ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาน้ำมันและทองคำซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ถูกซื้อขายแลกเปลี่ยนกันทั่วโลกมีราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมัน (WTI) ก่อนหน้านี้ลดลงไปสู่ระดับ 67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ล่าสุดฟื้นตัวกลับขึ้นมาแตะระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาทองคำพุ่งขึ้นจากประมาณ 1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มาสู่ระดับ 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในวันนี้
หลายครั้งในอดีตเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นแรง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ก็มักจะไปในทิศทางเดียวกัน แต่สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาน้ำมันเริ่มฟื้นตัว และถูกคาดการณ์ว่ามีโอกาสจะปรับตัวกลับไปสู่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้งในปีนี้ อาจไม่ได้ผลักให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ โดยภาพรวมปรับตัวขึ้นตามไปด้วย หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือยังไม่ได้เห็นการปรับขึ้นตามในเวลานี้
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า ช่วงที่ราคาน้ำมันวิ่งขึ้นเพราะความคาดหวังเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ สินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น โลหะอุตสาหกรรมก็มักจะวิ่งตาม แต่หากราคาน้ำมันขึ้นเพราะ Supply Shock มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของ Demand เราอาจจะเห็นราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ วิ่งสวนทางกับราคาน้ำมันอย่างที่เกิดขึ้นในตอนนี้
“ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในตอนนี้อาจกระทบกับภาพเศรษฐกิจด้วย ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตและอุตสาหกรรมทั่วไปจะได้รับผลกระทบเชิงลบไปด้วย”
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิตของ OPEC+ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อราคาน้ำมัน ก็มักจะส่งผลกระทบต่อสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ในกลุ่มพลังงานด้วยเช่นกัน แต่อาจมีช่วงเวลาที่เหลื่อมกันอยู่บ้าง
ทั้งนี้ หากพิจารณาจาก Bloomberg Commodity Index ซึ่งแบ่งสินค้าโภคภัณฑ์ออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ พลังงาน โลหะอุตสาหกรรม และสินค้าเกษตร โดยภาพรวมแล้วยังไม่ได้ล้อไปในทิศทางเดียวกันกับราคาน้ำมันที่ฟื้นตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกังวลว่าการตัดสินใจของ OPEC+ อาจทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเรื่อง Recession หรือ Stagflation มากขึ้น จากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น
ส่วนราคาทองคำที่ปรับขึ้นแรงในขณะนี้เป็นผลจากความกลัวต่อ Recession และที่สำคัญคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังไม่ได้ปรับขึ้นมาก ทำให้ทองคำอาจเป็นหลุมหลบภัยสำหรับการลงทุนในช่วงสั้น
“จากการศึกษาในอดีตราคาทองคำมักจะสัมพันธ์กับ Real Bond Yield ซึ่งหากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ อาจทำให้ Bond Yield เริ่มปรับขึ้น และกดดันราคาทองคำ”
ด้านภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลังจากนี้คือเรื่องของแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หากเศรษฐกิจชะลอตัวลง ท้ายที่สุดแล้วราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นต่อไปได้ยาก
“การตัดสินใจของ OPEC+ ในรอบนี้อาจไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นไปไกลนัก ส่วนตัวมองว่าน้ำมันดิบ WTI อาจจะกลับไปที่ระดับ 90-95 ดอลลาร์ แต่หากจะทะลุ 100 ดอลลาร์ อาจต้องมีปัจจัยเฉพาะ เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ลุกลาม”
ส่วนสินค้าเกษตรบางประเภทที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เช่น น้ำตาล อาจเป็นผลจากเรื่องของ Demand และ Supply เฉพาะตัว รวมทั้งภาพรวมของสภาพอากาศในปีนี้ที่เป็นลักษณะเอลนีโญซึ่งค่อนข้างแห้งแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลง รวมทั้งสินค้าบางประเภทที่สต๊อกลดต่ำลง เช่น สต๊อกของน้ำมันปาล์มในมาเลเซียที่ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘ทองคำ’ กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญ และอาจกลายเป็น ‘ทางรอด’ ของประเทศที่ถูกควํ่าบาตร
- ทองคำ กำลังไหลเข้าเอเชีย ท่ามกลางดอกเบี้ยโลกที่กำลังขึ้นต่อเนื่อง
- แบงก์ชาติจีน ‘ตุนทองคำเพิ่ม’ เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน หลังกลับมาซื้อครั้งแรกรอบ 3 ปี