×

‘OECD’ เตือน วิกฤตพลังงานและเงินเฟ้อฉุดเศรษฐกิจ ‘ถดถอยทั่วโลก’ ลากยาวตลอดปี 2023

27.09.2022
  • LOADING...
วิกฤตพลังงาน

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ออกโรงเตือนเมื่อวานนี้ (26 กันยายน) ว่า ภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า เนื่องจากการที่รัสเซียบุกยูเครนทำให้เกิดวิกฤตด้านพลังงาน บวกกับภาวะอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

ขณะเดียวกัน ทาง OECD ยังประเมินว่า การที่รัสเซียบุกยูเครนและผลกระทบจากการระบาดของโควิดที่ยังไม่คลี่คลายดี จะฉุดรั้งให้เศรษฐกิจโลกซบเซายาวไปจนถึงปีหน้า นับเป็นการสะท้อนให้เห็นภาพเศรษฐกิจโลกที่หนักหนาสาหัสกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


แม้ OECD จะยังคงระดับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้ไว้ที่ 3.0% ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2023 ลงมาอยู่ที่ 2.2% ต่ำกว่าคาดการณ์ครั้งก่อนในเดือนมิถุนายนที่ประเมินไว้ 2.8% โดยภูมิภาคที่เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดก็คือยุโรป เนื่องจากเศรษฐกิจมีความเกี่ยวพันโดยตรงกับสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน 

 

ขณะเดียวกัน OECD คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตที่ 1.5% ในปีนี้ และ 0.5% ปีหน้า ส่วนเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซนจะขยายตัว 1.25% และ 0.3% ในปีหน้า ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินยูโร (ยูโรโซน) ในปี 2023 โดยลดลงเหลือ 0.3% จากการคาดการณ์ก่อนหน้าในเดือนมิถุนายนที่ 3.1% และการเติบโตของเศรษฐกิจจีนลดลงมาอยู่ที่ 3.2% ในปีนี้ และ 4.7% ในปีหน้า

 

ด้านผลผลิตทั่วโลกในปีหน้าคาดว่าจะต่ำกว่าที่ OECD คาดการณ์ไว้ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมุมมองก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน โดยนับเป็นการสูญหายของรายได้ทั่วโลกที่เทียบเคียงได้เท่ากับขนาดเศรษฐกิจประเทศฝรั่งเศส

 

Mathias Cormann เลขาธิการใหญ่ OECD ระบุในแถลงการณ์ว่า ภาวะสงคราม ต้นทุนพลังงานและอาหารพุ่งสูง บวกกับมาตรการ Zero-COVID ของจีน ผลักดันให้ทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกลดลง และเงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อยๆ 

 

นอกจากนี้ OECD เตือนว่าการหยุดชะงักของการจัดหาพลังงานเพิ่มเติมจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตและกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อ ผลักดันให้หลายประเทศเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยตลอดทั้งปี 2023 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป

 

เขายังกล่าวอีกว่า นโยบายการเงินจะต้องเข้มงวดขึ้นในประเทศเศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้ออย่างยั่งยืน ขณะที่การกระตุ้นด้วยมาตรการทางการคลังตามเป้าหมายของรัฐบาลก็เป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจ และย้ำว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกัน 

 

แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศหลักๆ จะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ OECD เชื่อว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ โดยคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลักๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 4% ในปี 2023 

 

ขณะเดียวกัน จากการที่รัฐบาลหลายประเทศได้เพิ่มแพ็กเกจการสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนและธุรกิจต่างๆ ในการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่สูง OECD แนะว่ามาตรการดังกล่าวควรกำหนดเป้าหมายไปยังผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด และควรดำเนินการชั่วคราวเพื่อลดต้นทุน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภาระหนี้หลังโควิด

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising