×

รู้จัก ‘XPENG’ แบรนด์ที่ออกมาประกาศหั่นราคารถยนต์ไฟฟ้า 5 แสนบาท ท้าชน Tesla-BYD และกำลังจะเข้ามาบุกตลาด EV ไทย

21.03.2024
  • LOADING...
แบรนด์ รถยนต์ไฟฟ้า ที่ออกมาหั่น ราคา 5 แสนบาท

ไม่ว่าเศรษฐกิจจะซบเซา กำลังซื้อลดลงแค่ไหน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยปี 2024 ยังคงเห็นข่าวคราว EV จีนเข้ามาบุกตลาดในไทยไม่หยุด! หลังจากมีผู้เล่นใหญ่ๆ อย่าง BYD, SAIC, MG, Great Wall Motor, NIO, Geely, Chery, DFSK, Changan และ GAC AION มียอดจำหน่ายเติบโตต่อเนื่อง อีกทั้งหลายแบรนด์ยังมีสายพานผลิตในไทยกันแล้วด้วย

 

ล่าสุด ปตท. เป็นตัวแทนจำหน่าย 2 แบรนด์ผ่าน ARUN PLUS บริษัทลูกของ ปตท. โดยตั้งบริษัท X Mobility Plus เป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ ‘XPENG’ ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ถือหุ้นร้อยละ 100 ผ่านบริษัทนีโอ โมบิลิตี้ เอเชีย จำกัด (Neo Mobility Asia) (บริษัทย่อยของ ARUN PLUS) และ Ze Mobility Plus ตัวแทนจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ ZEEKR 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

XPENG หรือเรียกกันว่า เสี่ยวเผิง เป็นบริษัทสตาร์ทอัพจีนซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2014 จุดเริ่มต้นมาจาก He Xiaopeng ซีอีโอและประธานบริษัท ได้ผันตัวเองจากโปรแกรมเมอร์ฝีมือดีที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างเว็บเบราว์เซอร์ UC Web เมื่อปี 2004 และขายให้กับ Alibaba ในอีก 10 ปีต่อมา ด้วยมูลค่าสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

การเป็นมหาเศรษฐี ณ เวลานั้นได้จุดประกายความฝันใหม่ที่ใหญ่มากๆ ให้กับเขา นั่นคือการปฏิวัติวงการยานยนต์ในจีนโดยมี Tesla เป็นแรงบันดาลใจ เขาให้ความสำคัญกับงานวิจัยเป็นอย่างมาก เพื่อสร้างสิ่งที่ดีที่สุดแก่ผู้ขับขี่ และไม่ใช่แค่ยานยนต์ แต่ XPENG ยังจำหน่ายชิ้นส่วนรถ EV พร้อมพัฒนาซอฟต์แวร์ของตัวเองได้สำเร็จอีกด้วย

 

ขณะนี้เขากำลังมองหาส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่ขึ้น (Mass Market) ด้วยการเปิดตัวแบรนด์ EV ราคาไม่แพงท่ามกลางสงครามราคาตลาด EV จีน ซึ่งมีเป้าหมายทำให้บริษัทเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้เล่นแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจาก BYD ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรม 

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา XPENG เตรียมที่จะเปิดตัวแบรนด์ EV ใหม่ของบริษัท โดยเน้นราคาถูก ด้วยคอนเซปต์ของแบรนด์คือรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ AI คันแรกของหนุ่มสาว ถือเป็นการเปิดตัวแบรนด์ที่มีราคาต่ำลงถึง 50% และเพื่อต่อสู้กับตลาด EV ที่ชะลอตัวในจีน 

 

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า XPENG ได้ประกาศว่าจะเปิดตัวแบรนด์ลูกที่เน้นทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการแข่งขันของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจีนนั้นยังคงสูง

 

Xiaopeng กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมเปิดตัวแบรนด์ลูกที่เน้นลงมาเล่นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกโดยเฉพาะ ซึ่งมีราคาเริ่มต้นราว 1 แสนหยวน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 5 แสนบาท โดยวางคอนเซปต์รถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยระบบ AI คันแรกสำหรับหนุ่มสาว และตั้งราคาแต่ละรุ่นแตกต่างกันไป

 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ XPENG ต้องเลือกใช้กลยุทธ์ในการออกแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าราคาถูก ทั้งๆ ที่ปกติแล้วบริษัทขายรถยนต์ไฟฟ้าที่เน้นจับกลุ่มลูกค้าระดับกลางค่อนบนในราคาเริ่มต้นที่ 2 แสนหยวนเป็นต้นไปนั้น เนื่องจากบรรดาแบรนด์ยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง BYD และ Tesla ได้เริ่มทำสงครามราคาอีกรอบในขณะนี้

 

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาผู้ผลิต EV จากจีนต้องต่อสู้อย่างดุเดือดเพื่อที่จะทำให้ยอดขายของบริษัทเติบโต จึงเห็นการลดราคากันลงมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

เนื่องจากหากดูตัวเลขยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนล่าสุดช่วง 2 เดือนแรกของจีนในปี 2024 นั้นอัตราการเติบโตลดลงมาเหลือ 18.2% เมื่อเทียบกับปี 2023 ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ‘ลดลง’ อย่างมาก ส่งผลให้แบรนด์ EV จีนต้องเร่งหาวิธีที่จะทำให้บริษัทสามารถขายรถยนต์ได้มากที่สุด โดยหลายแบรนด์พยายามหาน่านน้ำใหม่ๆ ในตลาดอื่นๆ

 

ไทยยังคงเป็นจุดหมายของ EV จีน  

 

ด้วยยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2023 อยู่ที่ 76,000 คัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 695.9 จากปีก่อนหน้า หากพิจารณายี่ห้อรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่ที่เพิ่มขึ้นล้วนเป็นแบรนด์จีน ได้แก่ BYD (สัญชาติจีน) 30,467 คัน, NETA (สัญชาติจีน) 12,777 คัน, MG (สัญชาติจีน) 12,462 คัน, Tesla (สัญชาติอเมริกัน) 8,206 คัน และ GWM (Ora) (สัญชาติจีน) 6,746 คัน

 

โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนคัน จากมาตรการกระตุ้นอุปสงค์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศของรัฐบาลภายใต้มาตรการ EV3.0 และ EV3.5 อย่างไรก็ดี นอกจากนำเข้า ปัจจัยหลักๆ มาจากการกำหนดสัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อชดเชยการนำเข้า ได้แก่ อัตราส่วน 1:1 ในปี 2024 (นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน ต่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 1 คัน) และอัตราส่วน 1:1.5 ในปี 2025 (นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน ต่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 1.5 คัน) ซึ่งหากกำลังการผลิตของโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติต่างๆ สามารถผลิตได้ตามเงื่อนไข จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนไฟฟ้าที่สำคัญของโลกได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X