ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของ Huawei จากการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ สร้างความตื่นตะลึงต่อทางการสหรัฐฯ และญี่ปุ่น รวมทั้งยังผลักดันให้บริษัทที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักเข้าสู่สมรภูมิสงครามชิประหว่างจีนและสหรัฐฯ
บริษัทที่ว่าคือ Semiconductor Manufacturing International (SMIC) ที่กลายเป็น ‘ไพ่ลับ’ ของทางการจีนในการทำลายการปิดล้อมของสหรัฐฯ เพื่อควบคุมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีน แม้ว่าจะถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรมาหลายปีก็ตาม แต่ความสำเร็จในการส่งมอบโปรเซสเซอร์ขั้นสูงขนาด 7 นาโนเมตรให้กับ Huawei ทำให้ทางการจีนกลับมาอยู่ในสถานะที่ดีอีกครั้งสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี
ความสำเร็จของ SMIC สร้างความประหลาดใจไปอีกขั้น เนื่องจากบริษัทถูกทางการสหรัฐฯ คว่ำบาตรมานานกว่าทศวรรษ และถูกขึ้นบัญชีดำอย่างเป็นทางการในปี 2020 บริษัทถูกควบคุมการนำเข้าเป็นวงกว้างและสามารถออกใบอนุญาตให้กับซัพพลายเออร์ของ SMIC ในบางกรณีเท่านั้น
ขณะเดียวผู้ร่างกฎหมายและผู้เล่นในอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ ดำเนินการปราบปรามต่อไป แม้จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ก็ตาม
รศ. ดักลาส ฟูลเลอร์ จาก Copenhagen Business School กล่าวว่า จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น สหรัฐฯ คงทำอะไรได้ไม่มากนักนอกจากพยายามเพิ่มการกีดกันกับ SMIC มากขึ้น
รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่า มาตรการกีดกันชิปไม่ได้มุ่งเป้าไปที่สมาร์ทโฟนของจีน แต่เป็นความสามารถทางทหาร เซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่จะช่วยทุกอย่าง ตั้งแต่แบบจำลองทางปัญญาประดิษฐ์ การประมวลผลแบบคลาวด์ ไปจนถึงโดรน รถถัง และขีปนาวุธ
สำหรับตอนนี้นักลงทุนจีนกำลังเฉลิมฉลองกับ SMIC เพราะนับตั้งแต่สมาร์ทโฟนรุ่น Mate 60 Pro ของ Huawei ปรากฏตัวในช่วงปลายเดือนสิงหาคม หุ้นของบริษัทก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 22% หรือคิดเป็นกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ และกลายเป็นบริษัทที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดอันดับ 3 ในดัชนีหุ้นบริษัทจีนที่จดทะเบียนในฮ่องกง
คำถามสำหรับ SMIC ในระยะยาวคือ บริษัทจะสามารถผลิตชิปที่มีความซับซ้อนในปริมาณมากได้หรือไม่ หรือสหรัฐฯ จะสามารถจำกัดความสามารถได้อีกหรือไม่ จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ระบุว่า จีนขาดความสามารถในการสร้างส่วนประกอบบางชนิด แต่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมของจีนรวมถึง เบิร์น เจ. หลิน อดีตรองประธาน Taiwan Semiconductor Manufacturing โต้แย้งว่า สหรัฐฯ กำลังประเมินความสามารถของจีนต่ำเกินไป
SMIC สะสมเครื่องจักรสำหรับการผลิตชิปมาเป็นเวลาหลายปี รวมถึงอุปกรณ์การพิมพ์หินอัลตราไวโอเลตระดับลึกรุ่นเดียวกันกับ ASML ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ 7 นาโนเมตรตัวแรกของอุตสาหกรรม โดย Bloomberg รายงานว่า SMIC สร้างชิปของ Huawei บนเครื่อง DUV จาก ASML
SMIC ก่อตั้งขึ้นมากว่าสองทศวรรษแล้วโดย ริชาร์ด ฉาง ซึ่งเกิดในประเทศจีน เติบโตในไต้หวัน จากนั้นใช้เวลาสองทศวรรษทำงานที่ Texas Instruments โดยริชาร์ดได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทางการจีน ทั้งได้รับการยกเว้นที่ดินและการยกเว้นภาษี อีกทั้งยังกลายเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของประเทศ
