ่มมีข้อจำกัดจากระดับหนี้ที่สูงขึ้นของแต่ละประเทศ

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X