×

อุณหภูมิโลกจ่อทะลุ 1.5 องศาเซลเซียสภายในแค่ 5 ปี วิกฤตอันตรายที่มนุษย์ไม่ควรมองข้าม

18.05.2023
  • LOADING...

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ออกมาเปิดเผยว่า โลกของเรามีแนวโน้มที่จะมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มทะลุ 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ภายในปี 2027 หรืออีกแค่เพียง 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากหลายประเทศยังคงปล่อยมลพิษออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปรากฏการณ์เอลนีโญที่เตรียมย่างกรายเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกได้ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมนุษย์ยังคงตักตวงผลประโยชน์ใส่ตัวโดยไม่คำนึงถึงธรรมชาติ ประเทศต่างๆ เดินหน้าเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลกันไม่หยุดหย่อน โดยข้อมูลอัปเดตสภาพอากาศประจำปีของ WMO ระบุว่า ในช่วงระหว่างปี 2023-2027 มีโอกาสสูงถึง 66% ที่อุณหภูมิโลกจะไต่ขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และมีแนวโน้มมากถึง 98% ที่อย่างน้อย 1 ใน 5 ปีข้างหน้า จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยเจอมา

 

แม้ตัวเลข 1.5 องศาเซลเซียสอาจฟังดูจิ๊บจ๊อย หากอากาศร้อนขึ้นหรือเย็นลงแค่สักองศากว่าๆ เราคงไม่ได้รู้สึกว่ามันเปลี่ยนแปลงอะไรมาก แต่สำหรับโลกใบใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่มากถึง 510,100,000 ตารางกิโลเมตรนี้ 1.5 องศาเซลเซียส ไม่ใช่ ‘แค่’ อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป แต่มันสามารถสร้างมหันตภัยที่เลวร้ายให้กับมนุษย์ได้อย่างรุนแรงอย่างที่ใครอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อน

 

📍 ทำไม 1.5 องศาเซลเซียส ถึงเป็นเกณฑ์สำคัญ

 

ก่อนหน้านี้ประชาคมโลกเกือบ 200 ประเทศ ได้ให้คำมั่นไว้ในความตกลงปารีสที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้พุ่งเกิน 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม หรือจริงๆ แล้วควรอยู่ที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซสเซียส โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ตัวเลข 1.5 องศาเซลเซียสถือเป็น ‘จุดเปลี่ยนหลัก’ ที่หากโลกของเรามีอุณหภูมิสูงกว่านั้นก็จะก้าวไปอยู่ในจุดที่แก้ไขอะไรต่างๆ ได้ยากแล้ว และผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนก็จะทวีความรุนแรงหนักกว่าที่เราได้เห็นกันในปัจจุบัน ทั้งเรื่องของน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า และการขาดแคลนอาหาร เนื่องจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่ได้ทำลายพืชผลเสียหายจนหมด

 

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ยังพอมีโชคอยู่บ้าง เพราะ WMO บอกว่า การที่โลกมีอุณหภูมิทะลุ 1.5 องศาเซลเซียสอาจเกิดขึ้นแค่เพียงชั่วคราว แต่ถึงเช่นนั้นข้อมูลล่าสุดก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนสุดๆ ว่า ปัญหาจากภาวะโลกรวนได้กลายสภาพเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว และนำมาซึ่งมหันตภัยที่เป็นอันตรายกับชีวิตมนุษย์และสัตว์น้อยใหญ่ ทั้งระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น สภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น และการล่มสลายของระบบนิเวศสำคัญในหลายภูมิภาคของโลก

 

ศา.เพตเทอรี ทาลาส เลขาธิการ WMO กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ข้อมูลจากรายงานนี้ไม่ได้หมายความว่า โลกจะมีอุณหภูมิเกินระดับ 1.5 องศาเซลเซียสอย่างถาวร อย่างไรก็ตาม WMO กำลังส่งสัญญาณเตือนว่า หลังจากนี้โลกเราจะมีอุณหภูมิสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสแบบชั่วคราวนี้ด้วยความถี่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

 

ทาลาสกล่าวว่า ปัจจัยที่เร่งให้อุณหภูมิโลกระอุขึ้นนั้นมาจากการที่พวกเราเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงสภาพอากาศแบบเอลนีโญที่คาดว่าจะหวนกลับมาอีกครั้งตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้งเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเอลนีโญสามารถผลักดันให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นได้อีกราว 0.2 องศาเซลเซียส

 

“ปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะทำให้สภาพอากาศอุ่นขึ้นคาดว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า บวกกับภาวะโลกรวนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งจะผลักดันให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” ทาลาสกล่าว 

 

“สิ่งนี้จะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทั้งด้านสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร การจัดการน้ำ และสิ่งแวดล้อม

 

“มนุษย์ต้องเตรียมพร้อม” ทาลาสย้ำ

 

ปัจจุบันสถิติของปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ณ ตอนนี้ คือปี 2016 ซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 1.28 องศาเซลเซียส และเป็นปีหลังจากที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเอลนีโญมีแนวโน้มที่จะทำอุณหภูมิโลกสูงขึ้นในปีหลังจากที่เกิดปรากฏการณ์นี้ นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่อาจส่งผลให้ปี 2024 กลายเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยเจอมา

 

📍 จะเกิดอะไรขึ้นถ้าอุณหภูมิโลกพุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หากใครติดตามข่าวเกี่ยวกับภาวะโลกรวนจะเห็นว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาย้ำอย่างต่อเนื่องว่า ทุกประเทศควรช่วยกันจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกพุ่งขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โลกเจอกับมหันตภัยเลวร้าย เพราะเป็นจุดที่เรียกได้ว่า ‘ยากจะแก้ไขอะไรแล้ว’

 

อุณหภูมิที่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจะกระตุ้นให้เกิดความเสี่ยงที่ของวิกฤตการณ์หลายอย่าง เช่น สัตว์เฉพาะถิ่นสูญพันธุ์ การตายของแนวปะการัง หรือการละลายตัวของธารน้ำแข็งขั้วโลก ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และกระทบต่อชุมชนที่อยู่ตามแนวชายฝั่งได้ในที่สุด

 

เฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว มีประชาชนมากถึง 13 ล้านคนที่อาจต้องโยกย้ายถิ่นฐาน เพราะระดับน้ำทะเลสูงขึ้นภายในสิ้นศตวรรษนี้ ส่วนประเทศบนเกาะแปซิฟิกที่มีพื้นที่ราบลุ่มจำนวนมาก อุณหภูมิโลกที่สูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสถือเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของพวกเขาเลยทีเดียว

 

อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังเพิ่มความถี่และทวีความรุนแรงของภัยพิบัติด้านสภาพอากาศ เช่น ภัยแล้ง พายุ ไฟป่า และคลื่นความร้อน ฯลฯ โดยจะเห็นได้ว่า ในปีนี้หลายประเทศเจอกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ อย่างเช่น ประเทศในเอเชียที่ตอนนี้เจอกับอากาศร้อนระอุ รวมถึงไทยเราด้วย ขณะที่บางประเทศเจอกับอุณหภูมิพุ่งทะลุปรอท ทำลายสถิติเดิมชนิดน่ากังวล ยกตัวอย่างเช่น เคสของอาร์เจนตินา ย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม บางพื้นที่ของอาร์เจนตินาเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติถึง 10 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

 

แต่ทุกอย่างจะเลวร้ายไปกว่าเดิมมาก หากอุณหภูมิไต่จาก 1.5 เซลเซียส กลายเป็น 2 องศาเซลเซียส ข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ประเมินว่า หากโลกมีอุณหภูมิทะลุไปถึง 2 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดผลกระทบที่น่ากลัวตามมา โดยประชากรโลกอีกกว่า 1.7 พันล้านคน จะเจอกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงอย่างน้อย 1 ครั้งในทุกๆ 5 ปี ส่วนระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นเฉลี่ย 0.36-0.87 เมตร ผู้คนหลายล้านคนจะต้องแบกรับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่เป็นผลพวงจากภาวะโลกรวน และเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะอดอยาก ขณะที่ภาคการประมงอาจจับสัตว์น้ำได้ลดลงจากเดิม 3 ล้านตัน

 

📍 ลงมือทำตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่อะไรจะสายเกินไป

 

แม้ทุกตัวเลขที่ขยับขึ้นมาแค่เพียงหลักทศนิยมเดียว จะทำให้ผลกระทบจากโลกรวนรุนแรงขึ้นกว่าเดิม แต่นั่นก็หมายความว่า การลดอุณหภูมิแม้จะเพียง 0.1 องศาเซลเซียส ก็สามารถช่วยโลกได้เหมือนกัน

 

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่หน้าต่างแห่งโอกาสในการกอบกู้โลกกำลังใกล้ปิดตัวลง แต่มนุษย์ยังคงมีเวลาที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วยการยุติการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ถ่านหิน หรือก๊าซ และหันหน้าไปสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างเต็มกำลัง

 

หลายฝ่ายได้เรียกร้องให้ภาครัฐออกมาตรการปรับตัวให้เข้าเทรนด์สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากสภาพอากาศที่จะตามมา เช่น การสร้างกำแพงชายฝั่งขนาดใหญ่ เพื่อปกป้องชุมชนจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

 

ในช่วงสิ้นปีนี้ นานาประเทศจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ COP28 กันที่ดูไบ ซึ่งจะมีการประเมินความคืบหน้าของเป้าหมายที่ตกลงไว้ในความตกลงปารีส ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ประชาคมโลกจะมีการทำข้อตกลงใหม่ใดหรือไม่ ที่จะช่วยปกป้องพลเมืองโลกจากปัญหาที่กำลังดำเนินอยู่

 

แฟ้มภาพ: Capitano Footage Via Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X