×

GLOBAL FOCUS EP81: จีนเหนือกว่าสหรัฐฯ? มองมุมนักวิชาการจีน คิดอย่างไรกับโลกหลายขั้วอำนาจ

16.07.2024
  • LOADING...
GLOBAL FOCUS EP81

รายการ GLOBAL FOCUS สัมภาษณ์ ศ. ดร.จางเหวยเว่ย อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประเทศ จีน มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น เขาเคยเป็นล่ามภาษาอังกฤษให้กับ เติ้งเสี่ยวผิง และอดีตผู้นำจีนหลายคน

 

เราสรุปมุมมองอาจารย์ในเรื่อง Geopolitics, EV, ระเบียบโลกใหม่, การแข่งขันจีน-สหรัฐฯ, โอกาสการรวมชาติกับไต้หวัน, ต้นตอวิกฤตยูเครน, ทุนจีนสีเทา, ประชาธิปไตยแบบจีน, วิกฤตเศรษฐกิจจีน และกรณี แจ็ค หม่า จากบทสัมภาษณ์ที่ดำเนินรายการโดย วีณารัตน์ เลาหภคกุล (เป็นเพียงมุมมองของนักวิชาการจีนคนหนึ่ง ไม่ใช่ตัวแทนรัฐบาลจีน แต่ก็สะท้อนแนวคิดค่านิยมของจีนได้)

 

  • จีนต้องการระเบียบโลกใหม่ที่เป็นระบบหลายขั้ว เพราะขั้วเดียวแบบเดิมที่นำโดยสหรัฐฯ เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่เป็นธรรม นำไปสู่ความไม่สงบแบบอาหรับสปริง และสงครามเช่นในอิรัก อัฟกานิสถาน จีนเชื่อว่าโลกหลายขั้วกำลังก่อตัวขึ้น

 

  • รัสเซียเป็นขั้วอำนาจหนึ่ง Global South ก็เป็นอีกขั้วอำนาจ ส่วนยุโรปถ้ามองจากความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย ปัจจุบันเกือบจะกลายเป็นสถาบันใต้สหรัฐฯ ไปแล้ว จึงไม่นับเป็นขั้วอำนาจก็ได้ แต่อาเซียนโดยรวมถือเป็นหนึ่งในขั้วอำนาจได้ เพราะความมีอิสระ

 

  • นโยบายต่างประเทศจีน-สหรัฐฯ ต่างกัน สหรัฐฯ ถ้าไม่เป็นเพื่อน ก็คือศัตรู ส่วนจีนไม่สนว่าเพื่อนคนนั้นจะเป็นเพื่อนกับสหรัฐฯ หรือไม่ จีนคบได้หมด แต่มีข้อแม้ว่าต้องไม่ขัดผลประโยชน์หลักของจีน

 

  • จุดเปลี่ยน (Turning Point) ของความสัมพันธ์ย่ำแย่ของสหรัฐฯ-จีน อาจารย์มองว่าเริ่มมาจากการที่สหรัฐฯ รู้สึกว่าจีนขึ้นมาแข่งขันในหลายด้าน เริ่มจาก HUAWEI ล้ำหน้าด้าน 5G เดิมสหรัฐฯ สนับสนุนการค้าเสรี แต่เริ่มถอยห่างจากการค้าเสรีและระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง จนจีนขึ้นมาแทนที่ในการส่งเสริมการค้าเสรี

 

  • โลกาภิวัตน์แบบเก่าขั้วอำนาจเดียวกำลังถูกแทนที่ด้วยโลกาภิวัตน์แบบใหม่ จีนและอาเซียนมี BRI ที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการโลกาภิวัตน์ใหม่

 

  • เรื่อง EV และการอุดหนุน จีนชี้ให้เห็นว่า ภายในจีนมีการแข่งขันสูงมาก เฉพาะ EV มีผู้ผลิต 100 บริษัท ซึ่งแข่งขันกันเองอย่างดุเดือด จนคุณภาพสินค้าบริการดีขึ้น จนสามารถออกไปแข่งนอกประเทศได้ รัฐไม่สามารถอุดหนุนทั้ง 100 บริษัทได้ แต่เป็นสหรัฐฯ และยุโรปต่างหากที่อุดหนุนอุตสาหกรรมทุกประเภทเพื่อสกัดจีน

 

  • ก่อนจีนจะมาเป็นผู้นำ EV นั้น ผ่านแผนพัฒนา 5 ปี รวม 4 ฉบับ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ทำสำเร็จขึ้นมาในชั่วข้ามคืน แต่ผ่านการวางแผนและพัฒนามาหลายสิบปี

 

  • สงครามยูเครน จุดเริ่มต้นวิกฤตมาจากการที่ NATO ขยายสมาชิกเชิงรุกจนรัสเซียรู้สึกว่ากระทบความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ ที่ผ่านมารัสเซียยอมให้ NATO ขยายถึง 5 ครั้ง แต่จะไม่ทนต่อไป ถ้าเป็นจีน อาจารย์มองว่า จีนก็จะไม่ปล่อยให้ NATO ขยายมาเอเชียเช่นกัน

 

  • อาจารย์เชื่อว่าปัญหาไต้หวันจะมีทางออก ท้ายที่สุดจีนจะรวมชาติกับไต้หวันอย่างแน่นอน สหรัฐฯ ไม่สามารถทำสงครามชนะจีนได้ และเชื่อว่าสหรัฐฯ จะแพ้แน่นอน ด้วยขีดความสามารถในการป้องกันประเทศที่ก้าวหน้า หรือแม้ว่าจีนจะอ่อนแอกว่านี้ร้อยเท่า จีนก็ไม่ยอมให้สหรัฐฯ ล้ำเส้นเรื่องไต้หวัน

 

  • สหรัฐฯ เริ่มสูญเสียซอฟต์พาวเวอร์ด้านการเชิดชูคุณค่าประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน โลกเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า ‘การตื่นรู้’ สงครามฮามาส-อิสราเอล เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หลายประเทศเห็นความสองมาตรฐานของสหรัฐฯ ในโลกอินเทอร์เน็ตคนเข้าถึงข้อมูลได้หมด

 

  • หลายสิบปีก่อนเซี่ยงไฮ้เคยตามหลังกรุงเทพฯ จีนเคยศึกษาจากไทยและอาเซียนก่อนปฏิรูปเปิดประเทศ

 

  • เรื่องทุนจีนสีเทา อาจารย์จางบอกว่าทุกประเทศมีทั้งคนดีและไม่ดี หากพบคนทำผิดกฎหมาย จีนสนับสนุนให้ดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายไทยได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ต้องร่วมมือกันระหว่างจีนกับไทย

 

  • แนวคิดแบ่งประชาธิปไตยกับเผด็จการเป็นเรื่องล้าสมัย คณะผู้นำจีนก็มาจากกระบวนการคัดเลือกและเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ในแบบจีน

 

  • สหรัฐฯ ล้มเหลวเรื่องระบบ ไม่สามารถควบคุมอาวุธปืนและยาเสพติดอย่างที่จีนทำได้ อาจารย์เคยพูดเมื่อปี 2011 ว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องปฏิรูปการเมือง เพราะระบบเก่าเป็นผลผลิตจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเวลานี้โลกเปลี่ยนไปมาก ไม่เช่นนั้นสหรัฐฯ จะได้ประธานาธิบดีที่แย่กว่า จอร์จ ดับเบิลยู. บุช

 

  • เรื่องเศรษฐกิจจีนโตไม่เท่าอดีต หลายคนมองว่าจีนมีปัญหา แต่ปีที่แล้วจีนเติบโต 5.2% และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกโตขึ้นในสัดส่วน 30% ซึ่งน่าพอใจแล้ว ถ้าจีนจะกระตุ้นเศรษฐกิจทำง่ายมาก แต่จีนต้องการการเติบโตอย่างมีคุณภาพสูง จีนจงใจลดภาคอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม บังคับทุกภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงเพื่อยกระดับห่วงโซ่คุณค่าสู่อุตสาหกรรมใหม่ ผลก็คือภายใน 3-5 ปี จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพลังงานหมุนเวียน

 

  • เรื่องวิกฤตหนี้รัฐบาลท้องถิ่น ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นปัญหาที่จีนแก้ได้ พร้อมชี้ว่าวิกฤตหนี้จีนกับสหรัฐฯ ต่างกัน จีนมีหนี้ที่มีตัวตนจริงจากถนน อุปกรณ์ โครงการบ้านจัดสรร แต่หนี้สหรัฐฯ คือฟองสบู่ อนุพันธ์ทางการเงิน เป็นต้น

 

  • กรณี แจ็ค หม่า จีนให้ความสำคัญกับความสมดุลของ 3 อำนาจ คืออำนาจทางสังคม การเมือง และทุน เมื่อรู้สึกว่าอำนาจทุนมากขึ้นจนเอื้อประโยชน์คนน้อย รัฐบาลจึงเข้ามาแทรกแซงเพื่อหยุดยั้งความไม่สมดุลนี้

 

  • จุดนี้อาจารย์บอกว่าระบบนี้จีนเหนือกว่าสหรัฐฯ เพราะคนรวยสุด 100 คนแรกไม่สามารถชี้นำพรรคคอมมิวนิสต์หรือกรมการเมืองได้ แต่กลับกัน คนรวยสุดในสหรัฐฯ มีอิทธิพลเหนือทำเนียบขาว

 

นี่เป็นเพียงมุมมองส่วนหนึ่งของอาจารย์จางเหวยเว่ย สามารถชมคลิปเต็มรายการได้ใต้คอมเมนต์

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X