ข่าวการเตรียมเสนอขายหุ้น IPO เพื่อเข้า mai ในไตรมาส 2 ปี 2567 ของบริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ‘MAGURO’ ผู้นำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นและเกาหลี 3 แบรนด์ดัง MAGURO, SSAMTHING TOGETHER และ HITORI SHABU ทำให้นึกถึงกฎเหล็กการลงทุนของ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดตลอดกาล ที่ว่า ‘Only buy stock that you understand’ เลือกลงทุนในธุรกิจที่คุณมีความเข้าใจ
‘ธุรกิจร้านอาหาร’ ดูเหมือนจะเป็นธุรกิจที่เข้าใจง่าย แค่อาหารอร่อย บริการดี ทำการตลาดเก่ง ก็โกยกำไรได้ไม่ยาก จึงเป็นตลาดที่ใครก็เข้าได้ แต่ก็ออกง่ายเช่นกัน การแข่งขันที่ดุเดือดของอุตสาหกรรมนี้ล้มเซียนมาแล้วนักต่อนัก
การลงทุนในธุรกิจอาหารแค่ความเข้าใจไม่พอ ต้อง ‘Invest by facts not emotions’ ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงและข้อมูลมากกว่าอารมณ์ความรู้สึก อีกหนึ่งกฎเหล็กที่ปู่วอร์เรนบอกไว้
รู้จัก ‘MAGURO’
MAGURO ก่อตั้งธุรกิจในปี 2558 โดยกลุ่มเพื่อน 4 คน (เอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง, รณกาจ ชินสำราญ, ชัชรัสย์ ศรีอรุณ และ จักรกฤติ สายสมบูรณ์) ร่วมกันเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นในชื่อ MAGURO สาขาแรกที่ชิค รีพับบลิค บางนา ชูเอกลักษณ์โดดเด่น ‘ซูชิที่เต็มอิ่มทุกสัมผัส’ (Sensual Sushi) ด้วยคุณภาพวัตถุดิบชั้นเยี่ยมและบริการที่ใส่ใจขั้นกว่า สร้างปรากฏการณ์ร้านอาหารญี่ปุ่นคุณภาพพรีเมียมที่คิวยาวเป็นชั่วโมง และเป็นกระแสตั้งแต่วันแรก ภายใต้ปรัชญา ‘Give More’ การให้มากกว่าที่ขอ
หนึ่งปีหลังจากนั้น MAGURO เปิดเพิ่มอีก 3 สาขา และในปี 2560 เปิดร้านแฟลกชิปครั้งแรกที่เมกาบางนา เป็นสาขาที่ 5 ก่อนจะเปิดเพิ่มอีก 4 สาขาในช่วงปี 2561-2563
ปี 2563-2564 ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ภาครัฐประกาศห้ามร้านอาหารและห้างร้านเปิดให้บริการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารโดยตรง MAGURO ได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการเปิดตัวบริการ MAGURO GO เจาะตลาดเดลิเวอรี ส่งมอบประสบการณ์ความอร่อยตำรับ MAGURO ถึงบ้าน เพื่อสร้างรายได้ทดแทนรายได้จากร้านอาหาร ซึ่งทำให้บริษัทฯ ยังมีกำไรสุทธิในปี 2564 และหลังจากนั้นบริษัทได้เปิดตัวแบรนด์ ‘SSAMTHING TOGETHER’ ปิ้งย่างเกาหลีพรีเมียมในรูปแบบเดลิเวอรีเช่นกัน
‘SSAMTHING TOGETHER’ ปิ้งย่างเกาหลีพรีเมียม
ปี 2564 ก้าวสู่ปีที่ 6 ด้วยการเปิดแฟลกชิปสาขาเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมกับการรีแบรนดิ้งให้ดูพรีเมียมและทันสมัยขึ้น เพื่อจับลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังต่อยอด ‘SSAMTHING TOGETHER’ ด้วยการเปิดสาขาแรกที่เมกาบางนา นอกจากนั้น บริษัทฯ ได้ผนึกกำลังกับกลุ่มทุนสถาบันชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย เพื่อให้บริษัทต่อยอดและขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
‘HITORI SHABU’ ชาบูชาบูและสุกี้ยากี้
ปี 2565 เปิดตัวแบรนด์น้องใหม่ ‘HITORI SHABU’ ชาบูชาบูและสุกี้ยากี้ต้นตำรับญี่ปุ่นแบบคันไซในรูปแบบหม้อเดี่ยว เสิร์ฟเนื้อพรีเมียมระดับ A5 ในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย
ปัจจุบัน (มีนาคม 2567) MAGURO มีร้านอาหารในเครือทั้งหมด 3 แบรนด์ รวม 26 สาขา ได้แก่ 1. MAGURO 14 สาขา 2. SSAMTHING TOGETHER 6 สาขา และ 3. HITORI SHABU 6 สาขา
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีธุรกิจรับจัดเลี้ยงนอกสถานที่ MAGURO CATERING ในรูปแบบของ Event Catering และ Office Lunchbox อีกด้วย
เอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง MAGURO
เอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง MAGURO เผยรายได้รวมปี 2566 จำนวน 1,045.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.06% จากรายได้รวม 665.85 ล้านบาทในปี 2565 และมีกำไรสุทธิ 72.48 ล้านบาทในปี 2566 เติบโตสูงถึง 131.12% จากกำไรสุทธิ 31.36 ล้านบาทในปี 2565
“สัดส่วนรายได้มาจาก MAGURO คิดเป็น 61.96% ในขณะที่รายได้จาก HITORI SHABU คิดเป็น 18.94% และรายได้จาก SSAMTHING TOGETHER คิดเป็น 19.10%”
จักรกฤติ สายสมบูรณ์ กรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง MAGURO
“ช่วงวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากการปิดให้บริการหน้าร้าน แต่ MAGURO พิสูจน์ได้ว่า เราเป็นแบรนด์ที่มีฐานลูกค้าเหนียวแน่น ตอนนั้นเราโฟกัสไปที่เดลิเวอรี พัฒนาเมนูให้เหมาะกับการรับประทานที่บ้าน รวมถึงแพ็กเกจจิ้งที่รองรับการขนส่ง และตัดสินใจเปิดแบรนด์ MAGURO GO เจาะตลาดเดลิเวอรีโดยตรงจนสามารถสร้างผลกำไรได้ในตลอดช่วงวิกฤต” จักรกฤติ สายสมบูรณ์ กรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง MAGURO กล่าว
ปี 2567 วางแผนเปิดเพิ่มอีก 11 สาขา ในลักษณะของการขยายแบรนด์เดิมและแบรนด์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยปีนี้เปิดตัวไปแล้ว 2 สาขา ได้แก่ MAGURO สาขามาร์เช่ ทองหล่อ และ HITORI SHABU สาขาพาราไดซ์ พาร์ค
4 กลยุทธ์การตลาด เบื้องหลังความแข็งแกร่งและการเติบโตต่อเนื่อง
1. ขยายสาขา มองหาโอกาสในทุกทำเล
กลยุทธ์แรกที่ทำให้แบรนด์สามารถทำรายได้รวมและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ การขยายสาขาใหม่ภายใต้แบรนด์เดิม รวมถึงช่องทางเดลิเวอรีที่ขยายตัวตามสาขาที่เพิ่มขึ้น
จาก 26 สาขาในปัจจุบัน มีเพียง 7 สาขาที่อยู่ใน CBD Area ที่เหลือเป็นสาขาที่อยู่ในกรุงเทพฯ ชั้นนอก เป็นข้อพิสูจน์ว่าแบรนด์สามารถเติบโตได้แม้ไม่ได้ปักหมุดในทำเลเมือง นอกจากนี้ยังได้รับประโยชน์จากต้นทุนค่าเช่าที่ต่ำกว่า ประกอบกับที่บริษัทฯ มีฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัทที่แข็งแกร่ง ทำให้บริษัทสามารถพัฒนาและปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคอยู่เสมอ ส่งผลให้รายได้ของบริษัทมีการเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 64.26% ในช่วง 3 ปีล่าสุด และบริษัทฯ ยังมีความสามารถในการควบคุมต้นทุน ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มจาก 41.91% ในปี 2565 เป็น 45.17% ในปี 2566 และส่งผลทำให้อัตรากำไรสุทธิของบริษัทเพิ่มจาก 4.71% ในปี 2565 เป็น 6.93% ในปี 2566 พร้อมทั้งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ในช่วงระหว่างปี 2564-2566 ที่ 175.20%
ที่สำคัญ แบรนด์วางตำแหน่งตัวเองให้เป็น ‘หมุดหมายความอร่อย’ จึงมองว่าโอกาสในการเติบโตผ่านการขยายสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงหัวเมืองใหญ่ๆ ในต่างจังหวัดยังมีอีกมาก ทั้งนี้ การขยายสาขาจะต้องนำข้อมูลในทุกมิติมาวิเคราะห์ เช่น ศักยภาพทำเล อินไซต์ผู้บริโภค แนวโน้มตลาด รวมไปถึงคู่แข่ง เพื่อหาความคุ้มค่าในการลงทุน
2. ทีมวิจัยและพัฒนาที่แข็งแกร่ง
เรียกว่าเป็นจุดแกร่งและความแตกต่างของแบรนด์เลยก็ว่าได้ที่มีการสร้างทีม R&D ของตัวเอง ซึ่งเป็นทีมที่มีความเชี่ยวชาญองค์ความรู้หลากหลายศาสตร์อาหาร พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการภายใต้ปรัชญา ‘Give More’ ทำให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาและปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่เสมอ
ทีม R&D ไม่เพียงคิดค้นและพัฒนาเมนูใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังศึกษาความเป็นไปได้ในทุกรูปแบบของอาหาร เพื่อต่อยอดไปถึงการสร้างแบรนด์ใหม่ในพอร์ตของกลุ่มธุรกิจของบริษัทในการแข่งขันในตลาด
3. ประสบการณ์เหนือระดับแบบฉบับ MAGURO
นอกจากความสำคัญเรื่องวัตถุดิบที่สดใหม่ระดับพรีเมียม รสชาติอาหารที่อร่อยและมีคุณภาพ ประสบการณ์เหนือระดับฉบับ MAGURO ยังครอบคลุมไปถึงประสบการณ์ภายในร้าน การตกแต่งร้านที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์และแต่ละสาขา หรือแม้แต่กิจกรรมทางการตลาดที่ตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่มและเฉพาะบุคคล
แบรนด์ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบผสมผสานระหว่าง Data Driven และ Customer Experience นำข้อมูลจากระบบ CRM หรือ Customer Relationship Management อย่าง Sale Force เข้ามาบริหารจัดการระบบลูกค้าสมาชิก เพื่อวิเคราะห์และค้นหาอินไซต์ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้เหนียวแน่น ปัจจุบันมีสมาชิกในเครือมากุโระ กรุ๊ป กว่า 150,000 คน
4. มองหาโอกาสใหม่ๆ
ไม่เพียงขยายสาขา 3 แบรนด์หลัก แต่บริษัทฯ ยังมองหาโอกาสด้วยการสร้างแบรนด์ใหม่เพื่อรองรับตลาดใหม่ๆ อยู่เสมอ นอกจากจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้ากลุ่มเดิมแล้ว ยังมองไปถึงการขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ในอนาคต
โอกาสการเติบโตไปกับ ‘MAGURO’
ปัจจุบัน MAGURO มีทุนจดทะเบียน 63 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 126,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 52.27 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 104,539,800 หุ้น และจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 34,060,200 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 27.03% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท
เอกฤกษ์เผยว่า “บริษัทมีแผนจะนำเงินระดมทุนที่ได้ไปขยายสาขาทั้งแบรนด์เดิมและแบรนด์ใหม่ รวมไปถึงการปรับปรุงสาขาเดิม ครัวกลาง และระบบ IT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเติบโตและขยายสาขาในอนาคต รวมไปถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน”
ทั้งนี้ MAGURO มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทฯ ก่อนและหลังการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ดังนี้ 1. HOLISTIC IMPACT สัดส่วนก่อนและหลัง IPO อยู่ที่ 28.34% และ 13.52% ตามลำดับ 2. เอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง สัดส่วนก่อนและหลัง IPO อยู่ที่ 17.91% และ 14.86% ตามลำดับ 3. ชัชรัสย์ ศรีอรุณ สัดส่วนก่อนและหลัง IPO อยู่ที่ 17.91% และ 14.86% ตามลำดับ 4. รณกาจ ชินสำราญ สัดส่วนก่อนและหลัง IPO อยู่ที่ 17.91% และ 14.86% ตามลำดับ 5. จักรกฤติ สายสมบูรณ์ สัดส่วนก่อนและหลัง IPO อยู่ที่ 17.91% และ 14.86% ตามลำดับ และ 6. ประชาชนทั่วไปหลังการเสนอขาย IPO อยู่ที่ 27.03%
MAGURO ในสายตาของที่ปรึกษาทางการเงินและบริษัทหลักทรัพย์
จิรยง อนุมานราชธน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน มองว่า MAGURO เป็นบริษัทฯ ที่มีกลุ่มผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจร้านอาหารระดับ Premium Mass สามารถสร้างแบรนด์ร้านอาหารที่แข็งแกร่ง ด้วยคุณภาพของอาหารระดับพรีเมียมในราคาที่คุ้มค่า ทำให้มีฐานลูกค้าที่มั่นคงและสามารถขยายไปยังฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายสาขาของแต่ละแบรนด์อย่างต่อเนื่องในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
“จุดแข็งของ MAGURO คือความแข็งแกร่งของแบรนด์จนสามารถสร้าง Brand Loyalty ได้ การมีทีมวิจัยและพัฒนาทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้หลากหลายและมากขึ้น จึงสามารถหาช่องว่างทางการตลาดได้เสมอ แม้ผู้เล่นในตลาดจะหนาแน่นก็ตาม และส่วนสำคัญอย่างมากคือ ทีมการตลาดที่มีส่วนช่วยให้มียอดผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียทุกช่องทางรวมกันกว่า 1 ล้านคน เราพบว่า Customer Base จากฐานสมาชิกและผู้ติดตามในช่องทางต่างๆ มีสัดส่วนอายุ 25-40 ปี หมายความว่ายังมีช่องว่างในการขยายกลุ่มลูกค้าได้อีก”
ด้าน สมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) (ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ) กล่าวเสริมว่า “การทำธุรกิจร้านอาหารให้ประสบความสำเร็จ เป็นที่จดจำ และยั่งยืน ไม่ง่าย แต่ MAGURO เป็นบริษัทที่มี Brand Portfolio ที่แข็งแกร่งในตลาด ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ MAGURO เอง รวมถึงแบรนด์ที่เปิดใหม่ทั้ง SSAMTHING TOGETHER และ HITORI SHABU ที่ล้วนได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี และด้วยศักยภาพของแบรนด์ภายใต้การบริหารโดยบริษัทฯ ที่สามารถดึงดูดลูกค้าด้วยชื่อเสียงและคุณภาพของการให้บริการ ทำให้บริษัทฯ มีทางเลือกที่หลากหลายในการเลือกที่ตั้งในการขยายสาขา”
นอกจากนี้ MAGURO ยังมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยบริษัทฯ ไม่มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย และมีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) สูงถึง 26.52% มีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) อยู่ที่ 45% ซึ่งการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai จะช่วยให้บริษัทฯ ขยายฐานทุน และสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
MAGURO เตรียมเสนอขาย IPO จำนวนไม่เกิน 34.06 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ หุ้นละ 0.50 บาท ในตลาดหลักทรัพย์ mai ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (AGRO) นโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงิน โดยมีบริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย คาดว่าจะพร้อมขายภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2567