ความเคลื่อนไหวราคาทองคำวันนี้ (17 มิถุนายน) ราคาปรับตัวลดลงราว 45.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,806 ดอลลาร์ต่อออนซ์ การปรับตัวลดลงดังกล่าวตอบรับผลการประชุม Fed ที่มีความชัดเจนมากขึ้น ยุตินโยบายผ่อนคลายและคงอัตราดอกเบี้ย
วรุต รุ่งขำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยที่กดดันราคาทองคำมากกว่าผลการประชุม Fed และท่าทีต่อนโยบายการทำ QE คือ Economic Projections ซึ่งบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า Fed ได้ปรับ เพิ่มตัวเลขคาดการณ์ GDP ในปี 2021 ปรับลดคาดการณ์อัตราการว่างงานในปี 2022 รวมถึงปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2021, 2022 และ 2023 ซึ่งล้วนสะท้อนถึงมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม วายแอลจียังคงมุมมองเชิงบวกต่อราคาทองคำ และประเมินว่าขาขึ้นยังไม่จบลง เนื่องจากยังมีแรงหนุนจากมาตรการการคลังสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือของเดโมแครตและรีพับลิกัน ในเรื่องวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ที่จะใส่ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแหล่งที่มาของเงิน
โดยตลาดยังคงติดตามข้อสรุปด้านมาตรการการคลังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากได้ข้อสรุปที่สามารถฟื้นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจได้จริง ราคาทองคำจะถูกกดดัน ในทางกลับกัน หากมาตรการการคลังไม่สามารถฟื้นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจได้ ปัจจัยนี้จะกลับมาสนับสนุนราคาทองคำในระยะะกลาง-ยาว
และหากประเมินเชิงเทคนิค ตั้งแต่ราคาต่ำสุดของปีนี้ (มีนาคม) ที่ 1,676 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ถึงระดับสูงสุด (ต้นมิถุนายน) ที่ 1,917 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนต่างราคาอยู่ที่ 240 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่การปรับลดลงในเดือนมิถุนายนนี้อยู่ที่ 100 ดอลลาร์ ซึ่งยังไม่ถึง 50% ของส่วนต่างราคา
ในเชิงเทคนิคแล้ว หากอัตราการอ่อนตัวของราคาไม่มากไปกว่า 61.8% (เทียบเท่าราคา 1,767 ดอลลาร์ต่อออนซ์) ราคาทองคำมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอย่างแข็งแกร่งได้ต่อ
ส่วนความเคลื่อนไหวระยะสั้น วายแอลจีมองว่าราคาทองคำมีโอกาสดีดกลับเป็นระยะ ทำให้ยังมีช่องในการเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งหากทองคำสามารถดีดกลับไปที่แนวต้านแรกบริเวณ 1,830-1,843 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 27,200-27,300 บาทต่อบาททองคำ แนะนำให้ขายทำกำไรออกมาก่อนจนกว่าทองคำจะดีดแรงจนผ่าน 1,870-1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์ไปได้ ทิศทางถึงจะสดใสขึ้น
ส่วนผู้ที่ต้องการซื้อให้รอจังหวะย่อตัว ให้จับตาบริเวณ 1,804-1,795 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 26,700 บาทต่อบาททองคำ หากหลุดแนวดังกล่าว แนะนำรอดูการตั้งฐานของราคาแล้วค่อยเข้าซื้ออีกครั้งบริเวณแนวรับถัดไปที่ 1,781-1,767 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 26,350-26,150 บาทต่อบาททองคำ
ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า แนวโน้มราคาทองคำหลังจากนี้น่าจะซึม หรือแกว่งตัวแบบ Sideway (กรอบการเคลื่อนไหว 100 ดอลลาร์) จนกว่าจะมีการประชุม Fed อีกครั้งในเดือนสิงหาคม ซึ่งหากผลประชุม Fed ในเดือนสิงหาคมมีการปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ตามการคาดการณ์ของ Bloomberg ก็น่าจะเป็นแรงกระแทกที่สำคัญที่อาจจะทำให้ราคาทองร่วงลงแรงได้อีกครั้ง
ทั้งนี้มองภาพระยะยาวถึงสิ้นปีว่าขาขึ้นของราคาทองคำอาจจะไม่เกิดขึ้น และน่าจะแกว่งตัวในกรอบ 1,750-1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ตาม แม้จะไร้ปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ แต่ก็เชื่อว่าราคาทองคำจะไม่ลงไปต่ำกว่า 1,720-1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์
“การปรับเปลี่ยนท่าทีของ Fed มีนัยสำคัญต่อราคาทองคำอย่างมาก ล่าสุดที่ Fed เริ่มเสียงแตก คนกังวลว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น แม้ในทางปฏิบัติจะยังไม่ได้มีการปรับดอกเบี้ย แต่ตลาดก็ตอบรับข่าวไปแล้ว ภาพราคาทองคำในปี 2563 ที่ปรับขึ้นแรงมากไม่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้แล้ว” ณัฐวุฒิ กล่าว
ธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทฮั่วเซ่งเฮง กล่าวว่า แนวโน้มราคาทองคำในระยะสั้นน่าจะแกว่งตัวกรอบแคบสลับกับปรับลดลงตามปัจจัยทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ทยอยประกาศออก อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานที่จะประกาศคืนนี้ ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แท้จริง
นอกจากนี้ท่าทีและการปรับนโยบายของ Fed ที่รวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ในการประชุมรอบนี้ จะกดดันราคาทองคำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่มาสนับสนุน อาทิ ภาพรวมเศรษฐกิจที่แท้จริงของสหรัฐฯ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อเงินเฟ้อที่แท้จริง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยในระยะยาว
ทั้งนี้ประเมินกรอบความเคลื่อนไหวราคาทองคำระยะสั้นที่ 1,800-1,840 ดอลลาร์ต่อออนซ์
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า