น้ำตานางฟ้า
เปล่าครับ ผมไม่ได้หมายถึงชื่อไอเท็มในเกมผจญภัยที่เราเคยเล่นกันสมัยเด็กๆ หากแต่หมายถึงหยาดน้ำตาที่ไหลจากสองตาของนักเทนนิสที่คนไทยเคยนิยาม และยังคงนิยามเธอว่าเป็น ‘นางฟ้า’ (ซึ่งมาจากในวันที่เธอแจ้งเกิดเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เธอสวยสดใสราวนางฟ้าจริงๆ)
เอ่ยแบบนี้น่าจะเดากันได้ เพราะมีนักเทนนิสคนเดียวเท่านั้นครับที่ได้สมญาดังกล่าว –มาเรีย ชาราโปวา
นักเทนนิสชาวรัสเซียในวัย 30 ปี ร้องไห้ออกมาด้วยความรู้สึกมากมายที่อัดแน่นอยู่ในตัวของเธอ หลังจากที่สามารถเอาชนะ ซิโมนา ฮาเลป คู่แข่งชาวโรมาเนีย ซึ่งเป็นมืออันดับ 2 ของโลกได้ในการแข่งขันเทนนิสยูเอส โอเพ่น รอบแรก เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในเกมที่เธอได้กลับมาเล่นในรายการระดับแกรนด์สแลมเป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดในการใช้สารต้องห้ามที่ชื่อว่า ‘เมลโดเนียม’ ในการแข่งขันเทนนิสออสเตรเลียน โอเพ่น เมื่อต้นปีที่แล้ว
แน่นอนครับว่ามันเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมากสำหรับเธอ
มันเป็นการประกาศโดยอ้อมว่า ในที่สุดเธอได้กลับมาแล้ว
เพียงแต่ไม่ใช่ทุกคนจะร่วมยินดีและปรีดาในการกลับมาครั้งนี้ของเธอ
นางฟ้าปีกสีดำ
“เมื่อดูไปที่ตารางการแข่งขัน การที่นักเทนนิสมืออันดับ 5 ของโลกต้องไปเล่นคอร์ตที่ 5 ในลำดับคู่ที่ 5 มันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้”
คนที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมาคือ แคโรไลน์ วอซเนียคกี อดีตมือ 1 ของโลกชาวเดนมาร์ก (และเป็นแฟนบอลทีมลิเวอร์พูล!) หลังจากที่พ่ายต่อจอมล้มยักษ์อย่าง เอคาเทอรินา มาคาโรวา ในเกมที่แข่งขันกันช่วงดึกตามเวลาท้องถิ่นที่สหรัฐอเมริกา
ในขณะที่นักเทนนิสที่อยู่ในอันดับที่ 146 ซึ่งเข้าร่วมการแข่งขันแบบไวล์ดการ์ด (เทียบเชิญที่มอบให้แก่นักเทนนิสที่ไม่มีสิทธิ์เข้าแข่งขันตามระบบปกติ) กลับได้เล่นที่เซ็นเตอร์คอร์ต อาเธอร์ แอช
และสิ่งที่ทำให้วอซเนียคกียอมรับไม่ได้คือ การที่นักเทนนิสคนนั้นเพิ่งกลับมาจากการโดนลงโทษเรื่องคดี ‘สารต้องห้าม’
สิ่งที่วอซเนียคกีพูดนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของนักเทนนิสหญิงหลายคนครับ
พวกเธอไม่พอใจที่ชาราโปวาได้รับอภิสิทธิ์เกินไปจากฝ่ายจัดการแข่งขัน ทั้งๆ ที่สถานะของชาราโปวาคือ ‘คนโกง’
มีนักเทนนิสมากมายที่สมควรได้รับเกียรตินั้นมากกว่าชาราโปวาซึ่งมีมลทิน และมลทินนั้นยังไม่ได้รับการชำระอย่างสมบูรณ์
อย่างไรก็ดี เรื่อง ‘ดราม่า’ นี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายจัดการแข่งขัน USTA ต้องการครับ
ในขวบปีที่วงการเทนนิสหญิงซบเซาจากการขาดหายไปของ เซเรนา วิลเลียมส์ ที่ใกล้เป็นคุณแม่ ซึ่งทำให้เกิดการแย่งชิงตำแหน่ง ‘ราชินีคอร์ต’ เพียงแต่ตลอดปีที่ผ่านมา ไม่มีนักเทนนิสหญิงคนไหนที่สามารถครอบครองตำแหน่งนั้นได้
แคโรลินา พลิสโควา, การ์บีน มูกูรูซา, ซิโมนา ฮาเลป, แคโรไลน์ วอซเนียคกี, แองเจลิก แคร์เบอร์, เอลินา สวิโตลินา, โยฮันนา คอนตา ไม่มีใครสักคนที่โดดเด่นและแข็งแกร่งพอ
การกลับมาของชาราโปวา เป็นสิ่งที่สามารถ ‘ปลุก’ การแข่งขันแกรนด์สแลมสุดท้ายของปีอย่างยูเอส โอเพ่น ได้
อย่างน้อยเสียงปรบมือของแฟนๆ กว่า 24,000 คนในอาเธอร์ แอช ที่ดังกระหึ่ม หลังจากที่เธอสามารถเอาชนะฮาเลป ก็น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่ายังมีคนคิดถึงเธออยู่มาก
บางทีอาจจะมากกว่าคนที่ไม่คิดถึงอยู่พอสมควรเลยด้วย
โอกาสและการพิสูจน์ตัวเอง
อันที่จริง ประเด็นการถกเถียงถึงความเหมาะสมในการกลับมาของชาราโปวา ไม่ใช่เรื่องที่ถูกถกเถียงกันเป็นครั้งแรก
เรื่องนี้มีการถกเถียงกันมาโดยตลอด เพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่ชื่อของเธอถูกนำมาพิจารณาในการให้สิทธิ์ไวล์ดการ์ดเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน ความจริงมันมีการพูดถึงเรื่องนี้มาตั้งแต่รายการออสเตรเลียน โอเพ่น เมื่อต้นปีแล้วครับ
ทุกครั้งที่เรื่องนี้ปรากฏขึ้นก็มักจะมีการต่อต้านอย่างรุนแรงเสมอ โดยเฉพาะจากหมู่นักเทนนิสหญิงที่ไม่ชื่นชอบเธอเท่าไร
นักเทนนิสเหล่านั้นและคนจำนวนไม่น้อย ไม่คิดว่าเธอสมควรได้รับสิทธิ์นั้น
ชาราโปวาควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับคนอื่น และหากเธอต้องการลงแข่งขันในรายการเทนนิสใหญ่ เธอควรจะทำตามขั้นตอนคือการทำอันดับให้สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ ซึ่งถ้าทำได้ มันจะเป็นการกลับมาที่สง่างามและปราศจากข้อกังขาใดๆ
แต่สำหรับชาราโปวา เมื่อมี ‘โอกาส’ ที่เธอจะได้กลับมาลงแข่งขันในรายการระดับสูง ซึ่งเธอโหยหามานานอยู่ตรงหน้า
ไม่มีเหตุผลและความจำเป็นอะไรที่เธอจะปฏิเสธ
สง่างามหรือไม่ ไม่ใช่สิ่งสำคัญมากไปกว่าการได้ลงแข่งขัน
บุคลิก ‘ไม่แคร์’ ของเธอแบบนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้มีคนชิงชัง แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็น ‘แรงขับ’ ที่ทำให้เธอก้าวมาถึงจุดนี้ได้ครับ
ใต้ใบหน้าที่หยาดเยิ้มราวนางฟ้า (และแม้ว่าจะอายุมากขึ้นแล้ว ปฏิเสธไม่ลงว่ารอยยิ้มของเธอยังคงน่ามองอยู่เหมือนเดิม) ชาราโปวาคือยอดนักสู้คนหนึ่ง
