อัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินเป้าที่ประมาณ 2% ต่อปี กระตุ้นให้ธนาคารกลางหลายประเทศคุมเข้มเรื่องนโยบายการเงินมาตลอด 12 เดือน ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วและแรงนับตั้งแต่ปี 1981 ซึ่งเป็นปัจจัยชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงให้กับธุรกิจต่างๆ มีความยากลำบากจากภาระหนี้ที่หนักหน่วงขึ้น จนอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ที่สามารถพาเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2024 ได้ ตามการคาดการณ์ของ อีริก นอร์แลนด์ กรรมการบริหารและนักเศรษฐศาสตร์อาวุโส CME Group
อีกสิ่งที่อีริกกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดคือการเติบโตที่ต่ำกว่าคาดของเศรษฐกิจจีน เพราะจีนเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ การเปิดเมืองหลังยกเลิกนโยบายคุมเข้มโควิดทำให้หลายฝ่ายหวังว่าจีนจะกลับมามีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกแต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น จึงเป็นเหตุของราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายอย่างรวมถึงน้ำมันอยู่ในระดับเดิมแม้จะมีการลดปริมาณการผลิตก็ตาม เนื่องจากจีนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกถึง 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 10% ของกำลังการผลิตทั้งโลก ความต้องการบริโภคน้อยลงนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อราคา แต่ยังเป็นเหมือนสัญญาณความเสี่ยงสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว (Recession) อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม อีริกยังคงมองว่าสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทย ยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะอัตราดอกเบี้ยไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศฝั่งตะวันตก (ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75%) ที่เน้นใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากเกินควร ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงกว่าประเทศในแถบเอเชีย และจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยให้เร็วและแรงเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
บทเรียนสำคัญที่อีริกฝากทิ้งท้ายให้กับนักลงทุนคือ ในขณะที่ธนาคารกลางต่างๆ ดึงสภาพคล่องออกจากระบบโดยการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยสูง จะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และสินทรัพย์ทางการเงินมีความผันผวนที่รุนแรง อาจทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น เพราะธุรกิจหรือครัวเรือนไม่สามารถแบกรับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้
โดยอีริกมองว่าตลาดฟิวเจอร์สจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพราะว่าในช่วงที่ดอกเบี้ยเข้าใกล้หรือเป็น 0% นักลงทุนจะกังวลถึงความเสี่ยงเพียงแค่ดอกเบี้ยขาขึ้นฝั่งเดียวแต่ในตอนนี้ที่อัตราดอกเบี้ยประมาณ 5% นักลงทุนจำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงทั้งขาขึ้นและลง
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2023/04/02/saudi-arabia-and-opec-producers-announce-voluntary-oil-output-cuts.html
- https://ycharts.com/indicators
- https://tradingeconomics.com
- https://www.eia.gov/outlooks/steo/archives/Jan23.pdf
- ซีเอ็มอี กรุ๊ป (CME Group) ผู้นำตลาดอนุพันธ์ชั้นนำของโลกที่มีความโดดเด่นในด้านการจัดการความเสี่ยง และช่วยให้นักลงทุนซื้อขายฟิวเจอร์ส ออปชัน เงินสด และซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ (OTC)
- ตามรายงานประจำเดือนมกราคม 2023 ของหน่วยงานด้านพลังงานประเทศสหรัฐอเมริกา (EIA US Energy Administration) กำลังการผลิตน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่หลังจากมีการลดกำลังการผลิตจากกลุ่ม OPEC+ การผลิตน้ำมันต่อวันอยู่ที่ราวๆ 96.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงไป 3.66 ล้านบาร์เรล