×

จับตาราคาน้ำมันโลกผันผวน หลังเศรษฐกิจโลกส่อชะลอฉุดดีมานด์หด แต่ติดตามความไม่สงบในตะวันออกกลาง หากรุนแรงอาจดันราคาพุ่ง

07.08.2024
  • LOADING...

กังวลสหรัฐฯ เข้าภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังตัวเลขว่างงานสูงกว่าคาด ฉุดตลาดหุ้นสหรัฐฯ และญี่ปุ่นร่วงหนัก ดันตัวเลข Volatility Index พุ่ง

 

สุทธิชัย คุ้มวรชัย Head of Investment Strategy ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวลดลงแรงในช่วงปลายสัปดาห์ก่อน กับเอเชียที่ปรับตัวลดลงแรงในวันจันทร์ที่ผ่านมา (5 สิงหาคม) เนื่องจากเริ่มมีความกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หลังจากสหรัฐฯ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่าอัตราการว่างงานออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ รวมทั้งการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นต่ำกว่าคาดการณ์ อีกทั้งมีตัวเลข Volatility Index หรือ VIX ปรับเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่ Bond Yield ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงมาต่ำกว่า 4% สะท้อนภาวะว่าเข้าสู่โหมด Risk Off อีกด้านคือในฝั่งเอเชีย ซึ่งในญี่ปุ่นมีการคืนเงินกู้ยืมในสกุลเยน (Unwind Yen Carry Trade) ส่งผลให้ค่าเงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าเพิ่มขึ้น หลังจากช่วงสัปดาห์ก่อนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นดอกเบี้ย สวนทางกับธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลก

 

ทั้งนี้ ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นสร้างความกังวลว่าเดิมค่าเงินเยนที่เคยอ่อนค่าจะเป็นปัจจัยหนุนต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในญี่ปุ่น แต่หลังจากค่าเงินเยนมีทิศทางกลับมาแข็งค่า เป็นปัจจัยกดดันให้ผลประกอบการของ บจ. ญี่ปุ่นในอนาคตมีความเสี่ยงที่จะอ่อนแอลงได้

 

นอกจากนี้ พบข้อมูลว่าจากต้นปี 2024 ถึงปัจจุบัน หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระดับที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับภาพในฝั่งของตลาดหุ้นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหรือเซมิคอนดักเตอร์ ที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรง ส่งผลให้มีการขายทำกำไรออกมากดดันให้ภาพรวมของตลาดหุ้นทั้ง 3 ตลาดดังกล่าวปรับตัวลดลง

 

สหรัฐฯ มีสัญญาณ Recession แรงขึ้น

 

โดย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ประเมินว่า แม้สหรัฐฯ เริ่มจะมีแนวโน้มเกิด Recession เพิ่มมากขึ้น แต่อาจยังไม่เข้าสู่ Recession แบบเต็มตัว เนื่องจากหากดูข้อมูลตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ ยังสามารถขยายตัวได้ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยในไตรมาส 2 ปี 2024 ยังขยายตัวได้ในระดับ 2.8% สูงกว่าตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 2.1%

 

ขณะที่ข้อมูลในฝั่งผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยังดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ รวมทั้งภาพรวมของยอดขายค้าปลีกที่ยังออกมาในระดับทรงตัว ซึ่งเป็นข้อมูลที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะออกมาหดตัว

 

นอกจากนี้ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐฯ ไตรมาส 2 ปี 2024 ซึ่งทยอยออกมาสัดส่วนประมาณ 3 ใน 4 ของทั้งหมด โดยข้อมูลล่าสุดที่ออกมายังมีตัวเลขดีกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่

 

ทั้งนี้ ประเมินว่าตลาดหุ้นโลกที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างแรง เนื่องจากเข้าสู่ภาวะซื้อมากเกินไป (Overbought) จึงเร่งขายทำกำไรออกมาในช่วงของวันจันทร์ที่ผ่านมา

 

มองว่าราคาน้ำมันโลกผันผวน

 

สุทธิชัยประเมินว่าตลาดน้ำมันจะได้รับผลกระทบจากภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกให้มีการใช้น้ำมันลดลง ส่วนกรณีภาพเศรษฐกิจจีนที่เริ่มเห็นสัญญาณการอ่อนแอทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลกค่อนข้างผันผวนสูง เพราะมีทั้งปัจจัยลบและปัจจัยบวกที่รออยู่ในระยะต่อไป แต่ปัจจัยลบเริ่มมีน้ำหนักเพิ่มสูงขึ้น

 

ทั้งนี้ องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ยังคงประมาณการอุปสงค์การใช้น้ำมันของโลกอยู่ในระดับต่ำ โดยในปี 2024 ประเมินว่าอุปสงค์การใช้ของน้ำมันของโลกจะเติบโตไม่ถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจาก IEA มีมุมมองว่าอุปสงค์การใช้น้ำมันจากจีนยังถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง

 

ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันของจีนในเดือนกรกฎาคมปีนี้ที่ผ่านมายังคงลดลง และถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา อีกทั้งจีนยังมีแนวโน้มจะใช้รถ EV เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบให้ความต้องการใช้น้ำมันในรถสันดาปทยอยลดลง

 

อย่างไรก็ดี กลุ่ม OPEC ยังคงมาตรการในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันแบบสมัครใจ ซึ่งยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ดังนั้นยังต้องติดตามว่าภาพของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและกระทบอุปสงค์การใช้น้ำมันของโลกให้ชะลอตัว จะส่งผลให้กลุ่ม OPEC ตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายในการลดกำลังการผลิตน้ำมันตามแผนเดิมหรือไม่

 

อย่างไรก็ดี หาก OPEC ยังคงแผนการผลิตน้ำมันตามที่เคยประกาศไว้ ประเมินว่าจะมีผลให้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2024 มีความเสี่ยงจะเกิดภาพของอุปทานน้ำมันมากกว่าอุปสงค์ที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งถือเป็นปัจจัยต่อราคาน้ำมัน

 

จับตาความไม่สงบในตะวันออกกลาง

 

นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากการสู้รบในตะวันออกกลาง จากการตอบโต้ที่อิสราเอลลอบสังหารผู้นำของฮามาส ซึ่งยังต้องติดตามความคืบหน้าว่าสถานการณ์ความไม่สงบดังกล่าวจะดำเนินต่อไปอย่างไร โดยประเมินกรอบราคาน้ำมันในช่วงไตรมาส 3 ปี 2024 จะอยู่ในระดับ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่หาก OPEC กลับมาเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในช่วงไตรมาส 3 ปี 2024 มีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะปรับลดลงมาเคลื่อนไหวในกรอบ 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

ทั้งนี้ มองว่าหากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาที่ระดับดังกล่าว ถือเป็นจุดที่มีความน่าสนใจในการทำ Hedging เพราะยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อราคาน้ำมันในอนาคต

 

สำหรับกรณีที่มีข่าวว่ากระทรวงพลังงานของไทยมีแนวคิดที่จะออกกฎหมายควบคุมราคาพลังงานน้ำมัน ยังต้องติดตามว่ารายละเอียดของกฎหมายที่จะออกมาจะเป็นอย่างไร

 

แต่ยอมรับว่าตลาดมีความกังวลล่วงหน้า โดยเฉพาะธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งกระทรวงพลังงานอาจมีแนวคิดในการออกกฎหมายเพื่อมาควบคุมราคาน้ำมันได้ทั้งหมด ทั้งในด้านของภาษีสรรพสามิตกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันเป็นไปตามที่ต้องการ

 

ทั้งยังต้องติดตามว่ากฎหมายดังกล่าวจะนำไปสู่การลดภาษีได้หรือไม่ โดยยังต้องหารือร่วมกับกระทรวงการคลังซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตว่าจะบริหารจัดการอย่างไร

 

อย่างไรก็ดี มีความกังวลว่าประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน โดยหากดูสถิติข้อมูลช่วง 10-20 ปีย้อนหลังที่ผ่านมา พบว่ามีความพยายามปรับสูตรราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากปัจจุบันสูตรราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันของไทยอ้างอิงสูตรราคาของตลาดน้ำมันสิงคโปร์ โดยคิดค่าขนส่งน้ำมันจากสิงคโปร์มาไทยที่ประมาณ 1- 2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

โดยหากถอดค่าขนส่งออกจากต้นทุนราคาน้ำมันของไทย ประเมินว่าหุ้นโรงกลั่น ได้แก่ BCP, TOP ซึ่งราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงมาในช่วงดังกล่าวได้สะท้อนความกังวลในประเด็นนี้ไปแล้ว ดังนั้นจึงมองว่าให้ทยอยสะสมในหุ้นทั้ง 2 ตัวดังกล่าว

 

หุ้นโรงไฟฟ้าได้ประโยชน์จากราคาก๊าซธรรมชาติไม่ขยับขึ้น

 

ส่วนหุ้นกลุ่มไฟฟ้าที่กระทรวงพลังงานประกาศให้คงราคางวดเดือนกันยายน-ธันวาคมปีนี้ไว้ที่ 4.18 บาท ประเมินว่าราคาหุ้นกลุ่มไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนข้อมูลเชิงลบดังกล่าวไปแล้ว

 

ขณะที่ในระยะสั้นราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานหลักของกลุ่มโรงไฟฟ้า คาดว่าจะยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากปัจจุบันยุโรปยังมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติอยู่ในระดับสูง ประกอบกับทั้งยุโรปกับจีนสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ค่อนข้างดี ส่งผลให้จีนยังไม่มีความต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าในระยะสั้น

 

อย่างไรก็ตาม มองว่ามีความเสี่ยงเดียวต่อกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าคือสมการความไม่แน่นอนในตะวันออกกลาง หากความรุนแรงกลับมาอาจส่งผลกระทบต่อราคาก๊าซธรรมชาติให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ค่อนข้างแรง แต่ยังเชื่อว่าในเชิงของปัจจัยพื้นฐานระยะสั้นจะยังไม่เห็นการปรับขึ้นของราคาก๊าซธรรมชาติ

 

“โดยปกติราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าจะมีการเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ซึ่งหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลง หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ามักจะปรับตัวดีขึ้น ขณะที่หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าถือเป็นหุ้นกลุ่ม Defensive มีการก่อหนี้สูง ดังนั้นหากดอกเบี้ยเริ่มลงก็จะทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลงตามไปด้วย และมีมูลค่าหุ้นดูดีขึ้น จึงแนะนำให้หาโอกาสทยอยสะสมหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า”

 

อีกทั้งหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ายังใช้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลกำลังจะมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรอบใหม่

 

สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย มีธีมแนะนำให้ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายของกองทุน ThaiESG ที่ขยายวงเงินในการลดหย่อนภาษีจาก 100,000 บาท เป็น 300,000 บาท อีกทั้งลดระยะเวลาการถือครองจากเดิม 8 ปี เหลือ 5 ปี ได้แก่ GULF, ADVANC, AOT, CPALL, BDMS, BBL, KTB และแนะนำ PTTEP เพื่อใช้ Hedging ความไม่แน่นอนและความผันผวนของน้ำมัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising