สัปดาห์ที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็นสัปดาห์แห่งขาลงของทองคำ โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม ราคาทองคำปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดรอบ 4 เดือน ลงมาอยู่ที่ 1,677.9 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากนั้นก็รีบาวด์กลับขึ้นมา โดยล่าสุดเช้าวันนี้ (12 สิงหาคม) ราคาทองคำในตลาดเอเชียซื้อขายอยู่ที่ประมารณ 1,740 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งยังห่างไกลจากราคาสูงสุดของปีที่เคยอยู่ที่ประมาณ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์
นักวิเคราะห์ทองคำระบุว่า การปรับลดลงของราคาทองคำรอบนี้เป็นผลมาจากตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ถูกรายงานออกมาสูงกว่าที่คาดการณ์ รวมถึงการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์
ทั้งนี้ ราคาทองคำและค่าเงินดอลลาร์มีความสัมพันธ์ที่ผกผันต่อกัน เมื่อค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นเมื่อเทียบค่าเงินสกุลอื่นๆ ราคาทองคำจึงปรับลดลง เนื่องจากราคาทองคำจะแพงขึ้นในสกุลอื่นๆ ทันที และส่งผลให้ความต้องการถือครองทองคำลดลง
Vivek Dhar นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ที่ Commonwealth Bank of Australia วิเคราะห์ปรากฏการณ์ขายทองคำว่า นักลงทุนในตลาดเอเชียเริ่มเทขายทองคำเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากเห็นตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาสูงกว่าคาด
โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สำนักสถิติแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 944,000 อัตราในเดือนกรกฎาคม ซึ่งสูงกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ที่ 845,000 อัตรา
Dhar กล่าวว่า แม้ว่าราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นมาบ้าง แต่หากประเมินจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของ Fed แล้ว มองว่าเป็นเรื่องยากที่ทองคำจะรักษาภาวะกระทิงเอาไว้ได้
ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณยกเลิกการผ่อนคลายทางการเงินและชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ ทั้งนี้ แม้ Fed ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ใกล้ระดับ 0% แต่เจ้าหน้าที่ Fed หลายสาขาได้ส่งสัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในไม่ช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาวะเงินเฟ้อที่ร้อนแรง
“ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น บวกกับผลตอบแทนที่แท้จริงเพิ่มขึ้นทีละน้อย บ่งชี้ว่าราคาทองคำน่าจะมีแนวโน้มลดลง โดยคาดว่าราคาทองคำจะลดลงมาอยู่ที่ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ภายในไตรมาส 1/65” Dhar กล่าว
ทางด้าน Dominic Schnider หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของ UBS Global Wealth Management คาดการณ์ว่า ผลตอบแทนที่แท้จริงจะติดลบน้อยลง ทำให้ปัจจัยกดดันทองคำจะมีมากขึ้น โดยคาดว่าเงินจะไหลออกจากกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำและตลาดซื้อขายล่วงหน้า
“เมื่อผลตอบแทนที่แท้จริงเพิ่มขึ้น ราคาทองคำก็จะลดลง ในสถานการณ์แบบนี้ ค่าเสียโอกาสในการถือทองคำจะสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนให้ความสนใจในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดยประเมินว่าจะได้เห็นแรงขายในทองคำอีกเล็กน้อย เป็นไปได้ที่จะเห็นแรงขายราว 20 ล้านออนซ์ออกจาก ETF และตลาดซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งนั่นจะกดดันราคาทองคำได้อีก ทั้งนี้ เราได้แนะนำให้นักลงทุนป้องกันความเสี่ยง และขายทำกำไรเมื่อราคาเริ่มปรับเพิ่มขึ้น” Schnider กล่าว
ทั้งนี้ Schnider คาดว่าราคาทองคำจะลดลงมาอยู่ที่ 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์หรือต่ำกว่านั้น
อ้างอิง: