×

‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ ย้ำเศรษฐกิจโลกยังเสี่ยงสูงจาก Market Dysfunction ห่วงไทยใช้นโยบายไม่เหมาะสม

17.11.2022
  • LOADING...

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำเศรษฐกิจโลกยังเสี่ยงสูงจาก Market Dysfunction ห่วงไทยใช้นโยบายไม่เหมาะสม ระบุว่า “ตลาดจะลงโทษนโยบายที่ผิดพลาด” พร้อมแนะผู้ประกอบการไทยต้องมีความยืดหยุ่นต่อวิกฤตอยู่เสมอ

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวกับสื่อมวลชนในวันนี้ (17 พฤศจิกายน) โดยยอมรับว่าโจทย์ Smooth Takeoff ที่เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้นั้น ณ สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันไม่น่าจะได้เห็นความ Smooth แล้ว แต่ยัง Takeoff อยู่ 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

โดยปัจจัยที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่เคยประเมินไว้ มีทั้งปัจจัยภายในประเทศ คือการบริโภคภายในประเทศ การท่องเที่ยว รวมถึงยังมีผลกระทบจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งทาง ธปท. ได้นำมาพิจารณาเป็นปัจจัยเสี่ยงไปแล้วก่อนหน้านี้ สะท้อนจากมุมมอง ธปท. ก่อนหน้าที่วิเคราะห์ไว้ว่าภาคการส่งออกปี 2566 น่าจะเติบโตต่ำ ดังนั้นแล้ว เศรษฐกิจไทยโอกาสโตต่ำกว่า 3% จึงมีน้อยมาก

 

อย่างไรก็ตาม ในการเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมการพูดคุยครั้งนี้ เนื่องจากมีความกังวลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงหลักจากเศรษฐกิจโลก

 

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า หลังจากที่ได้เดินทางไปงานประชุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น IMF หรือ World Bank พบว่าโทนในการสื่อสารต่างกันมากกับปีก่อนหน้านี้

 

โดยประเด็นหลักเดิมที่พูดคุยยังคงเป็นเรื่องของเงินเฟ้อสหรัฐฯ การชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ไม่น่าเป็นห่วงนัก ขณะที่การว่างงานต่ำมาก ถึงขั้นเกิดปัญหาขาดแรงงานด้วยซ้ำ โดยมีการกล่าวกันว่า We don’t need more demand, we need more workers.

 

อย่างไรก็ตาม จากการประชุมล่าสุดพบว่า เริ่มมีการพูดถึงปัจจัยที่ไม่ค่อยพูดถึงมาก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในตอนนี้ โดยปัจจัยเสี่ยงหลักคือ Market Dysfunction หรือความล้มเหลวของตลาดทุน-ตลาดการเงิน

 

“เปรียบเทียบเหมือน ‘น้ำลดตอผุด’ เราอยู่ในโลกที่สภาวะดอกเบี้ยต่ำมานาน เมื่อโลกเข้าสู่สภาวะดอกเบี้ยสูง สภาพคล่องหด หนี้ในระบบโดยรวมจึงสูงขึ้นมาก”​ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าว 

 

ซึ่งความไม่ปกติคือ โดยทั่วไปแล้วกลุ่มที่เปราะบางหรือมีความเสี่ยงสูง คือธุรกิจพวก SMEs หรือประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (EM) แต่ครั้งนี้ วิกฤตกลับเกิดขึ้นในประเทศเศรษฐกิจปลอดภัยที่สุด ตลาดเงินตลาดทุนปลอดภัยที่สุด เช่น สหราชอาณาจักร โดยล่าสุด ความผันผวนก็ไประเบิดที่ Pension Fund หรือ กรณีของ US Treasury (ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ) ที่ปกติปลอดภัยมากสภาพคล่องดีมาก แต่ช่วงหลังสภาพคล่องก็เริ่มหด ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวนี้ล้วนเป็น Syndrome ที่เริ่มออกอาการไม่ค่อยดี

 

“ระเบิดเกิดที่ไหนก็ได้ หากไประเบิดในของที่มีความเสี่ยงก็เข้าใจได้ แต่ตอนนี้ปัญหาเกิดในที่ที่ปกติเราไม่เคยคิดว่ามันเสี่ยง” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวย้ำ และเสริมว่า สำหรับปี 2566 จะมีกับดักระเบิดอีกมากมายที่ต้องเฝ้าระวัง

 

ทั้งนี้ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ กล่าวว่า กลุ่มที่ไม่น่ากังวลคือแบงก์ เพราะมีทัศนวิสัย (Visibility) ที่เห็นชัด และมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี และในทางกลับกัน กลุ่มที่น่ากังวลที่สุดคือ ธุรกิจ Non-Bank ในต่างประเทศ, กองทุนในระดับโลกเสี่ยงมาก, Private Equity ระดับโลกที่คุ้นเคยกับดอกเบี้ยต่ำมาตลอด โดยเฉพาะการ Leverage (กู้ยืมมาลงทุน) 

 

“พวกนี้ไม่มีใครเห็น ไม่มี Visibility อาจจะระเบิดเมื่อไรก็ไม่รู้ และถ้าระเบิดแล้วก็อาจจะลุกลามได้” ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติกล่าว 

 

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จะทำให้นักลงทุนเกิดความตื่นตระหนกและเข้าสู่โหมดปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) โดยมี 3 ดัชนีชี้วัดที่จะอ่อนไหวและผันผวนเป็นพิเศษคือ ตลาดหุ้น, กระแเสเงินทุนเข้า-ออก (Fund Flow) และค่าเงินบาท 

 

“มีโอกาสที่ตลาดหุ้นจะตก เงินทุนต่างชาติไหลออก และค่าเงินอ่อนหรือแกว่งไปมา”

 

อย่างไรก็ตาม ข้อดีคือประเทศไทยยังคงมีความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้ดีกว่าที่อื่น เนื่องจากประเทศไทยเคยผ่านบทเรียนจากวิกฤตมาแล้ว

 

ต่อคำถามที่ว่า ท่ามกลางความเสี่ยงเช่นนี้ แบงก์ชาติรับมืออย่างไร ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ธปท. จะประเมินใกล้ชิด ทุกครั้งที่แถลงหรือให้สัมภาษณ์ก็จะมีการมอนิเตอร์เหตุการณ์ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา

 

และเมื่อเจาะลึกลงสู่คำถามที่ว่า สำหรับประเทศไทยต้องกังวลสิ่งใดมากที่สุด ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติระบุถึง 2 เรื่อง ดังนี้ 

 

  1. ความไม่สมเหตุสมผลของนโยบาย เช่น อังกฤษที่ออกนโยบายไม่สอดคล้องกันระหว่างการเงิน-การคลัง โดยผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเน้นย้ำโควตที่ว่า “Market will punish stupid policy.” ซึ่งสื่อความหมายว่า “ตลาดจะลงโทษนโยบายโง่ๆ” ขณะที่กรณีตัวอย่างในไทยที่น่ากังวลคือ นโยบายประชานิยมที่ดูดีระยะสั้น เช่น ล้างหนี้ กยศ. หรือลบเครดิตบูโร

 
“อาจฟังดูน่าเบื่อ แต่ตอนนี้เศรษฐกิจต้องเน้นเสถียรภาพมากกว้าการกระตุ้น หากอยากกระตุ้นก็ต้องเน้น Targeting เฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ไม่ควรหว่านแห”

 

ทั้งนี้ ทางผู้ว่าฯ แบงก์ชาติกล่าวยืนยันว่า ได้ปรึกษาหารือกับกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทยอยู่เสมอ 

 

  1. ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics Risk) โดยในระยะยาว Geopolitics สำคัญมาก ซึ่งยังต้องติดตามว่าซัพพลายเชนจะปรับตัวอย่างไร และล่าสุด เพิ่งได้ฟังแถลงการณ์ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (National Security Advisor of the United States) ในหัวข้อ Remarks by National Security Advisor Jake Sullivan at the Special Competitive Studies Project Global Emerging Technologies Summit ซึ่งได้เห็นทิศทางของการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจชัดเจน

 

สำหรับคำแนะนำผู้ประกอบการและนักลงทุน ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ กล่าวย้ำว่า Resiliency นั้นมีความสำคัญมาก และแนะนำผู้ประกอบการให้บริหารความเสี่ยงในโลกที่ผันผวนดีๆ โดยที่ต้องมีความยืดหยุ่นต่อวิกฤตอยู่เสมอ

 

ช่วงสุดท้ายของการพูดคุยกับสื่อมวลชน ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบัน กับเพลง Where’s Is The Next One Coming From ของ Buddy Guy ที่มีคำร้องว่า 

 

“Well I had a job, but I got laid off

I had a heart but it got too soft

I had a girlfriend and she lied

I had a wife but my wife she died

Where is the next one comin’ from”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising