นับเป็นก้าวสำคัญในรอบ 40 ปี สำหรับ GRAMMY ประกาศดัน ‘จีเอ็มเอ็ม มิวสิค’ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยกำหนดขาย IPO จำนวนไม่เกิน 30% ของหุ้นทั้งหมด หวังสร้าง New Music Economy ลุยผลิตศิลปิน เพลง คอนเสิร์ต เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว หวังป้อนตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ
“อุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกกลับมาเติบโตถึงจุดที่เรียกว่า Music Second Wave หรือเรียกง่ายๆ ว่ากลับมาสู่จุดรุ่งเรืองสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง และกำลังเติบโตขึ้น ทำให้จีเอ็มเอ็ม มิวสิคพร้อมที่จะขยายการเติบโตในอนาคต” ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีเอ็มเอ็ม มิวสิค กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จับตาปรากฏการณ์ครั้งใหญ่! ความร่วมมือพิเศษของยักษ์ค่ายเพลง ‘Grammy x RS’ ที่แว่วๆ ว่าไม่ได้มีแค่การจัดคอนเสิร์ตร่วมกัน
- จากคู่แข่งสู่คู่รัก! ส่องปรากฏการณ์ Grammy x RS ตั้งบริษัทร่วมทุนจัดคอนเสิร์ต 3 งานใหญ่ในปี 2566 บัตรเริ่มต้น 2,000-6,000 บาท
- กระแส T-Pop กลับมาร้อนแรง! GMM Music เดินหน้าลงทุนผลิตเพลง ‘ป๊อป-ร็อก-ลูกทุ่ง’ เล็งส่ง ‘ศิลปินป๊อปไอดอล’ อีก 15-20 คนเข้าสู่วงการ
เช่นเดียวกับตัวเลขของอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกจะเติบโตขึ้นอีกเป็นเท่าตัวภายในปี 2030 ส่วนใหญ่มาจาก 2 ปัจจัยคือ การเติบโตของธุรกิจ Digital Streaming และการเติบโตของธุรกิจ Showbiz โดย Spin-off ในครั้งนี้จะทำให้มูลค่าของจีเอ็มเอ็ม มิวสิคสะท้อนมูลค่าตลาดที่แท้จริงในอุตสาหกรรมเพลง
จากที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้อนุมัติแผนการ Spin-off ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (GMM MUSIC) ซึ่งเป็น Flagship Company ของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในการดำเนินธุรกิจเพลงแบบครบวงจร เพื่อระดมเงินทุนในการสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมเพลงภายใต้คอนเซปต์ ‘New Music Economy’
โดยเงินลงทุนดังกล่าวจะนำไปใช้ขยายธุรกิจในอุตสาหกรรมเพลงผ่าน 7 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
- Double Up Production
จีเอ็มเอ็ม มิวสิคมีแผนจะเพิ่มการผลิตเพลงจาก 400 เพลงต่อปี เป็น 1,000 เพลงต่อปี และเฟ้นหาศิลปินจาก 120 ศิลปิน เป็น 200 ศิลปินภายใน 5 ปี
รวมถึงเพลย์ลิสต์เข้าสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิงจาก 3,000 เพลย์ลิสต์ เป็น 6,000 เพลย์ลิสต์ต่อปี ตามด้วย Full Album จาก 30 อัลบั้มต่อปี เป็น 50 อัลบั้มต่อปี และศิลปินฝึกหัดจาก 150 ศิลปิน เป็น 300 ศิลปินต่อปี
- Showbiz Expansion
เดินหน้าขยายสเกลของมิวสิกเฟสติวัลทั่วประเทศ เพื่อรองรับจำนวนผู้ชมซึ่งจะมากกว่า 500,000 คนต่อปี พร้อมต่อยอดแหล่งรายได้ให้เติบโตทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ
ขณะที่ Arena Concert นอกจากจะมีไลน์อัพที่ครอบคลุมตั้งแต่ศิลปินยุคแจ้งเกิดของบริษัทจนถึงศิลปินยุคปัจจุบัน จีเอ็มเอ็ม มิวสิคจะร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศในการขยายเซ็กเมนต์เดินหน้าสู่การเป็นผู้จัด International Fan Meeting & Concert อย่างเป็นรูปธรรม และพร้อมจับมือกับโปรโมเตอร์เจ้าต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อการขยายตัวธุรกิจ
- Local Alliance
ขยายพันธมิตรทางดนตรี ร่วมจับมือกับค่ายเพลงในประเทศไทย ผ่านการ M&A หรือ JV (Joint Venture) เพื่อสร้าง Synergy Value ในการขยายการผลิตและการเติบโตทางธุรกิจทุกช่องทาง ร่วมกันสร้างให้อุตสาหกรรมเพลงไทยเติบโตขึ้น
- Global Strategic Partner
ขยายการจับมือกับบริษัทชั้นนำในต่างชาติผ่านการ JV เพื่อการสร้างงานเพลง และส่งเสริมศิลปินไทยให้มีศักยภาพและมาตรฐานใหม่ในระดับสากล
อีกทั้งบริษัทได้วางแผนที่จะจับมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้นำในภูมิภาคต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา, สแกนดิเนเวีย, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการเดินหน้า JV ต่างๆ นี้จะคล้ายคลึงกับการ JV ของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค กับบริษัท YG Entertainment ในการจัดตั้ง JV YGMM เพื่อผลิตศิลปินไทยป้อนสู่ระดับสากล
- Media Networking
ขยายช่องทางการสื่อสารผ่านการสร้าง Partnership Deal หรือ JV เพื่อแลกเปลี่ยนศักยภาพทางธุรกิจที่ต่อยอดได้ ทั้งสื่อทางด้านออนแอร์, ออนบอร์ด, ออนไลน์ และออนกราวด์
- Data Intelligent
ขยายศักยภาพการบริหารจัดการข้อมูล Big Data ผ่านการลงทุนเพิ่มด้าน Data Scientist Machine Learning และระบบ AI พร้อมสร้าง Tools ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ทั้งในเชิงการค้า การบริหารจัดการ และการพัฒนาศิลปิน รองรับธุรกิจแห่งอนาคตที่ให้ความสำคัญด้าน Personalization Offering
- New World Talent
เดินหน้าขยายทีมงาน บุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญ เข้ามาช่วยรองรับการก้าวไปข้างหน้าของธุรกิจเพลง
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีเอ็มเอ็ม มิวสิค กล่าวต่อว่า ปี 2566 บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ครบรอบ 40 ปี แต่เราไม่ได้มองแค่เพียงความสำเร็จของตัวเราในวันนี้แล้ว แต่มองไปอีก 40 ปีข้างหน้าว่าต่อจากนี้เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้อุตสาหกรรมเพลงไทยเติบโตร่วมไปกับทุกศิลปิน ทุกค่ายเพลง เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตไม่แพ้สัดส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจเพลงในตลาดโลก
สอดคล้องกับ ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีเอ็มเอ็ม มิวสิค กล่าวต่อไปว่า การ Spin-off ที่จะเกิดขึ้นนี้ บริษัทตั้งอยู่บนพื้นฐานของธุรกิจที่มีความแข็งแรง ทั้งขนาดรายได้ ขนาดกำไร คุณภาพของศิลปิน และคุณภาพของทีมงาน โดยมั่นใจว่าหากเราผลักดัน New Music Economy ได้นั้น อาจหมายถึงการสร้างรายได้เติบโตได้เป็น 2 เท่า
ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาและอยู่ในขั้นตอนการสรุปดีลกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศความร่วมมือต่างๆ ได้ภายในไตรมาส 3-4 ของปี 2566
ทั้งนี้ ปัจจุบัน จีเอ็มเอ็ม มิวสิคมีที่มาของรายได้จาก 5 แหล่งธุรกิจหลัก ได้แก่
- Music Digital Business มียอดรายได้ที่ 1,152 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 34%
- Music Artist Management Business มียอดรายได้ที่ 1,177 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 35%
- Showbiz Business มียอดรายได้ที่ 678 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20%
- Right Management Business มียอดรายได้ที่ 234 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7%
- Physical Business มียอดรายได้ที่ 147 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4%
โดยในปี 2566 บริษัทตั้งเป้าสร้างรายได้อยู่ที่ 3,800 ล้านบาท และพร้อมสร้างผลประกอบการแบบ New High ภายในปี 2567