×

จาก Goalkeeper สู่ Goalplayer 4.0 บทบาทใหม่ของผู้รักษาประตูในอนาคตจากมุมมองของโอลิเวอร์ คาห์น

20.03.2019
  • LOADING...
Oliver-Kahn

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • โอลิเวอร์ คาห์น อดีตผู้รักษาประตูมือหนึ่งของเยอรมัน เดินทางมายังประเทศไทยระหว่างวันที่ 15-18 มีนาคมที่ผ่านมา
  • คาห์นมองว่าผู้รักษาประตูที่ดีคือผู้ที่มีสภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแกร่ง โดยต้องเป็นคนที่พร้อมรับมือกับความพ่ายแพ้และความล้มเหลว
  • Goalplay อะคาเดมีสำหรับผู้รักษาประตูที่ โอลิเวอร์ คาห์น ร่วมก่อตั้ง เชื่อว่าผู้รักษาประตูในอนาคตจะก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในฐานะนักเตะอีกคนในสนาม มากกว่าการมีหน้าที่เพียงแค่ป้องกันประตูในกรอบเขตโทษ

แค่ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา วงการฟุตบอลในยุโรปและสโมสรต่างๆ เริ่มทุ่มเงินลงทุนเพื่อคว้าตัวผู้รักษาประตูด้วยเม็ดเงินมหาศาลจนสร้างสถิติ โดยหากดูจากตัวเลขสถิติผู้รักษาประตูจะพบว่า การซื้อตัวผู้รักษาประตูมูลค่าสูงสุดใน 5 อันดับแรกนั้นเกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี ตั้งแต่ปี 2017-2018  

 

ไล่ตั้งแต่ปี 2018 ผู้รักษาประตูที่มีมูลค่าสูงที่สุดของโลกคือ เกปา อาร์ริซาบาลากา ผู้รักษาประตูมือหนึ่งของเชลซีที่ย้ายมาร่วมทีมด้วยค่าตัว 71 ล้านปอนด์ ตามมาด้วย อลิสสัน เบ็คเกอร์ ของลิเวอร์พูล ที่มีค่าตัว 66.8 ล้านปอนด์

 

ส่วนปี 2017 ในอันดับที่ 4 และ 5 เป็น แอเดอร์สัน จากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ จอร์แดน พิกฟอร์ด จากเอฟเวอร์ตัน ตามลำดับ

 

ด้วยมูลค่าของผู้รักษาประตูที่กลายเป็นสถิติโลกติด 5 อันดับแรกภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี เป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า ผู้รักษาประตูกำลังเป็นตำแหน่งที่สโมสรให้ความสำคัญมากขึ้น บวกกับสไตล์การเล่นที่ เป๊ป กวาร์ดิโอลา กุนซือแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ลงทุนเปลี่ยนเอา โจ ฮาร์ท ผู้รักษาประตูมือหนึ่งของทีมชาติอังกฤษในเวลานั้นออกเพื่อค้นหาผู้รักษาประตูที่ใช้เท้าเก่ง โดยเฉพาะในด้านการเปิดเกมสร้างความได้เปรียบในเกมรุกให้กับทีม พร้อมกับฝีมือในการป้องกันประตูจนได้มาค้นพบกับ แอเดอร์สัน ในปี 2017

 

ด้วยทิศทางของผู้รักษาประตูที่เปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการของฟุตบอลสมัยใหม่ THE STANDARD ได้รับโอกาสพิเศษในการพูดคุยกับ โอลิเวอร์ คาห์น อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติเยอรมัน เจ้าของรางวัลผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมของโลก 3 สมัย ในระหว่างที่เขาเดินทางมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 15-18 มีนาคมที่ผ่านมา

 

รวมถึงมุมมองของทีมงาน Goalplay อะคาเดมี ที่คาห์นร่วมก่อตั้งสำหรับฝึกฝนผู้รักษาประตูโดยเฉพาะ ซึ่งมาจัดคอร์สอบรมผู้รักษาประตูไทย

 

ผู้รักษาประตูที่ดีในมุมมองของ โอลิเวอร์ คาห์น

 

Oliver-Kahn

 

วันที่ 15 มีนาคม คือวันที่ โอลิเวอร์ คาห์น เดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นวันแรกในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง Goalplay ก่อนที่จะนั่งลงพูดคุยกับ THE STANDARD ถึงประสบการณ์และมุมมองที่อดีตผู้รักษาประตูวัย 49 ปีมีต่อตำแหน่งที่ซับซ้อนที่สุดในสนามฟุตบอล

 

Oliver-Kahn

 

“ผมคิดว่าผู้รักษาประตูคือตำแหน่งที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในสนาม” โอลิเวอร์ คาห์น ตอบคำถามว่าคุณสมบัติที่ผู้รักษาประตูต้องมีคืออะไรบ้าง  

 

“เขามีหน้าที่ที่ต้องทำหลายอย่าง และต้องเรียนรู้หลายอย่าง ด้านร่างกายก็ซับซ้อนมาก เช่นเดียวกับด้านของสภาพจิตใจ ผู้รักษาประตูต้องมีสภาพจิตใจที่มั่นคงเข้มแข็ง นี่เป็นสิ่งที่คุณเรียนรู้และฝึกฝนได้

 

“แน่นอนว่าผู้รักษาประตูต้องพบเจอกับความผิดพลาด คุณต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด นั่นเป็นขั้นตอนที่ยาวนานมาก การรับมือกับความพ่ายแพ้ ความล้มเหลว เป็นบทเรียนที่ยาก แต่คุณต้องเรียนรู้จากมัน

 

“ขณะที่ด้านของสภาพร่างกาย การพัฒนาพละกำลัง ตำแหน่งการยืนในเกม มีหลายอย่างมากที่คุณต้องเรียนรู้ในฐานะผู้รักษาประตู แน่นอนว่าต้องใช้เวลานาน

 

“ปกติแล้วในช่วงอายุระหว่าง 25-28 เป็นช่วงเวลาเก็บประสบการณ์ เพื่อพัฒนาไปสู่ช่วงอายุที่ดีที่สุดของผู้รักษาประตู

 

ใครคือผู้รักษาประตูที่ดีที่สุดในโลกตอนนี้

 

Oliver-Kahn

 

“ยากที่จะบอกว่าใครเป็นมือหนึ่งของโลก เพราะตอนนี้ มานูเอล นอยเออร์ คนที่เคยเป็นมือหนึ่งของโลกตลอด 4 ปีที่ผ่านมากำลังอยู่ในช่วงฟอร์มตก ปัญหาอาการบาดเจ็บ และฟอร์มในช่วงบอลโลกกลายเป็นเรื่องยากที่เขาจะกลับมาอยู่ในระดับที่เขาเคยอยู่

 

“ส่วน มาร์ค-อันเดร แทร์ สเตเกิน จากบาร์เซโลนา ผมคิดว่าเขาเล่นอยู่ในระดับที่สูงมาก ผมคิดว่าเขาอยู่ในระดับสูงสุดตอนนี้ในยุโรป

 

“ขณะเดียวกันคุณก็มี ติโบต์ กูร์ตัวส์ มือหนึ่งของเรอัล มาดริด และ อูโก โยริส จากท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ผู้รักษาประตูที่คว้าแชมป์โลก และคนเหล่านี้แหละคือผู้รักษาประตูอันดับต้นๆ ของโลก”

 

Goalplay อะคาเดมี ที่คาห์นร่วมก่อตั้งเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้รักษาประตูสำหรับอนาคต

 

Oliver-Kahn

 

วันที่ 18 มีนาคม ทีมงาน Goalplay อะคาเดมี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทั้งในการฝึกผู้รักษาประตูและสอนโค้ชผู้รักษาประตู ได้เดินทางไปยังศูนย์พัฒนาศักยภาพกีฬาฟุตบอล มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคนิคต่างๆ ภายใต้หัวข้อ ‘Coach the Coach’

 

”เราตั้งใจหาสมการ การพัฒนา และรูปแบบการเล่นสำหรับอนาคต เพราะคุณไม่สามารถนำสิ่งที่คนอื่นทำแล้วประสบความสำเร็จมาเลียนแบบและหวังผลลัพธ์เดียวกันได้ ดังนั้นเราต้องมองหาตลอดเวลาว่าอะไรคือรูปแบบการเล่นฟุตบอลในอนาคต”

