หมายเหตุ: เนื่องจากเป็นนิทรรศการที่จัดในห้องมืด ภาพที่ได้อาจมีนอยส์และไม่คมชัดเท่าที่ควร
หลังจากเปิดตัวเอดิชัน Ghost: 2561 ที่สร้างปรากฏการณ์ ‘ภูตผี’ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วในปี 2561 สามปีต่อมาซีรีส์ Ghost กลับมาอีกครั้งพร้อมกับเอดิชันที่สอง ‘Ghost 2565: อยู่ยังไงให้ไม่ตาย’ ซีรีส์นิทรรศการงานศิลป์ที่ว่าด้วยความผิดพลาดที่เกิดจากพื้นที่ เวลา และความเปลี่ยนแปลงของเมือง คัดเลือกผลงานโดย คริสตินา ลี ภัณฑารักษ์และนักเขียนที่ทำงานระหว่างฮ่องกงและอัมสเตอร์ดัม
ชื่อซีรีส์ ‘อยู่ยังไงให้ไม่ตาย’ แปลมาจากประโยคในภาษาฝรั่งเศส ‘Vivre sans temps mort’ ซึ่งถูกพ่นอยู่บนกำแพงมหาวิทยาลัยซอร์บอร์น ท่ามกลางสถานการณ์การประท้วงต่อการสมานฉันท์ไปกับทุนนิยมที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2511 ในปารีส
และคริสตินา ลี ภัณฑารักษ์ของเอดิชันนี้ ได้หยิบยกผลงานหลากหลายของศิลปินมากมายมาสะท้อนเรื่องราวให้เข้ากับบริบทของกรุงเทพฯ เมืองที่ทัศนียภาพเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา จนส่งผลให้เกิดความตึงเครียดของผู้คน และผลที่ตามมาเป็นช่องว่างระหว่างร่างกายและสถานที่ที่ไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อน
นิทรรศการยังได้ชี้ชวนให้ผู้ชมเห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ขัดแย้งกันของเมืองที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ จากสิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ จนกลายเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากพื้นที่และเวลาที่ไม่สอดคล้องกัน สถานที่ที่ทุกคนไม่ว่าจะเชื่อมต่อกันด้วยวาระอะไรก็ตามล้วนเป็นอุปสรรคที่ต้องเผชิญ
Ghost 2565: อยู่ยังไงไม่ให้ตาย แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน คือ ผลงานภาพเคลื่อนไหว และผลงานภาพยนตร์จัดวางใหม่ ผ่านหอศิลป์ต่างๆ ในกรุงเทพฯ กับอีกส่วนเป็นงานแสดงสดที่มีตั้งแต่การพาเยี่ยมชมย่านพร้อมงานศิลปิน ไปจนถึงมื้ออาหารค่ำ และการแสดงดนตรีสด ที่เป็นมากกว่ามื้ออาหารธรรมดา
Ghost 2565: อยู่ยังไงให้ไม่ตาย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 ตุลาคม – 13 พฤศจิกายน 2565 ใครที่อยากจะมาสัมผัสกับการตีความของกรุงเทพฯ ที่สะท้อนผ่านมุมมองของศิลปะ สามารถติดตามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ghost2565.com/th/program/concept ส่วนภาพบรรยากาศที่เรานำมาฝากนั้นเป็นภาพชิ้นงานจาก Shen Xin และ James Richards ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ The Jim Thompson Art Center
ภาพ: พลอยจันทร์ สุขคง