ทั่วโลกจับตาการประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 20 หรือ G20 ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 9-10 กรกฎาคมนี้ โดยหัวข้อการหารือของการประชุมในครั้งนี้ก็คือแผนการปฏิรูปภาษี หรือ Global Tax Reform ที่ชาติสมาชิกองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) 130 ประเทศ ยกมือสนับสนุน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา
แดเนียล ฟรังโก รัฐมนตรีคลังอิตาลี แสดงความเชื่อมั่นว่า ที่ประชุม G20 จะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการเมืองที่จะเป็นฐานในการสนับสนุนนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาปัตยกรรมภาษีระหว่างประเทศในปัจจุบันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่การประชุมครั้งนี้มีตัวแทนจากสหภาพยุโรป (EU) เข้าร่วมด้วย
นอกจากประเด็นในเรื่องของการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำให้เป็นมาตรฐานสากลทั่วโลกแล้ว ที่ประชุมยังจะมีการหารือในเรื่องของการเดินหน้าจัดเก็บภาษีบริษัทที่เข้าไปลงทุนและทำรายได้ในประเทศใดประเทศหนึ่ง แม้ว่าจะไม่มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศนั้นๆ ก็ตาม
ด้าน คริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาเรียกร้องให้บรรดาผู้นำชาติ G20 ต้องให้ความช่วยเหลือประเทศยากจนทั่วโลก ในการยืนหยัดเผชิญหน้ากับวิกฤตการระบาดของโควิด ที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้นำ IMF วิตกกังวลมากที่สุดก็คือ ความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างชาติร่ำรวยกับยากจนที่กว้างมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสมควรที่ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 20 ประเทศ หรือ G20 จะยื่นมือช่วยเหลือชาติกำลังพัฒนาไม่ให้ร่วงถอยหลังมากไปกว่านี้ โดยประเด็นที่ต้องเร่งช่วยมากที่สุดก็คือการจัดหา จัดส่ง และกระจายวัคซีน ให้กับประเทศยากจน
ขณะที่ประเทศอย่างสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วในปีนี้ แต่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ต่างถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง เพราะเข้าไม่ถึงวัคซีน ไม่สามารถควบคุมอัตราการแพร่ระบาด และขาดนโยบายสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ
IMF ประเมินว่า ประเทศรายได้ต่ำจำเป็นต้องได้รับเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 5 ปีข้างหน้าเพื่อสู้กับโควิด และอีก 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อให้ไล่ทันประเทศร่ำรวย
อ้างอิง: