×

โลกาภิวัตน์ และประวัติศาสตร์การระบาดของเชื้อโรคข้ามดินแดน

25.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • กิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้เกิดเชื้อโรค และเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ยิ่งเมื่อมนุษย์เริ่มเดินทาง เริ่มมีการติดต่อค้าขาย มีการเคลื่อนย้ายผู้คน กิจกรรมเหล่านี้ก็เสริมการแพร่กระจายและการระบาดของเชื้อโรคด้วย 
  • การระบาดอันรวดเร็วของโควิด-19 ในปัจจุบัน คือรูปธรรมสำคัญหนึ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นว่า ภายใต้ข้อดีของโลกาภิวัตน์นั้นก็มีผลกระทบในด้านลบอยู่ด้วย 

เมื่อพูดถึงโลกยุคโลกาภิวัตน์ในความรู้สึกและการรับรู้ของคนส่วนใหญ่ เรามักมีความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ไปในทิศทางที่ดี ไม่ว่าจะมองว่าโลกาภิวัตน์ทำให้โลกที่กว้างใหญ่นี้แคบลง ทำให้โลกเชื่อมเข้าหากัน ทำให้มนุษย์เข้าใกล้กัน มีปฏิสัมพันธ์กัน ไปมาหาสู่กันมากขึ้นผ่านการคมนาคมและการสื่อสารที่สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หรือยิ่งกว่านั้นก็มองว่าโลกาภิวัตน์ยังช่วยทลาย หรือทำให้เส้นเขตแดน-พรมแดนรัฐชาตินั้นพร่าเลือนลงไป 

 

ครั้งหนึ่งเส้นแบ่งในจินตนาการเหล่านี้เคยแบ่งเขาและเราออกจากกัน ทำให้เราและเขาทะเลาะตบตีพุ่งชนกันมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทั้งที่บางครั้งเรามีวิถีชีวิต มีวัฒนธรรม มีความเชื่อที่เหมือนกัน และอยู่ใกล้กันเพียงแค่ลำธารเล็กๆ กั้น หรือเป็นเพียงหมุดเล็กๆ เพียงอันเดียว 

 

แต่ทว่าในทางกลับกัน จากการระบาดของโควิด-19 ที่เป็นอยู่ กลับเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ภายใต้โลกาภิวัตน์นี้ก็มีข้อเสียในตัวของมันเองเช่นกัน

 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้เขียนได้อ่านหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดเล่มหนึ่ง ของสำนักพิมพ์มติชน ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีความน่าสนใจมากๆ หนังสือชื่อ ‘จากปีศาจสู่เชื้อโรค: ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทย’ เขียนโดย อาจารย์ชายชาติ มุกสง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยภาพรวมของหนังสือเน้นนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์โรคระบาดที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อให้เห็นการจัดการและการรับมือเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อโรค ตัวเชื้อโรคของผู้คนในสังคม และตัวรัฐไทย (รัฐสมัยใหม่) เช่น การหาสาเหตุของการระบาด การหาต้นตอของโรค การควบคุม การหาวิธีป้องกัน การจำแนกเชื้อโรค เพื่อที่จะปกป้องคนในรัฐของตัวเองในฐานะแรงงานของรัฐ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนในสังคมไทยที่มีต่อเชื้อโรค ที่เชื่อกันว่าเป็นอำนาจของผี ปีศาจ ไปสู่คำอธิบายเรื่องเชื้อโรคตามหลักวิทยาศาสตร์แบบตะวันตกสองทฤษฎีที่เข้ามาในสังคม ไม่ว่าจะทฤษฎีอายพิศม์ และทฤษฎีเชื้อโรค แนวคิดทั้งสองส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด อารมณ์ความรู้สึกของคนต่อการเกิดโรคระบาด ดังนั้น จากโรคระบาดที่เชื่อว่าเกิดจากปีศาจตามคัมภีร์เวชศาสตร์โบราณ จนต้องไล่ผีด้วยพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา จนมาสู่การรับรู้ว่าโรคเกิดจากความสกปรกและสิ่งแวดล้อมมีอายพิศม์ และความอันตรายของสัตว์ตัวเล็กๆ (เชื้อโรค) ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

 

แต่สิ่งที่ผู้เขียนสนใจอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งที่ปรากฏในหนังสือ คือการอธิบายถึงการระบาดของเชื้อโรคจากผลของการเคลื่อนย้าย หรือกิจกรรมของผู้คนจากพื้นที่หนึ่งสู่พื้นที่หนึ่งด้วยในประวัติศาสตร์ ซึ่งถือเป็นภาพสะท้อนสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เชื้อโรคถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิดมนุษยชาติ กล่าวง่ายๆ คือ เพราะมีคนจึงมีโรคและเกิดโรค และเมื่อมนุษย์เริ่มตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง ก็หมายถึงว่ามนุษย์ได้เริ่มก่อแหล่งเพาะเชื้อโรคไปด้วยพร้อมกัน ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อเริ่มทำการเกษตร ทำปศุสัตว์ เกิดแหล่งอารยธรรม ทำให้จำนวนประชากรของมนุษย์หนาแน่นขึ้น มีสัตว์เลี้ยงอาศัยอยู่ใกล้ชิด ทำให้เกิดการสะสมแหล่งเพาะเชื้อโรค ทำให้เกิดการแพร่เชื้อโรคจากสัตว์มาสู่คน และจากคนสู่สัตว์ด้วย

 

อย่างไรก็ตามเชื้อโรคที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เป็นเชื้อโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะถิ่นของแต่ละกลุ่มคน แต่ละภูมิภาค จนกระทั่งมีการเคลื่อนย้ายผู้คน จึงเท่ากับการมีการแพร่เชื้อและแลกเปลี่ยนเชื้อจากพื้นที่หนึ่งไปอีกพื้นที่หนึ่งด้วยเช่นกัน โดยในปลายยุคกลางเริ่มมีการสำรวจเพื่อค้นหาดินแดนใหม่ๆ ของกลุ่มนักเดินทางชาวโปรตุเกสและสเปน จนนำไปสู่การค้นพบดินแดนใหม่ๆ ในทวีปแอฟริกา เอเชีย และโลกใหม่อย่างอเมริกา การเดินทางดังกล่าวนอกจากจะทำให้พบสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะผู้คน พืช สัตว์แล้ว ยังเป็นการค้นพบเชื้อโรคใหม่ๆ และยังเป็นการนำเชื้อโรคจากดินแดนตัวเองไปแพร่กระจายในดินแดนใหม่ๆ นั้นด้วย

 

เมื่อโคลัมบัสและลูกเรือได้ไปจอดแวะขึ้นฝั่งที่โลกใหม่ สิ่งหนึ่งที่ติดตัวลูกเรือไปก็คือโรคจากโลกเก่า เมื่อลูกเรือได้ไปมีปฏิสัมพันธ์กับชาวพื้นเมือง พวกลูกเรือได้รับเอาโรคจากโลกใหม่กลับมาเผยแพร่ในโลกเก่า ในขณะที่ชาวพื้นเมืองก็รับโรคจากโลกเก่าไปด้วย ประมาณกันว่าเมื่อชาวยุโรปเดินทางไปถึงทวีปอเมริกา มีชาวอเมริกันพื้นเมืองร้อยละ 90 เสียชีวิต โดยโรคระบาดสำคัญที่คร่าชีวิตชาวอเมริกันพื้นเมืองนั้นส่วนใหญ่เป็นโรคธรรมดาที่ไม่รุนแรงในโลกเก่า เช่น ไข้หวัดใหญ่ ฝีดาษ ไข้รากสาดใหญ่ และหัด ในทางกลับกัน ขณะที่โรคของชาวยุโรปสร้างความสูญเสียต่อชาวพื้นเมืองอย่างมากนั้น โรคของชาวพื้นเมืองอเมริกาก็ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความตายของชาวยุโรปไม่น้อยเช่นกัน โรคใหม่ที่เชื่อกันว่ามาจากทวีปอเมริกาพร้อมกับลูกเรือของโคลัมบัสคือ ซิฟิลิส 

 

นอกจากนั้นเมื่อมีการค้าทาส การจับเอาคนดำจากแอฟริกามาเป็นแรงงานในโลกใหม่ สิ่งที่ตามมาก็คือโรคชนิดใหม่ที่ติดมากับคนดำแล้วแพร่มาสู่ทวีปอเมริกา เช่น มาลาเรีย ไข้เหลือง โรคพยาธิปากขอ รวมทั้งโรคเท้าช้าง ซึ่งต่อมาโรคใหม่เหล่านี้ก็ได้พัฒนากลายมาเป็นโรคประจำถิ่น หรือในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ชาวโปรตุเกสก็ได้นำเอาโรคซิฟิลิสไปพร้อมกับเรือสำรวจ และแพร่สู่เอเชียตั้งแต่อินเดียถึงญี่ปุ่นเมื่อมาตั้งอาณานิคมและค้าขายในภูมิภาค

 

ยิ่งไปกว่านั้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 การเดินทางสะดวกรวดเร็วด้วยเรือกลไฟ และ การล่าอาณานิคมของชาวยุโรป เพื่อแสวงหาทรัพยากรและเป็นตลาดระบายสินค้าอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการเดินทางติดต่อกันอย่างใกล้ชิดของมนุษย์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การเดินทางที่รวดเร็วทำให้เชื้อโรคสามารถติดต่อไปกับผู้เดินทาง และสามารถฟักตัวแพร่เชื้อจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ง่ายขึ้น เช่น อหิวาตกโรค ที่เคยระบาดเพียงในเอเชียใต้มานับพันปี ก็สามารถแพร่ระบาดไปนอกภูมิภาคได้อย่างง่ายดาย และกลายเป็นโรคที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เช่น การระบาดทั่วโลกเป็นครั้งแรกระหว่าง ค.ศ.1924-1833 เริ่มจากเอเชียใต้ ระบาดมาถึงยุโรป รวมทั้งรัสเซียและอังกฤษ ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังสหรัฐอเมริกา และต่อไปยังลาตินอเมริกาด้วย หลังจากนั้นก็พบว่ามีการระบาดทั่วโลกในลักษณะเช่นนี้อีกหลายครั้งในประวัติศาสตร์ จนกระทั่งมีการค้นพบเชื้อจุลินทรีย์โดย หลุยส์ ปาสเตอร์ มีการพัฒนาวัคซีน ค้นพบเชื้อวัณโรคและอหิวาตกโรคโดย โรเบิร์ต ค็อค ในทศวรรษ 1880

 

จากประวัติศาสตร์ว่าด้วยการระบาดของเชื้อโรคในอดีตนั้น แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดเชื้อโรค และเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ยิ่งเมื่อมนุษย์เริ่มเดินทาง เริ่มมีการติดต่อค้าขาย มีการเคลื่อนย้ายผู้คน กิจกรรมเหล่านี้ก็เสริมการแพร่กระจายและการระบาดของเชื้อโรคด้วย 

 

ดังนั้นแน่นอนว่าในปัจจุบันโลกของเราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ โลกทั้งโลกเชื่อมโยงเข้าหากัน ไม่ว่าจะเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม โลกที่กว้างใหญ่หดแคบลง มนุษย์เข้าใกล้กันมากยิ่งขึ้น เส้นเขตแดนรัฐชาติที่เคยแข็งเเกร่งกลับพร่าเลือนลง การเดินทางไปมาหาสู่กันของคนทั่วทุกมุมโลกที่แสนง่ายดายและรวดเร็วด้วยระบบการคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้คือข้อดีของโลกาภิวัตน์ ในทางกลับกันสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เชื้อโรคเดินทางไปพร้อมกับกิจกรรมของมนุษย์ได้ง่าย และสะดวกรวดเร็วด้วยเช่นกัน 

 

ดังนั้นการระบาดอันรวดเร็วของโควิด-19 ในปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมสำคัญหนึ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นว่า ภายใต้ข้อดีของโลกาภิวัตน์นั้นก็มีผลกระทบในด้านลบด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นโลกาภิวัตน์ จึงเท่ากับโรคาภิวัตน์ไปด้วยนั้นเอง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: 

  • ชายชาติ มุกสง, จากปีศาจสู่เชื้อโรค ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทย, กรุงเทพฯ: มติชน, 2563.

 


 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X