 

Ernst Thaler เจ้าหน้าที่จาก Goalplay กล่าวในการอบรมช่วงเช้า โดยมีผู้รักษาประตูไทยทั้งปัจจุบันและในอดีตเข้าร่วม

 

โดยช่วงเช้าทีมงาน Goalplay ได้อธิบายถึงแนวคิดการปรับตัวของผู้รักษาประตู หรือ Goalkeeper เป็น Goalplayer ที่มีหน้าที่แตกต่างจากผู้รักษาประตูในอดีต

 

เริ่มต้นจาก Goalplayer 1.0 จะเห็นได้ว่า หากย้อนไปในอดีต ผู้รักษาประตูจะมีหน้าที่เดียวนั่นคือป้องกันประตูเป็นหลัก และไม่มีความรับผิดชอบกับเกมในสนามมากนัก

 

ขณะที่พัฒนาการ Goalplayer 2.0 คือการที่ผู้รักษาประตูเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น กล้าเล่นบอล ออกบอลด้วยเท้ามากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นบอลยาวในเวลาที่กองหลังไม่สามารถขึ้นเกมได้ โดยทีมงาน Goalplay ได้ยกตัวอย่าง เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ อดีตผู้รักษาประตูมือหนึ่งของอาแจ็กซ์ และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ เยนส์ เลห์มันน์

 

ส่วน Goalplayer ปัจจุบันในยุค 3.0 คือวันที่ผู้รักษาประตูเริ่มมีบทบาทในฐานะ Goalkeeper Sweeper หรือการที่ผู้รักษาประตูสามารถออกมาทำหน้าที่เป็นกองหลังเข้าสกัดบอลนอกกรอบเขตโทษได้มากขึ้นในจังหวะที่สำคัญ รวมถึงสามารถเปิดเกมรุกจากแดนหลังทั้งบอลสั้นไปหากองกลางหมายเลข 6 ที่ลงมารับบอลในแดนหลัง และเปิดยาวได้อย่างแม่นยำ

 

ซึ่งตัวอย่างของผู้รักษาประตูลักษณะนี้ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ มานูเอล นอยเออร์ ผู้รักษาประตูมือหนึ่งของเยอรมัน รวมถึง มาร์ค-อันเดร แทร์ สเตเกิน ผู้รักษาประตูของบาร์เซโลนา

 

จนมาถึง Goalplayer 4.0 ซึ่งทีมงานได้เปิดคลิปของสโมสร Hamburger SV รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี และได้นำเสนอถึงไอเดีย PlayerPlusOne

 

 

ซึ่งเป็นการนำเอาผู้รักษาประตูออกมามีบทบาทในการขึ้นเกมเกือบเต็มตัวในฐานะนักเตะอีกคนในสนาม

 

THE STANDARD นั่งลงพูดคุยกับ Ernst Thaler เจ้าหน้าที่จาก Goalplay ถึงความเป็นไปได้ที่โลกฟุตบอลจะมุ่งไปในทิศทางของ Goalplay 4.0

 

ปัจจุบันผู้รักษาประตูในโลกอยู่ระดับไหน

 

Oliver-Kahn

 

“เรามีการพูดคุยกันในบริษัทเรา และเราพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน ตอนนี้ปัญหาคือสไตล์การเล่นในสนามถูกพัฒนาไปมาก ทั้งแท็กติกแผนการต่างๆ ศักยภาพร่างกายของนักเตะ ตอนนี้นักเตะวิ่งได้ 14-15 กิโลเมตรต่อเกม ส่วนผู้รักษาประตูแบบ Goalplayer วิ่งได้ 4-5 กิโลเมตร

 

“การฝึกซ้อมสำหรับนักเตะในสนามที่ไม่ใช่ผู้รักษาประตู เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่สำหรับผู้รักษาประตู การฝึกซ้อมยังเหมือนกับเมื่อ 30 ปีก่อน และนี่คือช่องว่างที่เราพบเห็น

 

“และนี่คือสาเหตุที่ โอลิเวอร์ คาห์น ก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา เพื่อปรับใช้ Goalplayer ในการฝึกซ้อมให้ตอบโจทย์การเล่นในสมัยใหม่

 

Goalplay จะเป็นอนาคตของตำแหน่งผู้รักษาประตูได้อย่างไร

 

Oliver-Kahn

 

“ใช่ แต่เราจะทำสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถสร้างการเรียนรู้เพื่อปรับตัวนักเตะทั้งทีมให้เข้าใจระบบการเล่นแบบนี้ เราพยายามทำงานอย่างหนักเพื่อหามุมมองใหม่ และหาวิธีการสอนแบบใหม่

 

จริงหรือไม่ที่เทคโนโลยีผลักดันให้ผู้รักษาประตูต้องปรับตัว

“ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นเรื่องยากในตอนนี้คือการคาดเดาทิศทางของลูกฟุตบอลเนื่องจาก เทคโนโลยีลูกฟุตบอลที่เปลี่ยนไป ผมรู้ว่า Adidas ออกแบบลูกบอลที่เหมือนกับว่าต้องการให้มีการเสียประตูมากขึ้น สำหรับผู้รักษาประตูนั้นไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน

 

ทั้งถุงมือ ตำแหน่งการยืน และการประสานงานระหว่างนักเตะในสนามกับผู้รักษาประตู เพราะหากฝั่งตรงข้ามได้โอกาสยิงไกลและบอลพุ่งมาพร้อมกับโอกาสในการส่ายหรือเปลี่ยนทิศทาง คุณต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้

 

“ผมคิดว่าแรงกดดันที่หลายทีมกำลังผลักดันเกมบุกในทุกสถานการณ์ Goalplay จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับฟุตบอลในปัจจุบัน

 

สโมสรพร้อมทุ่มเงินมากขึ้นให้กับผู้รักษาประตูมากน้อยแค่ไหน

“นั่นคือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งนี้มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่พวกเขาลืมนึกถึงคือการให้ความรู้กับนักเตะเยาวชน คุณต้องมีวิสัยทัศน์ที่จะเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต

 

“เมื่อเราพูดถึงผู้รักษาประตูเยาวชนอายุ 10-12 ปี เราต้องให้ความรู้และฝึกพวกเขาให้เป็นผู้รักษาประตูชั้นนำของโลกในเวลาอีก 10 ปีข้างหน้า นี่คือสิ่งที่ต้องทำตอนนี้ และหากคุณเริ่มกับผู้รักษาประตูอายุ 20 คุณจะใช้เวลาอีก 10 ปีเปลี่ยนเขาจาก Goalkeeper (ผู้รักษาประตู) เป็น Goalplayer (ผู้รักษาประตูที่มีส่วนร่วมในเกม)

 

“เราจึงต้องให้สโมสรเข้าใจคอนเซปต์ ทั้งการเล่นและการฝึกซ้อม ทั้งอุตสาหกรรมจึงต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจการเล่นสำหรับอนาคต  

 

ใครคือตัวอย่างที่ดีที่สุดที่สามารถเล่นแบบ Goalplay ได้

 

Oliver-Kahn

 

“จริงๆ เรามีผู้รักษาประตูหลายคนที่สามารถเล่นแบบนี้ได้ แต่พวกเขาถูกจำกัดไว้ด้วยแท็กติกของหัวหน้าผู้ฝึกสอนหรือผู้จัดการทีม ยกตัวอย่างเช่น ผู้รักษาประตูอย่าง มานูเอล นอยเออร์ สามารถทำได้ มาร์ค-อันเดร แทร์ สเตเกิน กำลังเล่นแบบนั้นอยู่ เช่นเดียวกับ ติโบต์ กูร์ตัวส์

 

“แต่สิ่งที่สำคัญคือสมาชิกของทีมคนอื่นๆ ต้องเข้าใจการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้รักษาประตูในฐานะนักเตะในสนามคนที่ 11

 

“ถ้าหัวหน้าผู้ฝึกสอนหรือผู้จัดการทีมยังคงกลัวไอเดียนี้ว่า ถ้าหากโดนแย่งบอลไป แล้วโดนยิงไกลจะเกิดอะไรขึ้น

 

“ผมคิดว่ามันเหมือนกับการเล่นกองหลัง 4 คนในปี 1990 เราต้องทดลองใช้ระบบนี้กับเยาวชนก่อน แล้วพอเวลาผ่านไปพวกเขาก็จะค้นพบวิธีการเล่นแบบใหม่ในอนาคต วันที่พวกเขากลายเป็นนักเตะอาชีพ

 

“เราจึงจำเป็นต้องมีนักเตะและโค้ชเยาวชนที่พร้อมจะทดลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อหาหนทางใหม่สู่ความสำเร็จ สำหรับไอเดียนี้คุณจึงต้องหาสโมสรที่พร้อมและมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ แทนที่จะเลียนแบบสไตล์การเล่นฟุตบอลที่เคยทำมาแล้ว

 

“แต่ในอนาคตก็จะบอกเรา ไม่แน่อาจจะมีรูปแบบอื่นๆ ก็ได้ อีกหน่อยเราอาจจะต้องเล่นกันแบบมีกองหน้า 10 คนเลยก็ได้ ไม่รู้สิ แต่มันก็สนุกนะที่เราจะได้ลองคิดอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา”

 

Oliver-Kahn

“มันเป็นแบบฝึกและทฤษฎีการเรียนที่มีเหตุและผล ที่สามารถอธิบายให้กับผู้รักษาประตูได้รู้ว่าทำไมถึงฝึกแบบนี้ ตรงนี้มันตอบโจทย์ให้เข้าใจง่ายและพัฒนาให้เร็วยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ต้องใช้เวลานาน” สินทวีชัย หทัยรัตนกุล อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติไทยกล่าวถึงการเข้าร่วมอบรมผู้รักษาประตูกับ Goalplay

 

ในช่วงหนึ่งของการพูดคุย โอลิเวอร์ คาห์น เผยกับ THE STANDARD ว่า การตกรอบแรกฟุตบอลโลก 2018 ของแชมป์เก่าเยอรมันเมื่อปี 2014 นับเป็นหายนะครั้งที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของทีมชาติเยอรมัน และสิ่งที่พวกเขาต้องทำต่อจากนี้คือการทดลองและค้นหาหนทางกลับมาสู่ความแข็งแกร่งให้สมชื่ออินทรีเหล็กในอดีต

 

ที่สุดแล้ว Goalplay อาจเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนหน้าที่ของผู้รักษาประตู ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าหากผู้รักษาประตูออกมาไกลจากประตูมากๆ สุดท้ายหากโดนตัดบอล และยิงไกลสัก 2-3 ครั้ง ไอเดียนี้อาจจะหายไปจากการทดลองของเยอรมัน

 

แต่ไอเดียการทดลองระบบนี้ก็เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า ชาติที่ขึ้นชื่อด้านมาตรฐานการเล่นในอดีต มาในวันนี้พวกเขาพร้อมแล้วที่จะคิดนอกกรอบ ระดับที่จะเอาผู้รักษาประตูวิ่งออกมาร่วมเล่นนอกกรอบเขตโทษเลยทีเดียว

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI
  • โอลิเวอร์ คาห์น และ โมริตซ์ แม็ทเทส ร่วมกันก่อตั้ง Goalplay เมื่อเดือนตุลาคม 2015 โดยอะคาเดมีแห่งนี้มีความเชี่ยวชาญในการฝึกสอนผู้รักษาประตูตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงระดับอาชีพ และยังมีเครื่องมือที่ทันสมัยอีกด้วย ทั้งนี้ด้วยระบบการแก้ปัญหาในการโค้ชทั้งแบบส่วนตัวและดิจิทัล
  • ทำให้ Goalplay มีศักยภาพมากขึ้นในการพัฒนาผู้รักษาประตูทั้งระดับสโมสรและกับประเทศ สหพันธ์ฟุตบอลต่างๆ โดยในประเทศไทยนั้น Goalplay ร่วมมือกับ Sport Thai Bavaria เพื่อเปิดหลักสูตร ‘Coach the Coach’ และ หลักสูตรผู้รักษาประตู
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising