บมจ.โกลบอลกรีน เปิดแผนรุกธุรกิจ Food Ingredients & Pharmaceutical พร้อมขยายธุรกิจเข้าเสริมอาหารเพื่อสุขภาพ หวังปั้นสัดส่วน EBITDA ในปี 2569 เพิ่มแตะ 10%
กฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บมจ.โกลบอลกรีน หรือ GGC กล่าวว่า แผนธุรกิจปี 2567 ของบริษัทจะอยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ The New Chapter of GGC to be the Sustainable Growth Business : Execution for Success จะเน้นการลงทุนขยายใน 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ (BioEnergy Business), ธุรกิจเคมีชีวภาพ (Bio Chemical Business) ซึ่งเป็น 2 ธุรกิจหลักเดิมของบริษัท ล่าสุดขยายธุรกิจเจาะตลาดธุรกิจใหม่คือ Food Ingredients & Pharmaceutical ซึ่งจะเน้นให้ความสำคัญมากขึ้น โดยมีแผนดังนี้
ธุรกิจ BioEnergy Business
โดยจะเป็นความร่วมมือกันระหว่างกันในกลุ่มทั้ง บมจ.ปตท. (PTT), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาโครงการและความเป็นไปได้ของโครงการด้านต่างๆ เช่น ด้านตลาด, เทคโนโลยี การผลักดันด้านนโยบาย และการสร้างความร่วมมือกับสายการบิน โดยมี 3 โครงการ ดังนี้
- โครงการน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ: ปัจจุบันได้ศึกษาความเป็นไปได้และดำเนินการปรับปรุงโรงงานเพื่อนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ผลิตเป็นน้ำมันอากาศยานชีวภาพ โดยคาดว่าจะดำเนินการระยะที่ 1 แล้วเสร็จ และดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2568
- โครงการ ATJ: เป็นการศึกษาแผนการลงทุนในการต่อยอดผลิตภัณฑ์เอทานอลเพื่อผลิตเป็นน้ำมันอากาศยานชีวภาพ โดยมีแผนที่จะดำเนินการภายในปี 2573
- โครงการ Green Methanol: เป็นการศึกษาเพื่อต่อยอด และขยายปลายทางธุรกิจไปสู่ตลาด Marine Biofuel และเพื่อตอบสนองต่อแผนกลยุทธ์ Decarbonization
ธุรกิจเคมีชีวภาพ (Bio Chemical Business)
- ธุรกิจ FA, Oleochemical Specialty & Derivative อยู่ระหว่างการขยายธุรกิจ เพื่อให้ได้ผลผลิต Oleochemicals ที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์สีเขียว ผ่านพันธมิตร
ธุรกิจ Food Ingredients & Pharmaceutical
- เน้นธุรกิจกลุ่ม Food Ingredients & Pharmaceutical
- เน้นเป็น Brand Owner โดยดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ผลิต และจัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Food Ingredients & Pharmaceutical
โดยล่าสุดกลุ่ม Food Ingredients & Pharmaceutical บริษัทได้ขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดธุรกิจเสริมอาหารเพื่อสุขภาพ เปิดตัวแบรนด์ ‘Nutralist’ เพราะผลิตภัณฑ์นี้ตลาดมีความต้องการสูง โดยตั้งเป้าธุรกิจกลุ่ม Food Ingredients & Pharmaceutical ในปี 2569 จะมีสัดส่วนที่ประมาณ 10% ของกำไรก่อนภาษี ค่าเสื่อม และดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA) หรือประมาณ 300 ล้านบาท จากเป้าหมาย EBITDA รวมอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายสัดส่วนของ EBITDA ในปี 2573 จะมาจากธุรกิจกลุ่ม Food Ingredients & Pharmaceutical เพิ่มเป็น 20% ของ EBITDA รวม
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของ GGC แบรนด์ ‘Nutralist’
เนื่องจากบริษัทเห็นโอกาสว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความต้องการที่สูง โดยเฉพาะตลาดของผู้บริโภคที่รักสุขภาพในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มธุรกิจมาช่วยผลักดันให้ธุรกิจของ GGC เติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนในอนาคต พร้อมตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจกลุ่ม Food Ingredients & Pharmaceutical จะมีสัดส่วนที่ประมาณ 10% ของกำไรก่อนภาษี ค่าเสื่อม และดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA) หรือประมาณ 300 ล้านบาท ในปี 2569 จากเป้าหมาย EBITDA รวมอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายสัดส่วนของ EBITDA ของปี 2573 จะมาจากธุรกิจกลุ่ม Food Ingredients & Pharmaceutical เพิ่มเป็น 20% ของ EBITDA รวม
คาดราคา B100 ปี 67 ทรงตัว
ส่วนแนวโน้มภาพผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทในปี 2567 ในกลุ่มเมทิลเอสเทอร์ หรือ B100 คาดว่าจะมีราคาปีนี้ทรงตัวจากปี 2566 เนื่องจากภาครัฐบาลยังคงมีนโยบายสนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซล B7 ที่ใช้เมทิลเอสเทอร์เป็นส่วนผสม ขณะที่ดีมานด์การใช้ยังปรับตัวดีขึ้น เพราะได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว แม้ในด้านซัพพลายยังสูงกว่าความต้องการในตลาดประมาณ 50-60% ทำให้มีภาพการแข่งขันที่สูง ดังนั้นบริษัทได้ทำสัญญาขายระยะยาวล่วงหน้าเพื่อให้สามารถวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
ส่วนผลิตภัณฑ์แฟตตี้แอลกอฮอล์ ประเมินว่าดีมานด์จะไม่ลดลง แม้จะได้รับผลกระทบจากตลาดจีนจากปัญหาเศรษฐกิจภายในของจีนที่ชะลอตัว แต่บริษัทก็ได้ขยายไปสู่ตลาดใหม่ๆ มีโอกาสเติบโตเพื่อลดความเสี่ยง เช่น อินเดีย ทำให้คาดว่าปริมาณขายแฟตตี้แอลกอฮอล์ในปี 2567 จะสามารถเติบโตขึ้นได้จากปี 2566
คดีวัตถุดิบหายเหลือ 1 คดีในศาลฎีกา
“ส่วนความคืบหน้าคดีวัตถุดิบคงคลังของบริษัทสูญหายมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาทที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในปี 2561 ปัจจุบันมีคดีที่ถึงที่สุดไปแล้วหลายคดี ซึ่งบริษัทชนะทุกคดี มีคดีเดียวที่อยู่ในขั้นตอนของของศาลฎีกา แต่ในส่วนผลกระทบต่องบการเงินจะไม่มีเกิดขึ้นอีก เพราะบริษัทได้ตั้งสำรองไว้ทั้งหมดแล้ว” กฤษฎากล่าว
คาด EBITDA ปี 67 ใกล้เคียงปี 66 ที่ 800 ล้าน
ด้าน จิตศักดิ์ สุนทรพันธุ์ ผู้จัดการฝ่าย หน่วยงานการเงินและบัญชี บมจ.โกลบอลกรีน กล่าวว่า คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษา EBITDA ในปี 2567 ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงปี 2566 ทำได้ประมาณ 800 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในทั้งปี 2567 ในส่วนของ Bottom Line หรือกำไรสุทธิจะสามารถพลิกมาเป็นบวกได้หรือไม่นั้น จากปี 2566 ที่มีผลการขาดทุนสุทธิจำนวน 262 ล้านบาท ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน เพราะมีหลายปัจจัย เช่น ผลการขาดทุนจากสต็อก (Stock Loss) รวมถึงการรับรู้ส่วนแบ่งผลกำไรหรือขาดทุนจากบริษัทร่วมทุนซึ่งต้องติดตามสถานการณ์นี้ต่อไป
ขณะที่แหล่งเงินลงทุนในปีนี้บริษัทมีศักยภาพสามารถลงทุนได้ถึงประมาณ 5 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินสดภายในบริษัท ณ สิ้นปี 2566 ที่มีประมาณ 3 พันล้านบาท และมีวงเงินกู้จากธนาคารกรุงไทย ซึ่งให้การสนับสนุนสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan: SLL) ระยะยาวกับ GGC จำนวน 2 พันล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ของบริษัท