ลองหลับตาแล้วจินตนาการสิครับว่า เด็กหญิงรัสเซียตัวเล็กๆ คนหนึ่งซึ่งสร้างประทับใจให้แก่อดีตราชินีคอร์ตอย่าง มาร์ตินา นาฟราติโลวา ในคลินิกเทนนิสที่เมืองมอสโก และได้รับคำแนะนำว่าควรจะเข้าร่วมอะคาเดมีระดับชั้นนำของโลกที่ ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา อย่างสถาบัน IMG
เธอกล้าที่จะเดิมพันทั้งชีวิตด้วยการเดินทางไปตามหาความฝัน ถึงแม้จะต้องไปกับพ่อแค่สองคนก่อน เพราะแม่ยังไม่สามารถเดินทางตามไปด้วยได้ (ต้องรอถึง 2 ปี) ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ใช้ชีวิตต่างบ้านต่างเมืองอย่างยากลำบาก
เธอสู้จนก้าวมาถึงจุดที่แม้ตัวเองก็อาจจินตนาการไม่ถึงด้วยซ้ำว่าจะมาถึงในวันนี้
และถ้ามองลงไปในสไตล์การเล่น ชาราโปวาเป็นนักเทนนิสหญิงที่มีสไตล์การเล่นที่ดุดัน ก้าวร้าว ผิดกับรูปโฉมภายนอกของเธอ
ครั้งหนึ่งเธอเคยถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงถึงเสียงที่คำรามออกมาในระหว่างการตีว่ารบกวนสมาธิของคู่แข่ง
และถึงแม้ว่าจะมีความสามารถและวาสนาที่จำกัด เพราะถึงเธอจะเก่งแค่ไหน แต่โชคร้ายที่เกิดในยุคเดียวกับราชินีดำผู้ไร้เทียมทานอย่างเซเรนา ที่เป็นคู่ปรับตลอดชีวิตของเธอ คล้ายๆ กับ ลิโอเนล เมสซี และ คริสเตียโน โรนัลโด ของวงการฟุตบอล เพียงแต่ที่ต่างไปคือการพบกันทั้งหมดส่วนใหญ่เธอจะเป็นผู้แพ้
แต่ความพ่ายแพ้ก็ไม่เคยทำให้เธอคิดจะถอย
ในทางตรงกันข้าม เธอกลับชื่นชมเซเรนาที่ทำให้เธอรู้สึกเหมือนเป็น ‘เด็กน้อย’ ทุกครั้งที่พบกัน
จริงอยู่ครับว่าสิ่งที่เธอทำกับการใช้สารเมลโดเนียม -ซึ่งเดิมเป็นยาที่ใช้รักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แต่เป็นที่นิยมในหมู่นักเทนนิส เพราะช่วยให้ร่างกายมีความทนทาน และสามารถฟื้นฟูสภาพร่างกายได้ดี จนถูกมองว่าเป็นสารที่ช่วย ‘โกง’ และถูก WADA องค์กรต่อต้านการใช้สารกระตุ้นในเกมกีฬาห้ามใช้ -เป็นความผิดจริง
โดยไม่จำเป็นต้องสนใจว่าเธอจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
แต่เมื่อเธอชดใช้โทษของตัวเองแล้ว (แม้จะมีการลดหย่อนโทษจาก 24 เดือน เหลือ 15 เดือน) โดยส่วนตัวผมคิดว่าการกลับมาแข่งของเธอโดยใช้สิทธิ์ไวล์ดการ์ดเข้ารอบแข่งขันหลัก (เมนดรอว์) ก็ไม่ถึงกับเป็นเรื่องที่เลวร้ายนัก
เพราะคนเราไม่มีใครที่ไม่เคยผิด และทุกคนล้วนเคยทำพลาดมาแล้วทั้งนั้น
สำหรับคนที่เคยผิดพลาดมา บางครั้งที่เขาต้องการไม่ใช่คำปลอบโยนหรือการสวมกอด
บางคนอยากได้แค่ ‘โอกาส’
ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่านั้น
Cover Photo: Eduardo Munoz Alvarez/AFP