ในเวลาต่อมา SMIC กลายเป็นเป้าหมายของสหรัฐฯ ไม่นานหลังจากการก่อตั้ง ในปี 2005 ทางการสหรัฐฯ ระงับแผนที่จะซื้ออุปกรณ์การผลิตชิปมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์จาก Applied Materials เนื่องจากกลัวว่าจะแข่งขันกับ Micron Technology และในปี 2009 ศาลแคลิฟอร์เนียตัดสินว่า SMIC ใช้ความลับทางการค้าของ TSMC อย่างไม่เหมาะสม ทำให้ SMIC ต้องเจอกับอุปสรรคเป็นอย่างมากในช่วงแรกๆ
แต่ความพ่ายแพ้เหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่สามารถต่อรองและขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้ในมุมมองของทางการจีน รัฐบาลของเซี่ยงไฮ้ซึ่งในขณะนั้นเป็นศูนย์กลางความทันสมัยของจีนได้ร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นอื่นๆ ในการพัฒนาฐานการผลิตในจีนให้แก่ SMIC ทำให้บริษัทสามารถจัดตั้งโรงหล่อได้อย่างรวดเร็วและแข่งขันกับ TSMC ในการดึงดูดแรงงาน
ความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นภายในจีนทำให้เกิดลูกค้าต่างชาติจำนวนมาก เช่น Qualcomm และ Broadcom นอกจากนี้บริษัทยังได้รับเงินทุนจากทางการจีนในโครงการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ในจีน และจากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัฐบาลสิงคโปร์
แต่ในเดือนธันวาคม ปี 2020 ทางการสหรัฐฯ ได้ขึ้นบัญชีดำ SMIC โดยกล่าวหาว่าบริษัทสนับสนุนกองทัพจีนแม้บริษัทจะปฏิเสธก็ตาม นอกเหนือจากยังได้ออกสิ่งที่เรียกว่า Entity List ซึ่งกำหนดให้บริษัทในสหรัฐฯ จะต้องได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ในการทำการค้ากับ SMIC บริษัทถูกกีดกันอย่างต่อเนื่อง ในเดือนตุลาคม ปี 2022 สหรัฐฯ ออกมาตรการควบคุมการส่งออกสินค้าที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์การผลิตชิปที่ล้ำสมัยให้กับโรงงานผลิตของจีนที่ผลิตชิป 14 นาโนเมตรหรือต่ำกว่า
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวยังมีช่องโหว่อยู่ เพราะแม้ว่ากฎระเบียบของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อบริษัทผลิตชิปของอเมริกาในทันที แต่ต้องใช้เวลาหลายเดือนในการพูดคุยกับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่น นั่นหมายความว่าบริษัทของทั้งสองประเทศอย่าง ASML และ Tokyo Electron สามารถขายเครื่องจักรที่ทันสมัยให้แก่ลูกค้าชาวจีนซึ่งสามารถสต๊อกอุปกรณ์ไว้ได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ยังมีความซับซ้อนสำหรับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบของตนเอง วัสดุส่วนใหญ่สำหรับโรงงานผลิต รวมถึงเครื่องจักร DUV ของ ASML สามารถใช้ในการผลิตชิปทั้งแบบต้องห้ามภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ และชิปที่มีความซับซ้อนน้อยกว่าที่ได้รับอนุญาตก็ได้
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กำลังตรวจสอบว่า Applied Materials ขายอุปกรณ์มูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์โดยไม่มีใบอนุญาตให้กับ SMIC จริงหรือไม่ โดยจัดส่งอุปกรณ์จากสหรัฐฯ ไปยังเกาหลีใต้และไปยังจีน
ผลกระทบของ SMIC ยังคงไม่แน่นอนในอนาคต ทางการสหรัฐฯ ยังคงปรับเปลี่ยนมาตรการเพื่อตอบสนองต่อการดิ้นรนของ Huawei ซึ่งก็ถูกขึ้นบัญชีดำเช่นกัน สหรัฐฯ ได้เปิดตัวมาตรการควบคุมชิปชุดใหม่เมื่อเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเพิ่มข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจกับจีนให้เข้มงวดยิ่งขึ้น
ชาร์ลส์ ชูม และ ฌอน เฉิน นักวิเคราะห์ของ Bloomberg Intelligence เชื่อว่า นี่เป็นก้าวสำคัญสำหรับความก้าวหน้าด้านเซมิคอนดักเตอร์ของจีน ชิปดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้นำด้านเทคโนโลยีของจีนกำลังก้าวไปข้างหน้า และสามารถหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็พัฒนาการพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีอย่างเงียบๆ
อ้างอิง: