ท่ามกลางเสียงติชมมากมายของซีรีส์ Money Heist: Korea – Joint Economic Area ที่ลงพาร์ตแรกทั้ง 6 ตอนให้รับชมกันไปทาง Netflix ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่เวอร์ชันเกาหลีดึงความสนใจได้ดีคือการนำประเด็นการรวมชาติของเกาหลีเหนือ-ใต้มาดัดแปลง เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้แน่ๆ
ในซีรีส์เองก็เพิ่งอยู่ในช่วงทดลองสร้างเขตเศรษฐกิจร่วม JEA (Joint Economic Area) โดยเลือกให้วันที่ 4 ตุลาคมเป็นวันประกาศความร่วมมือระหว่างเหนือ-ใต้ (ตรงกับวันจริงของการประชุมสุดยอดครั้งที่ 2 ระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือ คิมจองอึน กับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ โนมูฮยอน) มีการสร้างโรงกษาปณ์เป็นหน่วยงานราชการแรกที่ทั้งเหนือ-ใต้ทำงานร่วมกัน และแน่นอนว่าต้องผลิตสกุลเงินใหม่มาใช้ร่วมกันอีกด้วย
ธนบัตรจึงเป็นอีกกิมมิกสำคัญ ทีมผู้สร้างเผยว่าก่อนหน้านี้มีการออกแบบไว้หลายเวอร์ชันจากสิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมเหนือ-ใต้ เช่น เกาะทกโด ภูเขาแพ็กดู ภูเขาฮัลลา ฯลฯ แต่พวกเขาคิดว่า ถ้าหากเกาหลีรวมเป็นหนึ่งเดียวแล้วจะออกธนบัตร 100,000 วอน บุคคลที่น่าจะได้รับการพิจารณามากที่สุดน่าจะเป็นผู้คนที่สละชีพเพื่อชาติ เช่น ยูกวานซุน ซึ่งพวกเขาเองก็แฝงความหมายที่อยากจะบอกให้คนต่างชาติได้รับรู้กัน
ผลสุดท้ายบุคคล 3 คนบนธนบัตรและโถงในโรงกษาปณ์จากที่เราเห็นในซีรีส์คือ จูชีกยอง, อันจุงกึน และ ยูกวานซุน วีรชนผู้ได้รับการยกย่องว่ามีบทบาทสำคัญต่อการปกป้องชนชาติเกาหลีไว้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในเวลานั้นกษัตริย์และราชสำนักอยู่ในสภาวะไร้อำนาจต่อกรกับชาติอื่นที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ จนกระทั่งญี่ปุ่นสามารถเข้าควบคุมการเมืองการปกครองได้อย่างเบ็ดเสร็จ และพยายามลบล้างอัตลักษณ์ของเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการศึกษา หนังสือพิมพ์ เพลงชาติ ธงชาติ ฯลฯ แม้ไร้หนทางสู้แค่ไหน แต่ชาวเกาหลีก็ออกมาเรียกร้องและลงมือทำอะไรหลายอย่างครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อแสดงออกว่าไม่ยอมจำนนต่อการถูกกดขี่อีกต่อไป
📍จูชีกยอง (1876-1914) ปรากฏบนธนบัตร 10,000 วอน
“เมื่อภาษารุ่งเรือง ประเทศก็รุ่งเรือง เมื่อภาษาล่มสลาย ประเทศก็ล่มสลาย”
จูชีกยองเป็นนักภาษาศาสตร์ผู้มีอุดมการณ์ชาตินิยม เขาเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมภาษาเกาหลี อุทิศตนให้กับการวิจัยจัดระบบระเบียบภาษาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่งเสริมให้คนตระหนักรู้ถึงคุณค่าของภาษาอันเป็นรากเหง้าที่สำคัญของประเทศตนเอง และยังเป็นผู้บัญญัติชื่อของระบบเขียนภาษาเกาหลีซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ว่า ‘ฮันกึล’ แทนคำว่า ‘ฮุนมินจองอึม’ ของพระเจ้าเซจงมหาราช
เขาเป็นหนึ่งในนักเขียนของ ทงนิบชินมุน (The Independent) หนังสือพิมพ์ภาษาเกาหลีล้วนฉบับแรกที่จัดทำขึ้นเพื่อให้คนทุกชนชั้นสามารถอ่านความเป็นไปในบ้านเมืองได้อย่างกว้างขวาง ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะชนชั้นขุนนางหรือผู้มีการศึกษาเท่านั้น นับว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลผู้มีคุณูปการในห้วงเวลาที่ภาษาและวัฒนธรรมของคนในชาติถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น
จูชีกยอง (1876-1914)
📍อันจุงกึน (1879-1910) ปรากฏบนธนบัตร 50,000 วอน
เมื่อกล่าวถึงอันจุงกึน มิชชันนารีผู้สละทุกอย่างเพื่อต่อต้านการครอบงำจากญี่ปุ่น ก็ต้องกล่าวถึง อิโต ฮิโรบุมิ รัฐบุรุษผู้น่ายกย่องของญี่ปุ่นในยุคเมจิ เพราะสำหรับชาวเกาหลีแล้วเขาคือผู้ตรวจราชการที่มีบทบาทเลวร้ายภายในเกาหลี จนนำไปสู่การวางแผนลอบสังหาร โดยอันจุงกึนเป็นคนลั่นไกยิงอิโต ฮิโรบุมิ ได้สำเร็จในปี 1909 ก่อนจะถูกจับกุมและส่งตัวให้ทางการญี่ปุ่น
เขากล่าวถึงแรงจูงใจไว้ถึง 15 ข้อ เช่น อิโตเป็นผู้ลอบสังหารจักรพรรดินีมยองซอง, สังหารชาวเกาหลีผู้บริสุทธิ์, บังคับให้เกาหลีทำสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม 14 ฉบับ, บังคับใช้ธนบัตรญี่ปุ่น, ขัดขวางไม่ให้ชาวเกาหลีได้รับการศึกษา ฯลฯ เขาคิดว่าการสังหารอิโตจะช่วยหยุดยั้งความสูญเสียได้ เพราะนโยบายของญี่ปุ่นไม่เพียงแต่ทำร้ายเกาหลีเท่านั้น แต่จะลุกลามจนนำไปสู่สงครามครั้งใหญ่ภายในเอเชียตะวันออกด้วย สุดท้ายแม้ว่าอันจุงกึนถูกประหารชีวิตในปี 1910 เวลาไม่นานก่อนญี่ปุ่นจะเข้าปกครองได้สำเร็จ แต่การต่อสู้ของเขาก็เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายใหญ่ที่ปลุกให้ผู้คนยังไม่ยอมแพ้ต่อการทวงคืนอิสรภาพ
อันจุงกึน (1879-1910)
📍ยูกวานซุน (1902-1920) ปรากฏบนธนบัตร 100,000 วอน
ยูกวานซุนเกิดในครอบครัวชาวคริสเตียนพร้อมอุดมการณ์รักชาติแรงกล้า พ่อของเธอสนับสนุนให้เธอได้เข้าเรียนโรงเรียนสตรีอีฮวา ซึ่งในยุคนั้นไม่ใช่เรื่องปกตินักที่ผู้หญิงจะได้รับการศึกษาทัดเทียมผู้ชาย ในวันที่ 1 มีนาคม 1919 ยูกวานซุนกับเพื่อนร่วมชั้นเข้าร่วมขบวนประท้วงเรียกร้องเอกราชจากญี่ปุ่น ขบวนในวันนั้นมีชื่อเรียกว่า ‘การเคลื่อนไหว 3.1’ และกลายมาเป็นวันแห่งอิสรภาพของเกาหลีในปัจจุบัน
หลังจากรัฐบาลสั่งปิดโรงเรียนเพื่อปราบปรามการประท้วง เธอเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อเผยแพร่เรื่องราวการเคลื่อนไหวให้ผู้คนรับรู้ จนเกิดการชุมนุมอย่างสงบโดยมีผู้เข้าร่วมราว 3,000 คน แต่ทหารตำรวจญี่ปุ่นกลับเปิดฉากยิงประชาชนรวมถึงพ่อแม่ของเธอจนถึงแก่ความตาย ส่วนเธอถูกจับขังคุก กระนั้นก็ไม่ยอมซัดทอดชื่อคนอื่นเพื่อขอลดโทษแต่อย่างใด ก่อนจะเสียชีวิตลงจากการถูกทรมานและขาดสารอาหารในวัยไม่ถึง 18 ปี เด็กสาวทิ้งข้อความที่ตอกย้ำเจตจำนงของตัวเองว่า
“แม้เล็บของฉันถูกลอกหลุด จมูกและหูของฉันถูกตัดขาด ขาและแขนของฉันถูกบิดงอ ฉันก็เอาชนะความเจ็บปวดเหล่านั้นได้ มีเพียงความเจ็บปวดของการสูญเสียประเทศเท่านั้นที่ฉันไม่อาจอดทนได้”
ยูกวานซุน (1902-1920)
35 ปีภายใต้การปกครองของจักวรรดิญี่ปุ่นทำให้ชนชาติเกาหลีเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์บาดแผลที่ยังฝังลึกไม่หาย ใน Money Heist: Korea ก็ไม่ลืมจิกกัดแสบๆ ด้วยเหตุผลในการเลือกชื่อของ โตเกียว (รับบทโดย จอนจงซอ) ว่า “เพราะเรากำลังจะทำเรื่องชั่วๆ กันไง” แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักของเรื่องอยู่ที่การวิพากษ์ระบบทุนนิยมในประเทศของพวกเขาเอง ศาสตราจารย์ (ยูจีแท) หวังให้การปล้นครั้งนี้ถูกจารึกว่าเป็นการ ‘ปฏิวัติ’ เพื่อเอาคืนความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ซึ่งต้นสายปลายเหตุมาจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ เมื่อรวมกับภาพของวีรชนในช่วงเวลาดังกล่าวที่เป็นสัญลักษณ์ของสำนึกความรักชาติ และความเป็นปึกแผ่นเดียวกันจึงดูสร้างความขัดแย้งได้น่าตลกร้ายดี เหมือนอย่างที่พาร์ตแรกของซีรีส์แสดงให้เห็นว่ารอยแยกความเป็นพวกเรา-พวกเขาระหว่างทั้งสองฝั่งยังไม่อาจมาสมานรวมกันได้ง่ายๆ เท่าไรนัก
ภาพ: Netflix
อ้างอิง: