×

พาพอร์ตฝ่ามรสุมสงครามการค้า​-โลกการเงินป่วน

14.02.2025
  • LOADING...
สงครามการค้า

ทั่วโลกว้าวุ่นไม่หยุดหย่อนตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา เพราะล่าสุดเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนเขาได้ลงนามการเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมขึ้นเป็น 25% กับทุกประเทศอีกแล้ว เป็นข่าวร้ายที่เข้ามากดทับตลาดหุ้นทั่วโลกให้ปั่นป่วน โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่ผันผวนขาลงท่าเดียวเมื่อเจอข่าวร้ายซ้ำซ้อนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

เวลานี้นักลงทุนหลายคนก็คิดไม่ตกควรอยู่ในตลาดหุ้นไทยต่อไป หรือหนีตายไปต่างประเทศดีกว่า กลัวว่าจะเข้าข่าย ‘หนีเสือปะจระเข้’ ไหม 

 

เพราะหุ้นไทยก็มีแต่สาละวันเตี้ยลง เมื่อ 2 ปีก่อนผลตอบแทนติดลบติดต่อกัน ผมยังมองไม่เห็นหนทางที่จะพลิกเป็นบวกได้​ 

 

ยิ่งมีกระแสข่าวนักวิเคราะห์ไทยเทศ รวมถึงกูรูต่างๆ ก็ออกมาบอก ถอยแล้วไม่เอาดีกว่า (หุ้นไทย) แต่พอจะออกไปหาตลาดหุ้นต่างประเทศ ส่วนใหญ่ก็มองแค่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดหลักของคนลงทุนในต่างประเทศ แต่ว่าหุ้นสหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้นมาแรงช่วง 2-3 ปีก่อนแล้ว แล้วตอนนี้จะแพงไปไหม? 

 

และความไม่แน่นอนของทรัมป์จะยิ่งทำให้ตลาดหุ้นเกิดความผันผวนยิ่งขึ้นไปอีกแค่ไหน ผมมีคำแนะนำจัดพอร์ตให้รอดในวิกฤตมาฝาก ก่อนอื่นผมขอฉายภาพใหญ่ของโลกตอนนี้ครับ 

 

อุณหภูมิสงครามการค้าเริ่มเดือดพล่านในเวลาไม่ถึง 1 เดือนที่ทรัมป์เข้ามา ความเสี่ยงหลักๆ ที่โลกโฟกัสคือนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจากนี้ไปอีก 4 ปีจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก เป็นเรื่องที่คาดการณ์กันไม่ได้เลย 

 

ตามมาด้วยอีกหลากหลายปัจจัยที่สร้างความกังวลกับตลาดลงทุน นำโดยแนวโน้มเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ ซึ่งมีการคาดว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เร็วอย่างที่เคยมีมุมมองคาดการณ์กันเมื่อปีที่แล้วไว้ 

 

ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รอบแรกของปี 2025 (วันที่ 28-29 มกราคม) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 4.25-4.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดย เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ให้เหตุผลว่า Fed ยังต้องติดตามเงินเฟ้อว่าลดลงหรือสัญญาณอ่อนแอในตลาดแรงงาน ก่อนที่จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งยังต้องรอดูผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ว่าจะเป็นระยะเวลานานแค่ไหนและกระทบต่อประเทศใดบ้าง 

 

แนวโน้มการลดดอกเบี้ยจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้มุมมองของตลาดคาดว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้รวม 0.50% หรือ 2 ครั้ง เริ่มในเดือนมิถุนายนและธันวาคมนี้ สอดคล้องกับคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ของ Fed ซึ่ง Fed คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% เช่นเดียวกัน 

 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) ปรับตัวขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย Bond Yield อายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.489% และอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 4.703% (ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์) ช่วงนี้ Bond Yield พุ่งเหนือระดับ 4.5% หลังผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนบ่งชี้ว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรระบุว่า ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉพาะของแรงงานเพิ่มสูงกว่าคาดด้วย ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการดีดตัวของเงินเฟ้อครับ 

 

ณ ปัจจุบันบางสำนักก็คาดว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งเท่านั้นในปีนี้ ยิ่งทำให้ Bond Yield ดีดตัวหลังจากเมื่อต้นปีอ่อนตัวลง สถานการณ์ตลาดเงินทั่วโลกเฝ้าจดจ่อ Fed จะส่งสัญญาณนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าอย่างไร​ท่ามกลางปัญหาความไม่แน่นอนของนโยบายต่างๆ จากประธานาธิบดีทรัมป์ที่ออกมาเป็นรายวัน ซึ่งผมแนะนำนักลงทุนว่าอย่าจดจ่อกับข่าวทรัมป์รายวันที่มีแต่ฝุ่นตลบเลยครับ แต่เราควรติดตามสรุปรายสัปดาห์หรือรายเดือนจะเห็นภาพสถานการณ์ที่ดีกว่า

