×

หนี้ทั่วโลกพุ่งสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์! ส่วนหนี้ไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดเกิดใหม่ IMF เตือนระยะกลางจ่อทะยานต่อ ชี้รัฐบาลควรให้ความสำคัญ

21.09.2023
  • LOADING...
สัดส่วนหนี้ ไทย

หนี้ทั่วโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 307 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 336% ต่อ GDP สำหรับไทยมีสัดส่วนหนี้ทุกภาคส่วนคิดเป็น 258.8% สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) ด้าน IMF เตือน ในระยะกลางระดับหนี้ทั่วโลกมีแนวโน้มทะยานต่อ ชี้รัฐบาลทุกประเทศควรให้ความสำคัญ

 

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (Institute of International Finance: IIF) เปิดเผยรายงาน Global Debt Monitor โดยระบุว่า เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมด้านอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้หนี้สะสมทั่วโลก (Global Debt Stock) เพิ่มขึ้น 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ สู่ระดับ 307 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์

 

ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่อ GDP โลกก็เพิ่มขึ้น 2 ไตรมาสติดต่อกัน สู่ระดับ 336% หลังจากก่อนหน้านี้ลดลง 7 ไตรมาสติดต่อกัน โดย IIF ยังอธิบายว่า อัตราส่วนหนี้ต่อ GDP โลกที่ลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ

 

อย่างไรก็ตาม IIF คาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเกิน 337% ภายในสิ้นปีนี้ โดยส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลจำนวนมาก

 

ในรายงานยังระบุว่า ระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์จำนวนนี้มากกว่า 80% มาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งมีหนี้เพิ่มขึ้นมากที่สุด ขณะที่ในบรรดาตลาดเกิดใหม่การเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากจีน อินเดีย และบราซิล

 

Global debt-to-gdp chart

 

IIF-IMF เตือนหนี้สาธารณะประเทศต่างๆ จ่อเพิ่มขึ้น

 

IIF ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับหนี้ภาครัฐที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและระดับหนี้ที่สูงขึ้นส่งผลให้รายจ่ายด้านดอกเบี้ยของรัฐบาลสูงขึ้น ทำให้ภาระหนี้สาธารณะของประเทศต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเกิดใหม่

 

“ระดับหนี้รัฐบาลต่างๆ อยู่ในระดับที่น่าตกใจในหลายประเทศ และสิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือสถาปัตยกรรมทางการเงินระดับโลก (International Financial Architecture) ยังมีไม่เพียงพอในการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความตึงเครียดในตลาดตราสารหนี้” IIF ระบุ

 

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ออกมาเตือนในทำนองเดียวกันเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ในระยะกลาง ระดับหนี้ทั้งภาคครัวเรือน ภาคเอกชน และภาครัฐ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อไป เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเจือจางลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะทรงตัว

 

“หนี้ทั่วโลกดูเหมือนจะกลับคืนสู่แนวโน้มขาขึ้นอีกครั้ง และการจัดการช่องโหว่ของเรื่องหนี้ควรเป็นสิ่งสำคัญ” IMF กล่าว

 

IIF ชี้หนี้ครัวเรือนตลาดเกิดใหม่ไม่น่าไว้ใจ

 

รายงานยังพบว่าหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในตลาดเกิดใหม่ยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 โดยมีสาเหตุหลักมาจากระดับหนี้ครัวเรือนของจีน เกาหลีใต้ และไทย

 

อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนในตลาดพัฒนาแล้ว (Mature Markets) กลับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

 

สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ไทยอยู่ที่ 258.8% สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดเกิดใหม่

 

ในรายงานของ IIF แสดงให้เห็นว่าหนี้ต่อ GDP ของประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 อยู่ที่ 258.8% ต่อ GDP โดยแบ่งเป็น

  1. หนี้ครัวเรือนที่ 86.8%
  2. หนี้บริษัทเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ 84.5%
  3. หนี้รัฐบาลที่ 54% และ
  4. หนี้ภาคการเงินที่ 33.5%

 

กระนั้นสัดส่วนหนี้ไทยในไตรมาสที่ผ่านมาลดลงเล็กน้อยจากระดับ 265% เมื่อไตรมาสที่ 2 ของปี 2022

 

ทั้งนี้ หนี้รัฐบาลในความหมาย IIF จะไม่รวมหนี้รัฐวิสาหกิจ โดยตัวเลข 54% ดังกล่าวก็สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง ที่ระบุว่าในเดือนกรกฎาคม (ข้อมูลล่าสุด) หนี้รัฐบาลอยู่ที่ 9,612,165.44 ล้านบาท คิดเป็น 54% ของ GDP

 

อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลของ สบน. หากรวมหนี้รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจทำธุรกิจในภาคการเงินฯ (รัฐบาลค้ำประกัน) หน่วยงานของรัฐ และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะมีมูลค่ารวม 10,972,094.03 ล้านบาท คิดเป็นราว 61.69%

 

กระนั้นสัดส่วนหนี้ไทยที่ 258.8% ต่อ GDP ก็ยังสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยประเทศ EMs โดยในภูมิภาคเป็นรองเพียงสิงคโปร์ (517%) เกาหลีใต้ (359%) และจีน (356.8%) เท่านั้น

 

สัดส่วนหนี้ ไทย

 

ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X