เมื่อโลกไม่เหมือนเดิม
น้ำที่มนุษย์ใช้ได้อาจเหลือไม่เพียงพอ
ภาคธุรกิจควรมีจุดยืนอย่างไร
สองโจทย์ธุรกิจในยุค Climate Change รุนแรง
สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 หัวข้อ Water Resilience: Guiding Thailand’s Businesses Through the Climate Crisis Era คู่มือบริหารทรัพยากรน้ำ พาธุรกิจไทยฝ่าวิกฤตโลกร้อน ถึงภาวะ Climate Change ที่รุนแรงขึ้นกว่าในอดีต
ในปี 2011 เกิดมหาอุทกภัยกระทบทั่วประเทศไทย สร้างความเสียหายกว่า 1.44 ล้านล้านบาท ขณะที่ในปัจจุบันเกิดภาวะน้ำท่วมรุนแรงในจังหวัดเชียงราย คิดเป็นความเสียหายถึง 3 หมื่นล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีความเสียหายถึง 4.6 หมื่นล้านบาท
ยิ่งไปกว่านั้นรายงานจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า ในปี 2023 แหล่งน้ำในโลกเกิดความแห้งแล้งสูงที่สุดในรอบ 30 ปี มีการสูญเสียธารน้ำแข็งกว่า 600 กิกะตัน ถือเป็นปริมาณสูงที่สุดในรอบ 50 ปี ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวตั้งแต่วันนี้ ทั้ง
- การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation)
- การปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด (Adaptation)
Adaptation: ข้อเสนอเพื่ออยู่รอดในวิกฤตโลก
- Metropolitan Outer Area Underground Discharge Channel: เมื่อการเกิดฝนมีความรุนแรงมากขึ้น การสร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่ใต้ดินถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่ช่วยให้เมืองปรับตัวอยู่บนโลกท่ามกลางวิกฤตได้ อย่างไรก็ตาม มีความท้าทายอยู่มากเนื่องจากใช้เงินลงทุนสูง
- อยู่ให้รอดด้วย Emergency Alert System: ภาวะโลกรวนสะท้อนถึงภาวะที่มนุษย์ไม่สามารถคาดเดาได้ ระบบเตือนภัยที่ช่วยเตือนคนในชุมชนได้ทันท่วงที ถือเป็นสิ่งที่สมควรต้องเกิดขึ้นและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
- Sponge City: เป็นการนำแนวคิด Nature-based Solutions มาใช้ในการออกแบบเมืองให้มีสภาวะเหมือนฟองน้ำ (Sponge City) อย่างเช่น สวนเบญจกิติที่มีการออกแบบสวนโดยสามารถรองรับน้ำจากฝนได้มากเกินความจำเป็น ถือเป็นการใช้นวัตกรรมจากธรรมชาติมาตั้งรับกับภาวะโลกเดือด
Mitigation: การปรับตัวของภาคธุรกิจ
“เรื่องน้ำ แม้จะดูเป็นเรื่องของภาคธุรกิจ แต่ 70% ของน้ำบนโลก ถูกใช้ในภาคเกษตรกรรมและการบริโภค ดังนั้นนี่คือเรื่องใหญ่หลวงของมนุษย์”
ข้อมูลจาก World Bank ระบุว่า หากธุรกิจยังทำแบบเดิม ภายในปี 2050 จะเกิดความตกต่ำของ GDP คิดเป็นความเสียหายกว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้นทุนของการปรับตัวในอนาคตก็อาจสูงขึ้นถึง 5 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปัจจุบัน
นั่นทำให้ปัจจุบัน TCP มีการกำหนดเป้าหมาย Net Water Positive หรือการคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติให้มากกว่ากระบวนการผลิตภายในปี 2030 ด้วยการสร้างความยั่งยืนของการใช้น้ำ (Water Security) การใช้กระบวนการบำบัดน้ำตลอดกระบวนการ (100% Wastewater Treatment) และออกแบบโรงงานอัจฉริยะ (Smart Manufacturing)
4 กรอบกลยุทธ์สำหรับภาคธุรกิจ
ในช่วงท้ายสราวุฒิกล่าวถึงกรอบความคิดสำหรับภาคธุรกิจที่ต้องการนำความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ และสามารถสร้างอิมแพ็กต์ให้เกิดขึ้นได้ผ่าน 4 ข้อสำคัญ ได้แก่
- Set Clear Goals ตั้งเป้าให้ชัดเจน
- Plan and Take Action วางแผนและลงมือทำ
- The Journey is Long ความยั่งยืนคือการเดินทาง ต้องทำและวัดผลอย่างต่อเนื่อง
- Constant Self-Improvement พัฒนากระบวนการและเรียนรู้อยู่เสมอ
“วิกฤตเรื่องน้ำเป็นเรื่องจริง เราทุกคนจะโดนผลกระทบแน่ๆ ถ้าอยากลดผลกระทบ เราต้องกล้าตั้งแต่วันนี้”