×

ทำความรู้จัก โจ ฮิซาอิชิ คอมโพสเซอร์คู่บุญของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ที่ใช้บทเพลงพาผู้ชมก้าวเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ

09.01.2024
  • LOADING...

นอกจากงานภาพอันมีเอกลักษณ์ ตัวละครเปี่ยมเสน่ห์ และเรื่องราวเปี่ยมจินตนาการที่สอดแทรกประเด็นน่าสนใจไว้ให้ผู้ชมได้พูดคุยแลกเปลี่ยน อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเติมเต็มให้ทุกผลงานของผู้กำกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น คือดนตรีประกอบอันไพเราะจากปลายปากกาของ โจ ฮิซาอิชิ ที่ใช้บทเพลงพาผู้ชมก้าวเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ

 

ก่อนที่แฟนๆ ของ Studio Ghibli จะได้ไปรับชมและรับฟังผลงานเรื่องใหม่ของ ฮายาโอะ มิยาซากิ และ โจ ฮิซาอิชิ อย่าง The Boy and the Heron ที่มีกำหนดเข้าฉายในบ้านเราวันที่ 11 มกราคมนี้ THE STANDARD POP ขอชวนทุกคนมาทำความรู้จัก โจ ฮิซาอิชิ คอมโพสเซอร์มากฝีมือคนนี้กัน

 

joe hisaishi

ภาพ: JoeHisaishi.official / Facebook

 

จาก ‘มาโมรุ ฟุจิซาวะ’ เด็กหนุ่มที่ชื่นชอบในเสียงเพลง สู่คอมโพสเซอร์มากฝีมือ ‘โจ ฮิซาอิชิ’

 

โจ ฮิซาอิชิ มีชื่อจริงว่า มาโมรุ ฟุจิซาวะ เกิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 1950 ในจังหวัดนากาโนะ เขาเกิดในครอบครัวที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับแวดวงดนตรีเลย แต่ผู้ที่พาเขาก้าวเข้าสู่โลกของเสียงเพลงคือพ่อของเขาที่ชื่นชอบในการฟังเพลงและดูภาพยนตร์เป็นประจำ จึงทำให้เขาเริ่มหลงใหลในเสียงเพลงและภาพยนตร์เช่นเดียวกับพ่อ และเริ่มต้นฝึกเรียนไวโอลินเป็นครั้งแรกในวัย 4 ขวบ

 

กระทั่งฮิซาอิชิได้เข้าเรียนชั้นมัธยมต้น เขาก็ได้มีโอกาสรู้จักกับแนวดนตรีและเครื่องดนตรีที่หลากหลายมากขึ้นผ่านการเป็นส่วนหนึ่งของวงเครื่องดนตรีทองเหลืองของโรงเรียน และนำพาให้เขามารู้จักกับศิลปินมากฝีมือมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Philip Glass, Steve Reich, Terry Riley, Shostakovich, Arvo Pärt ฯลฯ รวมถึง Yellow Magic Orchestra วงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่มี ริวอิจิ ซากาโมโตะ เป็นหนึ่งในสมาชิกวง และในช่วงมัธยมปลายเขาก็ตัดสินใจมุ่งหน้าสู่เส้นทางดนตรีอย่างจริงจังด้วยการสอบเข้าวิทยาลัยดนตรีคุนิทาจิได้สำเร็จ ซึ่งพาให้เขาได้มารู้จักและศึกษากับนักแต่งเพลงชื่อดังอย่าง ทาเคโอะ วาตานาเบะ ผู้อยู่เบื้องหลังเพลงประกอบอนิเมะยอดฮิตมากมาย เช่น Mobile Suit Gundam (1979)

 

ภายหลังจากขัดเกลาฝีมือของตัวเองอยู่พักใหญ่ ในช่วงยุค 1970 ฮิซาอิชิก็ได้รับโอกาสประพันธ์ดนตรีประกอบให้กับอนิเมะซีรีส์ครั้งแรกจากเรื่อง Gyatoruzu (1974) และ Robokko Beeton (1976) ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเปลี่ยนชื่อของตัวเองจาก มาโมรุ ฟุจิซาวะ เป็น โจ ฮิซาอิชิ เพื่อใช้ในการออกผลงานเพลงของตัวเอง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากชื่อของศิลปินชาวอเมริกันที่เขาชื่นชอบ Quincy Jones ที่เมื่อนำมาเขียนเป็นตัวคันจิจะอ่านออกเสียงว่า โจ ฮิซาอิชิ ไม่นานจากนั้นเขาก็ได้ปล่อยอัลบั้มชุดแรกของตัวเองในชื่อ MKWAJU ออกมาในปี 1981 และ Information ในปี 1982 ซึ่งสองผลงานนี้เองที่ส่งให้ชื่อของฮิซาอิชิเริ่มกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

 

หนึ่งในนั้นคือ อิซาโอะ ทาคาฮาตะ โปรดิวเซอร์คนสำคัญที่ชักชวนฮิซาอิชิให้มาร่วมงานกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ ที่ ณ เวลานั้นมิยาซากิกำลังปลูกปั้นภาพยนตร์อนิเมะเรื่อง Nausicaä of the Valley of the Wind

 

The Legend of the Wind เพลงประกอบภาพยนตร์ Nausicaä of the Valley of the Wind (1984)

 

หลังจากที่ Nausicaä of the Valley of the Wind ออกฉายในปี 1984 ฮิซาอิชิก็ได้รับหน้าที่ประพันธ์ดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์อนิเมะของมิยาซากิมาอย่างต่อเนื่องถึง 11 เรื่อง (นับรวมผลงานล่าสุดอย่าง The Boy and the Heron) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบทเพลงที่สร้างความประทับใจและเป็นที่จดจำของผู้ชมไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น A Town with an Ocean View จาก Kiki’s Delivery Service (1989), Princess Mononoke จาก Princess Mononoke (1997), One Summer’s Day จาก Spirited Away (2001) ที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมมาได้สำเร็จ, Merry Go Round of Life จาก Howl’s Moving Castle (2004) ฯลฯ รวมถึงได้ร่วมประพันธ์ดนตรีประกอบให้กับผลงานของ Studio Ghibli เรื่อง The Tale of the Princess Kaguya (2013) ของผู้กำกับ อิซาโอะ ทาคาฮาตะ

 

One Summer’s Day เพลงประกอบภาพยนตร์ Spirited Away

 

โดยฮิซาอิชิได้เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับวิธีการทำงานและการรักษามิตรภาพอันยาวนานระหว่างเขาและมิยาซากิไว้ว่า ทั้งคู่ต่างให้เกียรติกันด้วยการ ‘เว้นระยะห่าง’ พวกเขาแทบจะไม่ได้พูดคุยหรือถามไถ่เรื่องส่วนตัวหรือนัดกินข้าวกันเลย แต่เลือกที่จะพูดคุยกันเฉพาะเรื่องงานและทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่เท่านั้น

 

เพลงประกอบภาพยนตร์ Departures (2008)

 

นอกจากชื่อของมิยาซากิ ฮิซาอิชิยังได้มีโอกาสร่วมงานกับผู้กำกับมากฝีมืออีกหลายคนเช่นกัน ทั้ง ทาเคชิ คิตาโนะ ที่เขาได้ร่วมประพันธ์ดนตรีประกอบให้มากถึง 7 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ A Scene at the Sea (1991) ที่ส่งให้ชื่อของฮิซาอิชิสามารถคว้ารางวัล Japan Academy Film Prize สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมครั้งแรกมาได้สำเร็จ, Departures (2008) ของผู้กำกับ โยจิโระ ทาคิตะ ที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมมาได้สำเร็จ, Tom Thumb (2001) ของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส Olivier Dahan ฯลฯ รวมถึงมีผลงานการกำกับภาพยนตร์ของตัวเองอย่าง Quartet ในปี 2001 และด้วยผลงานอันโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและนานาชาติเหล่านี้เอง ส่งผลให้นักวิจารณ์และผู้ชมหลายคนต่างยกย่องให้เขาเป็น John Williams แห่งประเทศญี่ปุ่น

 

ภาพ: GKIDS Films / X

 

The Boy and the Heron การโคจรมาร่วมงานกันอีกครั้งในรอบ 10 ปีของฮิซาอิชิและมิยาซากิ

 

The Boy and the Heron นับว่าเป็นการกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในรอบ 10 ปีของฮิซาอิชิและมิยาซากิ หลังจากที่ The Wind Rises เข้าฉายในปี 2013 รวมถึงตัวภาพยนตร์ก็เพิ่งคว้ารางวัล Golden Globe Awards 2024 สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมมาได้สำเร็จ

 

ภาพ: GKIDS Films / X

 

สำหรับ The Boy and the Heron ว่าด้วยเรื่องราวของ มาฮิโตะ ที่สูญเสียแม่ไปจากเหตุเพลิงไหม้ในกรุงโตเกียวในช่วงสงคราม เขาและพ่อจึงต้องย้ายไปอยู่ที่ชนบท และภายหลังจากที่พ่อของเขาแต่งงานใหม่กับน้องสาวของอดีตภรรยา มาฮิโตะก็ได้พบกับนกกระสาประหลาดที่พาเขาไปยังหอคอยปริศนา และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้เข้าสู่โลกใบใหม่

 

ฮิซาอิชิได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกระบวนการทำงานในผลงานเรื่องนี้ว่า โดยปกติแล้วมิยาซากิจะนำสตอรีบอร์ดมาให้ฮิซาอิชิได้ดูก่อน เพื่อประชุมพูดคุยกันถึงแนวทางในการแต่งดนตรีประกอบในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ แต่สำหรับ The Boy and the Heron กลับต่างออกไป เพราะเขาได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2022 ซึ่งอยู่ในช่วงที่ภาพยนตร์เกือบจะสมบูรณ์แล้ว เพื่อให้งานภาพของภาพยนตร์เป็นหัวใจสำคัญในการถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมด อีกทั้งมิยาซากิยังไม่ได้พูดคุยถึงทิศทางของดนตรีที่ต้องการมากนัก แต่เลือกให้ฮิซาอิชิได้ตีความและลงมือสร้างสรรค์ดนตรีประกอบอย่างเต็มที่

 

 

Ask Me Why เพลงประกอบภาพยนตร์ The Boy and the Heron

 

หลังจากได้ชมภาพยนตร์ที่ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ ฮิซาอิจิก็เริ่มทำงานของตัวเอง โดยแบ่งดนตรีประกอบออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ช่วงพาร์ตแรกของภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวของมาฮิโตะที่ดำเนินชีวิตอยู่ในโลกความจริง นำเสนอภาพของญี่ปุ่นในช่วงสงคราม ฮิซาอิจิจึงเลือกที่จะนำเสนอดนตรีที่มีความมินิมัล ใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้นอย่างเช่นเปียโน เพื่อช่วยขับเน้นให้ผู้ชมได้สัมผัสกับเรื่องราวและอารมณ์ในจิตใจของมาฮิโตะได้อย่างชัดเจนมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือเพลง Ask Me Why ที่สะท้อนถึงเรื่องราวของมาฮิโตะที่ตั้งคำถามและค้นหาความหมายของชีวิตและสิ่งต่างๆ รอบตัว

 

ส่วนในพาร์ตหลังของเรื่องซึ่งโฟกัสไปที่เรื่องราวการเดินทางของมาฮิโตะในโลกแฟนตาซีเหนือจินตนาการ ฮิซาอิจิจึงได้เพิ่มวงออร์เคสตราและวงประสานเสียงเข้ามาเสริม แต่ก็ยังคงรักษาสไตล์ดนตรีที่เรียบง่าย เพื่อให้ดนตรีช่วยเสริมเรื่องราวการเดินทางและการเติบโตของมาฮิโตะเช่นเดียวกับพาร์ตแรก

 

เรื่องราวการเดินทางของเด็กหนุ่มมาฮิโตะที่ผู้กำกับมิยาซากิและฮิซาอิชิอยากจะถ่ายทอดสู่สายตาผู้ชมครั้งนี้จะเป็นอย่างไร เราคงจะต้องไปติดตามกันต่อในโรงภาพยนตร์

 

The Boy and the Heron มีกำหนดเข้าฉายวันที่ 11 มกราคมนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

รับชมตัวอย่างได้ที่:

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X