×

ทำงานจนงง มงลงที่ใคร? ชวนรู้จัก ‘Tiara Syndrome’ เพราะยุคนี้ขยันอย่างเดียวอาจไม่พอ

18.01.2024
  • LOADING...

ขึ้นชื่อว่า ‘มงกุฎ’ ใครก็อยากได้โอกาสลองสวมใส่ทั้งนั้น ต่อให้จะเป็นของทำกันเล่นๆ ใส่สนุกๆ ในงานปาร์ตี้ก็ตาม เพราะมันเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงสถานะความเป็นคนพิเศษของเรา แต่การจะได้มาซึ่งมงกุฎนั้นก็ไม่ได้ง่ายเสมอไป โดยเฉพาะในที่ทำงาน

 

หนึ่งในปัญหาคลาสสิกตลอดกาลของโลกคนทำงานคือเรื่องของรางวัลตอบแทนการทำงาน ที่แม้ทุกคน (หรือเกือบทุกคน) จะเคยเชื่อว่าการขยันทุ่มเททำงานหนักนั้นแปลว่าจะต้องได้รางวัลตอบแทนที่ปรารถนา เช่น การเลื่อนตำแหน่ง หรือการได้รับบทบาทสำคัญที่มีความหมายและคุณค่าต่อจิตใจ แต่โลกใบนี้มันก็ไม่ได้ซื่อตรงกับเราขนาดนั้น

 

ความจริงอันโหดร้ายคือ คนขยันที่สุดไม่ได้แปลว่าจะเป็นคนที่มีคนมองเห็นคุณค่ามากที่สุด และการถูกมองข้ามนั้นเจ็บปวดยิ่งกว่าอะไร

 

สภาวะเช่นนี้เรียกว่า ‘Tiara Syndrome’ หรือ ‘Tiara Effect Trap’ ซึ่งเป็นคำที่ได้รับการนิยามโดย แคโรล โฟรห์ลิงเกอร์ และเดโบราห์ คอล์บ ก่อนที่เชอรีล แซนด์เบิร์ก จะนำมาใช้ในหนังสือ ‘Lean In’ เพื่อบรรยายถึงหญิงสาวผู้ขยันขันแข็งก้มหน้าก้มตาทำงาน ตระเตรียมทุกอย่างอย่างดีเกินไป และผ่านบททดสอบทุกอย่าง ด้วยความฝันว่าจะได้สวมมงกุฎสักวัน

 

แต่หากจะให้อธิบายกันอย่างง่ายๆ คือ สภาวะของคนขยันที่เชื่อว่าการทำงานหนักจะนำมาซึ่งการได้รับการโปรโมตตำแหน่ง หรือได้ค่าตอบแทนความพยายามที่สมน้ำสมเนื้อ ซึ่งในสังคมการทำงานแล้ว คนที่ตกอยู่ในสภาวะนี้ส่วนใหญ่คือผู้หญิงที่ต้องพยายามอย่างหนักในการพิสูจน์คุณค่าของตัวเองกับบรรดาเพื่อนร่วมงานชาย 

 

ถึงแม้ยุคนี้จะบอกว่าทุกอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในหลายที่ทำงานก็ยังคงมี ‘ช่องว่าง’ ระหว่างค่าตอบแทน ไปจนถึงเรื่องของตำแหน่งการทำงานที่ยิ่งสูงยิ่งมีน้อย และส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นผู้ชายที่ได้ตำแหน่งระดับสูงไปมากกว่า น้อยที่ผู้หญิงจะได้ตำแหน่งในระดับสูง

 

ดังนั้นต่อให้ทำงานจนงง สุดท้ายมง(กุฎ)ไปลงที่ใครก็ไม่รู้ คือเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยๆ บนสเตตัสในโซเชียลมีเดีย

 

แบบนี้แปลว่าเราไม่สมควรจะขยันหรือเปล่า? คิดแบบนั้นถือว่าผิด เพราะการขยัน ทุ่มเทการทำงานอย่างดีที่สุดคือพื้นฐานสำคัญของการทำงานอยู่แล้ว นอกจากจะเป็นเรื่องของข้อตกลงในการทำงานให้แก่บริษัท การทำงานออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก็เป็นการเพิ่มคุณค่าในตัวเอง อย่างน้อยก็ภูมิใจในการทำงานของตัวเอง และสามารถเก็บตัวอย่างผลงานไว้ใช้สำหรับอนาคตได้หากคิดว่าต้องการโยกย้ายบริษัทใหม่

 

แต่สิ่งที่อาจต้องทำเพิ่มขึ้นมาโดยเฉพาะในยุคนี้คือการ ‘หาแสง’ ให้ตัวเองอย่างถูกวิธี 

 

บอกให้หาแสงแบบนี้ไม่ได้หมายถึงการสร้างเรื่องหรือเป็นข่าวให้วุ่นวาย ความจริงก็แค่การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า เจ้านาย และพยายามแสดงศักยภาพในตัวเองออกมาเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม เช่น ในระหว่างการประชุม หรือแม้กระทั่งในช่วงของการ Networking พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ก็เป็นโอกาสที่จะ ‘ปล่อยของ’ ที่มีในตัวออกมา (แต่ของต้องดีด้วยนะ!)

 

เรื่องของการ ‘ผูกมิตร’ ก็เป็นศิลปะแบบหนึ่ง เพราะในโลกของการทำงานไม่มีใครรู้ว่าใครคิดอย่างไรกับเรา จึงต้องรักษาความสมดุลไม่ให้ระยะห่างความสัมพันธ์ในที่ทำงานมากไปและน้อยไป 

 

สิ่งเหล่านี้มันอาจยากยิ่งกว่าการทำงานสำหรับคนที่ชอบเก็บตัวอย่าง ‘อินโทรเวิร์ต’ ที่จะต้องพูดคุยกับคนที่ไม่ได้พูดคุยด้วย แต่หากมองว่าเรื่องแบบนี้คือ ‘ชาเลนจ์’ ในการทำงาน ก็อาจทำใจได้ดีขึ้น

 

จากอดีตที่พ่อเฒ่าแม่เฒ่าเคยสอนว่า ‘ทำดีต้องได้ดี’ เราอาจปรับแนวคิดใหม่ให้ชีวิตก้าวหน้าด้วยการบอกตัวเองว่า ‘ทำดีต้องได้เห็น’

 

มงจะลงที่ใครไม่รู้ แต่ขอลุ้นติดรอบสูงๆ บ้างก็ยังดี จริงไหม

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X