 

ผมมองว่าเรื่องที่ทรัมป์ทำเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ ถ้ามองในมุมปัจจุบัน แผนการต่างๆ ที่เขาทำ เพราะต้องการทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง หรือ ‘Make America Great Again’ เป็นคำขวัญที่ใช้ในการหาเสียงก่อนหน้านี้ จริงๆ ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลก แม้จะมีบทบาทเข้าไปแทรกแซงทางการเมืองและทางการทหารในหลายประเทศ แต่แท้จริงแล้วสหรัฐฯ แทบไม่ค่อยได้ใช้พลังอำนาจที่มีอยู่มาเอาประโยชน์เข้าตัวเองได้เท่าไรเลย และตอนนี้สหรัฐฯ กำลังหวาดหวั่นจะถูกกดดันให้หล่นจากการเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งหมายถึงประชาชนมีหนี้สูงมากๆ ประเทศขาดดุลเยอะไปหมดไม่ว่าจะขาดดุลการคลัง ขาดดุลการค้า เป็นต้น

 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทรัมป์กำลังพยายามทำคือการทำให้สหรัฐฯ ยังเป็นเบอร์หนึ่งของโลกต่อไปให้ได้นานที่สุด เป้าหมายของการใช้มาตรการการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ในรอบนี้ ผมมองว่าไม่ใช่แค่เรื่องของการขึ้นภาษี แต่เขาต้องการใช้เรื่องภาษีมาต่อรองกับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุล ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ หากสามารถขึ้นภาษีได้จริงก็จะเป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ แต่ถ้าการขึ้นภาษีทำไม่ได้จริงก็เข้าสู่เกมการเจรจาต่อรองเป็นรายประเทศไปอย่างที่เกิดขึ้นใน 2 ประเทศ คือ แคนาดาและเม็กซิโก

 

หากถามว่าจีนได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้ามากแค่ไหน ผมมองว่าจีนได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ เพราะเป็นที่รับรู้กันว่าจีนได้มีการปรับตัวตั้งแต่เจอสงครามการค้ากับทรัมป์ 1.0 โดยหันมาพึ่งพิงเศรษฐกิจในประเทศและลดการส่งออกกับสหรัฐฯ ทำให้ปัจจุบันเหลือเพียง 2.5% ของ GDP จีนครับ ขณะที่จีนมีสัดส่วนการส่งออกทั้งหมด 12-13% ต่อ GDP ซึ่งทรัมป์รู้ว่ามาตรการขึ้นภาษีฯ รอบนี้ทำอะไรประเทศจีนไม่ได้มากนัก

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สหรัฐฯ ยังยืนเหนือจีนได้ในเวลานี้คือเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งยังครองโลกอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้จีนเปิดตัว AI โมเดลใหม่ ‘DeepSeek R1’ ด้วยต้นทุนที่ต่ำจนโลกต้องฮือฮาและฉุดหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ อย่างบรรดา 7 นางฟ้าร่วงระนาว แต่ตลาดก็ยังไม่สะเด็ดน้ำว่าจีนจะชนะสหรัฐฯ เสียทีเดียว เพราะตลาดกำลังรอดูส่วนแบ่งการตลาดแอปพลิเคชัน AI จีนตัวนี้จะยึดครองโลกได้แค่ไหน แม้จะมีการถกเถียงกันว่าจีนอาจได้ประโยชน์จาก Economy of Scale ที่จะทำให้คนเข้าถึงการใช้แอป AI รุ่นใหม่นี้ในราคาถูก แต่ก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์ครับ 

 

ที่ผมกล้าพูดเช่นนี้เพราะสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้หยุดนิ่ง ยังผุดเมกะโปรเจกต์ ‘Stargate Project’ ที่มีการพัฒนา AI ด้วยงบก้อนมหาศาล 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งเมื่อ ‘อำนาจโลกมีการเปลี่ยนแปลง’ สิ่งที่ต้องมีคือเรื่องของ ‘เทคโนโลยี’ เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีไม่มีใครรู้ว่าจะหยุดลงที่ตรงไหน แต่ที่รู้แน่ๆ ยังเป็น Next Wave ที่จะเกิดอะไรใหม่ๆ เป็นพลังขับเคลื่อนโลกอนาคตครับ

 

ผมขอกลับมาคุยเรื่องมาตรการและสิ่งต่างๆ ที่ทรัมป์ทำจะออกอะไรมาอีกในระยะข้างหน้า แม้ว่าสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเหนือคาดเดาและอาจเกิดความผันผวนมากขึ้น ดังนั้นผมแนะนำว่านักลงทุนทุกคนต้องตั้งหลักและตั้งสติพิจารณานโยบายหลักเป็นข้อๆ ว่ามีใครได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ แล้วเราจึงเลือกลงทุนให้ถูกทิศถูกทางกันครับ 

 

สำหรับสหรัฐฯ โดยภาพใหญ่ยังมีข่าวดีจากนโยบายลดภาษีนิติบุคคล หากเกิดขึ้นจริงก็จะเกิดประโยชน์กับตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพราะแนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ จะสูงขึ้น โดยปีที่แล้วผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มดัชนี S&P 500 ออกมาดี มีสัดส่วนถึง 77% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดมีการรายงานผลกำไรที่ดีกว่าคาด ขณะที่ตอนนี้คนเลิกกังวลเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเกิดภาวะถดถอยแล้ว หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ออกมาเติบโตดี โดยปี 2024 GDP สหรัฐฯ เติบโต 2.8% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และในปีนี้ IMF คาดการณ์ GDP เพิ่มขึ้น 2.2%

 

ผมจึงมองว่าแนวโน้มผลกำไรของหุ้นสหรัฐฯ จะเติบโตขึ้นหากมีการลดภาษีนิติบุคคลจริง และตรงนี้ก็จะเป็นรันเวย์ให้หุ้นสหรัฐฯ วิ่งต่อได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ วิ่งขึ้นไปแรง และ P/E โดดขึ้นไปสูง นั่นก็เพราะผลพวงของการดีดตัวขึ้นแรงของหุ้น 7 นางฟ้า หรือหุ้นเทคโนโลยีบริษัทใหญ่ 7 อันดับ ที่แบกดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ขึ้นไปสูง ซึ่งหากไม่นับรวมหุ้น 7 นางฟ้า พบว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีการปรับตัวขึ้นไม่มากครับ 

 

สิ่งที่ผมจะบอกคือ ถ้าคุณจะลงทุนหุ้นสหรัฐฯ อาจจะไม่ใช่การลงทุนในดัชนีตลาดหุ้นแล้ว เพราะดัชนีมีทรง Sideway มากกว่าขาขึ้น หากจะลงทุนหุ้นสหรัฐฯ แนะนำเป็นตัวหุ้นหรือกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเป็นกลุ่มหุ้นที่ราคายังขึ้นมาไม่สูงมาก ซึ่งผมยังมอง 2 กลุ่มหลักที่น่าสนใจลงทุนในระยะยาว คือ กลุ่ม Healthcare ที่อาจปรับตัวลดลงมาในช่วงหลังโควิด แต่เชื่อว่าจะได้เห็นบทบาทต่อดัชนีมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นนับจากนี้

 

อีกกลุ่มหนึ่งยังเป็นหุ้นเทคโนโลยี ซึ่งยังได้ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง ภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ หันมาปรับตัวใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการดำเนินงานลง เพื่อสร้างผลกำไรให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นหุ้นเทค แม้จะมีการปรับตัวลดลงในช่วงตลาดหุ้นปั่นป่วน ผมมองว่าเป็นโอกาสในการเลือกลงทุนหุ้นรายตัวที่ยังมีการเติบโตในอนาคต หากคุณอยากดูข้อมูลหุ้นรายตัวที่ราคายังถูกและน่าลงทุนระยะยาวสามารถเข้าไปดูในเว็บไซต์ Jitta ได้ครับ มีการวิเคราะห์เชิงลึกแต่ละหุ้นที่น่าลงทุนไว้ให้

 

ส่วนตัวผมมองว่าสหรัฐฯ ยังน่าสนใจลงทุนในระยะกลางจนถึงระยะยาว โดยเชื่อว่าประธานาธิบดีทรัมป์ยังสามารถรั้งสหรัฐอเมริกาให้ยืนเป็นเบอร์หนึ่งของโลกได้ตามเป้าหมาย และยังเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีที่เหนือชั้น เพราะฉะนั้นในระยะยาวดัชนี S&P500 น่าจะยังเติบโตต่อได้ 

 

ผมแนะนำว่าสิ่งสำคัญที่จะพาให้พอร์ตรอดได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลกยุคทรัมป์ 2.0 นั่นก็คือคุณต้องหมั่นตรวจสอบสุขภาพพอร์ตอยู่เป็นระยะๆ ท่ามกลางความเสี่ยงจากสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอนสูง 

 

การวางกลยุทธ์ที่สำคัญในการลงทุนเวลานี้คือ การปรับพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับสภาวะตลาด ซึ่งการมีพันธบัตรสหรัฐฯ ตราสารหนี้คุณภาพดีติดไว้ในพอร์ต ยังถือเป็นสินทรัพย์ที่ดีช่วยกระจายความเสี่ยงได้ แม้จะให้ผลตอบแทนต่ำ แต่ความเสี่ยงที่ต่ำอย่างน้อยเงินต้นในส่วนนี้ก็ไม่หายไปหรือขาดทุนเหมือนหุ้นครับ และตอนนี้ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ยังสูงกว่าระดับ 4% ต่อปี ถือว่าไม่น้อยเลย เมื่อเทียบเป็นผลตอบแทนที่ยังสูงกว่าหุ้นไทยและในอีกหลายๆ ประเทศด้วยครับ แม้ปีนี้ Fed อาจจะลดดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง คาดว่าจะลงมาอยู่ระดับ 3% ปลายๆ สำหรับผมจัดให้เป็นหลุมหลบภัยที่ดีในโลกที่มีความผันผวนสูงครับ 

 

ในส่วนของการลงทุนในหุ้นยังเป็นสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้อยู่ครับ ผมยังมองว่าหากลงทุนหุ้นในระยะยาวก็ควรกระจายลงทุนในหุ้นรายประเทศที่ยังเติบโตดีอย่างสหรัฐฯ และจีน หรือหากจะเป็นหุ้นรายตัวหรือรายกลุ่มก็ควรจะต้องดูปัจจัยพื้นฐานทั้งตัวธุรกิจมีอนาคตเติบโตและยังได้เปรียบทางการแข่งขันสูง ผลการดำเนินงานมีการเติบโตของกำไร กระแสเงินสด มูลค่าหุ้น และราคาหุ้นที่เหมาะสม ซึ่งในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรงๆ ตราบใดที่ปัจจัยพื้นฐานมั่นคงและมีอนาคตเติบโตในระยะยาว ก็มีโอกาสที่หุ้นจะมีแรงส่ง หรือ Momentum ให้ปรับตัวขึ้นตามไปด้วยกัน

 

การชั่งน้ำหนักลงทุนในบอนด์และหุ้นควรเป็นอย่างไรนั้น ผมแนะนำสูตร Core & Satellite Port โดยแบ่ง Core Port (พอร์ตหลัก) เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างเช่น พันธบัตรสหรัฐฯ ถ้าเป็นหุ้นก็เป็นกลุ่มประเทศพัฒนานำโดยสหรัฐฯ ส่วน Satellite Port เป็นพอร์ตรองคือโอกาสสร้างผลตอบแทนสูง จะอยู่ในหุ้นรายกลุ่ม ยกตัวอย่างเช่น หุ้น Healthcare AI หุ้นกลุ่มตลาดเกิดใหม่นำโดยจีนที่เป็นอันดับสองของโลก 

 

สถานการณ์ตลาดที่ผันผวนในระยะข้างหน้า การให้น้ำหนักในพอร์ตหลักควรมีสัดส่วนสูง 80% และพอร์ตรอง 20% ของพอร์ตลงทุน เนื่องจากหากหุ้นในพอร์ตรองเผชิญกับความผันผวนสูง คุณยังมีสินทรัพย์ในพอร์ตหลักที่ให้ผลตอบแทน โดยเฉพาะผลตอบแทนจากพันธบัตรและตราสารหนี้ ซึ่งผลตอบแทนระดับ 3-4% ต่อปี ถือว่าค่อนข้างสูงอย่างน้อยๆ ก็ชนะหรือใกล้ๆ กับเงินเฟ้อครับ 

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภทมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ดังนั้นคุณควรตัดสินใจบนข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ไม่ว่าจะผ่านการวิเคราะห์ทั้งจาก AI และจากนักวิเคราะห์ที่ปรึกษาการลงทุนที่ให้บริการ ตัวคุณจะเป็นผู้ที่ต้องวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนก่อนใส่เงินเข้าลงทุนนะครับ 

 

ถึงเวลาที่คุณต้องตอบคำถามว่า พอร์ตของคุณมีความสมดุลแล้วหรือยัง เพราะเรากำลังอยู่ในโลกที่ว้าวุ่นของยุคประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ไม่ควรปล่อยให้พอร์ตกระจุกตัวอยู่แต่ในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงเกินไปจริงไหมครับ 

 

สุดท้ายนี้ผมขอให้ทุกท่านมีพอร์ตสุขภาพดีเขียวๆ พอร์ตเติบโตอย่างสมดุล ทำกำไรได้ดีในระยะยาวไปด้วยกันครับ 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising