×

งานศึกษาเผย 14% ของปะการังโลก ลดลงภายใน 1 ทศวรรษ สาเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

05.10.2021
  • LOADING...
ปะการัง

วันนี้ (5 ตุลาคม) จากรายงานการศึกษาและติดตามสถานการณ์ของปะการังโลก พบว่า 14% ของปะการังโลก หรือคิดเป็น 11,700 ตารางกิโลเมตร ได้รับความเสียหายและลดจำนวนลงภายใน 1 ทศวรรษที่ผ่านมา (2009-2018) โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

โดยรายงานล่าสุดของ Global Coral Reef Monitoring Network (GCRMN) ระบุว่า ปริมาณสาหร่ายทะเลที่เติบโตจากการสังเคราะห์ด้วยแสง ในช่วงที่ปะการังอยู่ในภาวะวิกฤตและเผชิญกับปัญหาปะการังฟอกขาว สาหร่ายดังกล่าวมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น 20% ในช่วงปี 2010-2019

 

รายงานดังกล่าวเก็บรวบรวมข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์กว่า 300 ราย จาก 73 ประเทศทั่วโลก ตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา พบว่า ปะการังฟอกขาวมีสาเหตุมาจากระดับอุณหภูมิบริเวณผิวน้ำทะเลปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียของปะการังในท้ายที่สุด 

 

หนึ่งในวิกฤตด้านปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อปี 1998 มีการสูญเสียปะการังไปถึง 8% ของปะการังโลกในขณะนั้น หรือคิดเป็น 6,500 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปะการังฟอกขาวมากที่สุดเป็นพื้นที่แถบมหาสมุทรอินเดีย ญี่ปุ่น และทะเลแคริบเบียน

 

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า ถ้าเราหันมารับมือและแก้ไขวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง จะยังพอสามารถช่วยจัดการกับต้นตอของภัยคุกคามใหญ่ที่มีต่อปะการังได้ 

 

ทางด้าน พอล ฮาดิสตี ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลของออสเตรเลียระบุว่า “ข้อความที่เด่นชัดจากงานศึกษานี้บ่งชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อปะการังโลก เราจำเป็นต้องรับผิดชอบในส่วนของเรา ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างจิตสำนึกให้กับคนในชุมชน”

 

แม้แนวปะการังจะคิดเป็นเพียง 0.2% ของพื้นท้องทะเลและมหาสมุทรทั้งหมด แต่ที่เเห่งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำราว 1 ใน 4 ของสัตว์น้ำทั้งหมด เป็นที่หลบภัยที่คัญ เป็นแหล่งโปรตีน ยา อาหาร และนำมาซึ่งการจ้างงาน อีกทั้งยังเป็นแนวปราการธรรมชาติใต้ท้องทะเลที่ช่วยบรรเทาความรุนแรงของพายุต่างๆ ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับป่าโกงกางอีกด้วย

 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 

ภาพ: Alexis Rosenfeld / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising