×

งานวิจัยชี้ ไม่มีปริมาณที่ปลอดภัยในการดื่มแอลกอฮอล์

24.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 MINS READ
  • นักดื่มฟังทางนี้ ผลการศึกษาล่าสุดในวารสารการแพทย์ The Lancet พบว่า แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของประชากรในช่วงอายุ 15-49 ปี ในปี 2016 หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 10 ของสาเหตุการตายทั่วโลก
  • ศาสตราจารย์ Emmanuela Gakidou แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิจัย เตือนว่าแม้คุณจะดื่มแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ
  • การดื่มแอลกอฮอล์ 1 ดื่มมาตรฐาน (10 กรัม) ต่อวันจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และวัณโรค 0.5% และเพิ่มเป็น 7% หากดื่มถึง 2 ดื่มมาตรฐานต่อวัน และ 37% สำหรับการดื่ม 5 ดื่มมาตรฐาน

หากคุณคิดว่าดื่มเหล้า ไวน์ หรือเบียร์เพียงปริมาณเล็กน้อย ร่างกายของคุณก็จะปลอดภัยหรือไม่เป็นอะไร นั่นคุณอาจคิดผิด เมื่อผลการวิจัยล่าสุดในสหรัฐฯ บ่งชี้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าปริมาณเท่าใดก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ

 

รายงานวิเคราะห์การดื่มแอลกอฮอล์และความเสี่ยงของโรคภัยต่างๆ ในปี 2016 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์รายสัปดาห์ The Lancet เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2018 เตือนว่า 1 ใน 3 ของประชากรโลกที่ดื่มแอลกอฮอล์พึงระวังเป็นพิเศษ เพราะแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดโรค ความทุพพลภาพ หรือการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในผู้ชายและผู้หญิงช่วงอายุ 15-49 ปี ในปี 2016 หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 10 ของสาเหตุการตายของคนทั่วโลก ขณะที่สถิติโดยเฉลี่ยบ่งชี้ว่า แอลกอฮอล์คร่าชีวิตชาย 7% และหญิง 2% ในทุกๆ ปี

 

รายงานระบุว่า เครื่องดื่มมึนเมามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของประชากรทุกช่วงวัยจำนวน 2.8 ล้านคนทั่วโลกในปี 2016 โดยที่การตายเหล่านั้นมาจากโรคมะเร็ง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคติดเชื้อ เช่น วัณโรค หรือถูกทำร้ายร่างกายโดยเจตนา, ฆ่าตัวตาย ตลอดจนอุบัติเหตุบนท้องถนน หรืออุบัติเหตุอื่นๆ ที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ เช่น จมน้ำ เป็นต้น

 

งานวิจัยของ The Lancet ซึ่งได้เงินทุนสนับสนุนจากมูลนิธิ Bill and Melinda Gates ได้ศึกษาข้อมูลในรายงาน Global Burden of Disease ปี 2016 ซึ่งรวบรวมสถิติการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและทุพพลภาพจากโรคภัยไข้เจ็บรวม 300 โรคใน 195 ประเทศและดินแดนในช่วงปี 1990-2016 จากนั้นได้มุ่งวิเคราะห์ไปที่ผลกระทบจากแอลกอฮอล์ที่มีต่อสุขภาพ รวมถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องต่อประชากรในช่วงอายุ 15-95 ปี ในปี 2016

 

สำหรับประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ทั้งทางตรงและทางอ้อมมากที่สุดในปี 2016 คือ จีน 709,886 คน ตามมาด้วยอินเดีย 331,575 และรัสเซีย 225,599 คน

 

ศาสตราจารย์ Emmanuela Gakidou แห่งสถาบัน Health Metrics and Evaluation มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงานวิจัยฉบับนี้ กล่าวว่า “ผลการศึกษาที่สร้างความประหลาดใจมากที่สุดก็คือ แม้คุณจะดื่มแอลกอฮอล์เพียงน้อยนิดก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เราเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า การดื่มแอลกอฮอล์วันละ 1 หรือ 2 ดื่มมาตรฐาน จะไม่เป็นอันตราย แต่หลักฐานก็คือหลักฐาน”

 

เมื่อดูจากจำนวนประชากรในแต่ละประเทศ จะเห็นว่าประเทศที่มีประชากรมากก็มีอัตราการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากแอลกอฮอล์สูงขึ้นตามไปด้วย โดยนอกจากจีน อินเดีย และรัสเซียแล้ว สหรัฐอเมริกาก็รั้งอันดับ 5 ประเทศที่มีประชากรเพศชายเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์มากที่สุดในโลก และอันดับ 7 หากวัดเฉพาะประชากรเพศหญิง

 

ขณะที่ Dr. Max Griswold อีกหนึ่งนักวิจัยจากสถาบัน Health Metrics and Evaluation กล่าวว่า “ด้วยหลักฐานที่เก็บรวบรวมได้มากที่สุดนับจนถึงปัจจุบัน เราพบความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาสุขภาพกับแอลกอฮอล์อย่างชัดเจน การดื่มเหล้าส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลกอย่างมากมายมหาศาล”

 

ส่วน Helen Stokes-Lampard ประธานกรรมการบริหารราชวิทยาลัย Royal College of General Practitioners ในสหราชอาณาจักร แสดงความเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาชิ้นนี้ว่า “เป็นเครื่องเตือนใจถึงอันตรายของแอลกอฮอล์ที่มีต่อสุขภาพของเรา ถึงคุณจะดื่มในปริมาณที่น้อยที่สุดก็เพิ่มความเสี่ยงต่อชีวิตคุณอยู่ดี”

 

สำหรับ 1 ดื่มมาตรฐานนั้น มีการกำหนดไว้ที่ปริมาณแอลกอฮอล์ 10 กรัมหรือประมาณ 12 มิลลิลิตร ซึ่งมีหลายประเทศยึดมาตรฐานตามนี้ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และออสเตรเลีย แต่หลายประเทศก็กำหนดปริมาณมาตรฐานต่ำกว่า เช่น สหราชอาณาจักรกำหนดไว้ที่ 8 กรัม ขณะที่หลายประเทศกำหนดไว้สูงกว่า เช่น สหรัฐฯ กำหนดไว้ 14 กรัม ส่วนญี่ปุ่นกำหนดไว้ที่ 19.75 กรัมต่อ 1 ดื่มมาตรฐาน

 

คณะนักวิจัยพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ 1 ดื่มมาตรฐานต่อวันจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และวัณโรค 0.5% และจะเพิ่มเป็น 7% หากดื่มถึง 2 ดื่มมาตรฐานต่อวัน และ 37% สำหรับการดื่ม 5 ดื่มมาตรฐาน

 

 

ควรงดเหล้าจริงหรือ?

David Spiegelhalter นักวิชาการอาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มองในมุมกลับกันว่า แม้ผลวิจัยจะบ่งชี้ว่าไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่ปลอดภัยสำหรับเรา แต่ก็ไม่ใช่ข้อถกเถียงให้งดดื่มเหล้าหรือแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด

 

“เพราะที่ผ่านมาก็ไม่มีการกำหนดระดับความปลอดภัยในการขับขี่ แต่รัฐบาลในหลายประเทศก็ไม่ได้แนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการขับรถ ลองคิดดูครับ ไม่มีระดับความปลอดภัยในการดำรงชีวิต แต่ก็ไม่มีใครแนะนำให้งดใช้ชีวิต”

 

แต่กระนั้น Dr. Tony Rao จิตแพทย์แห่งวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน มองในแง่ดีว่า ผลการศึกษาชิ้นนี้ช่วยไขความกระจ่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างสุขภาพกับแอลกอฮอล์

 

“ตอนนี้เรามีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า ไม่มีข้อจำกัดที่ปลอดภัยสำหรับแอลกอฮอล์เมื่อดูจากความเสี่ยงต่อสุขภาพโดยรวม” เขากล่าวทิ้งท้าย

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising