ในคืนของวันแห่งความรัก สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) ประกาศรับรองการซื้อหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ของ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ ว่าเป็นการเข้าซื้อหุ้นอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบทุกประการ เป็นการปิดฉากช่วงเวลาการรอคอยที่ยาวนานหลายเดือน
แต่ข้างหลังฉากแล้วเจ้าของ INEOS มหาเศรษฐีเบอร์หนึ่งของอังกฤษ สั่งเดินหน้าลุยเพื่อฟื้นคืนชีพอดีตทีมหมายเลขหนึ่งของเกาะอังกฤษไปแล้วในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการส่งคนสนิทอย่าง เซอร์เดฟ เบรลส์ฟอร์ด เข้ามาดูแลด้านงานกีฬาของสโมสร ไปจนถึงการกระชากตัว โอมาร์ เบอร์ราดา มันสมองของกลุ่ม City Football Group เครือข่ายทีมฟุตบอลของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มานั่งแท่นซีอีโอคนใหม่ของสโมสร
เป้าหมายต่อไปคือการหาตัว ‘DOF’ หรือ Director of Football ตำแหน่งบริหารที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับเกมฟุตบอลอาชีพสมัยใหม่ ซึ่งหลังจากที่เป็นข่าวกับผู้อำนวยการสโมสรที่โด่งดังหลายคน
ตอนนี้เป้าหมายของแมนฯ ยูไนเต็ดชัดเจน พวกเขาต้องการแดน แอชเวิร์ธ ‘ผู้อำนวยการสโมสรฟุตบอลที่ดีที่สุดเท่าที่อังกฤษเคยมีมา’
ปัญหาคือแอชเวิร์ธยังเป็นผู้อำนวยการของนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด และการกระชากตัวเขามาไม่ง่ายอย่างแน่นอน
ในวงการฟุตบอลอังกฤษแล้วแอชเวิร์ธเป็นผู้บริหารที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง เรียกว่าเป็นระดับปรมาจารย์ของงานด้านนี้
ครั้งหนึ่ง เควิน เธลเวลล์ ผู้อำนวยการสโมสรฟุตบอลของทีมเอฟเวอร์ตัน เคยบอกว่า แอชเวิร์ธเป็นแรงบันดาลใจของคนที่ทำงานในสายงานนี้ และเป็น ‘ผู้อำนวยการสโมสรฟุตบอลที่ดีที่สุดเท่าที่อังกฤษเคยมีมา’
ผลงานที่ทำให้เขาได้รับการยกย่องเป็นอย่างมากคือการเปลี่ยนแปลงทีมที่ไม่ได้ใหญ่อะไรอย่างไบรท์ตันแอนด์โฮฟอัลเบียน ให้กลายเป็นสโมสรฟุตบอลต้นแบบที่มีการวางระบบโครงสร้าง ไปจนถึงแนวทางและนโยบายการทำทีมที่ยอดเยี่ยมจนไม่รู้จะหาที่ติอย่างไร
จากทีมที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ไกลถึงลีกทู ในฤดูกาลนี้ไบรท์ตันมาไกลถึงรายการยูฟ่ายูโรปาลีกก็เป็นเครื่องพิสูจน์ผลงานได้ดี
แต่ก่อนจะมานั่งตำแหน่งบริหารของไบรท์ตัน แอชเวิร์ธก็เคยซ้อมมือมาอย่างดีกับทั้ง เวสต์ บรอมวิช อัลเบียน อยู่นานถึง 5 ปี โดยเริ่มจากความรู้เป็นศูนย์
คนที่เป็น ‘The Visionary’ มองเห็นอนาคตคือ เจเรมี พีซ ประธานสโมสรเวสต์บรอมวิช อัลเบียน ในขณะนั้น ที่เสนอตำแหน่งงานใหม่ให้แก่แอชเวิร์ธ ที่ดูแลทีมอะคาเดมีของ ‘เดอะ แบ็กกี้ส์’ ในเวลานั้น ให้ขึ้นมาเป็น Sporting and Technical Director ของสโมสร
เรื่องนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งเป็นยุคที่แม้ตำแหน่งนี้จะมีอยู่ในโครงสร้างของสโมสรฟุตบอลในทวีปยุโรปที่จะมีคนบริหารงานด้านฟุตบอลในบทตัวเชื่อมระหว่างบอร์ดบริหารกับฝ่ายการจัดการทีม แต่ในอังกฤษตำแหน่งนี้เป็นของหายาก แต่พีซเชื่อว่าคนหนุ่มคนนี้ทำได้
ที่เขาเชื่อเพราะได้เห็นผลงานของแอชเวิร์ธ ซึ่งเคยเป็นอดีตนักฟุตบอลที่ไปไม่ถึงฝัน ถูก นอริช ซิตี้ ปล่อยตัวตอนอายุ 17 ปีจนต้องหันเหไปเป็นครู แต่ไม่ทิ้งความรักในเกมฟุตบอล ศึกษาหาความรู้ผ่านระดับ UEFA Pro Licence แล้วไปเรียนรู้งานคุมทีมที่สหรัฐอเมริกาอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะกลับมาอังกฤษและได้โอกาสในการดูแลทีมอะคาเดมีของปีเตอร์โบโรห์ ยูไนเต็ดในปี 2000 ก่อนจะย้ายมาเคมบริดจ์ ยูไนเต็ดในอีก 3 ปีต่อมา แล้วจึงมาอยู่กับเวสต์บรอมวิช อัลเบียนตั้งแต่ปี 2004
ระยะเวลาที่ผ่านมาทำให้พีซมองเห็นภาพอนาคต ว่าแอชเวิร์ธเป็นได้มากกว่าแค่โค้ชทีมเยาวชน จึงเสนอตำแหน่งที่แม้แต่เจ้าตัวก็ไม่เข้าใจ
“ผมไม่รู้ด้วยซ้ำในตอนนั้นว่ามันคืออะไร” แอชเวิร์ธเคยบอกไว้ในการสัมภาษณ์กับ The Coaches Voice
สำหรับรายละเอียดงานของเขาก็คือการบริหารจัดการด้านฟุตบอลทุกอย่างในแต่ละวันในส่วนที่ไม่ใช่เรื่องของการคุมทีมฝึกซ้อมและคุมทีมลงสนามแค่นั้น โดยแอชเวิร์ธมีแผนกที่ต้องดูแลทั้งหมด 4 แผนกด้วยกัน
ด้วยความสามารถในการบริหารของเขาทำให้ โทนี โมวเบรย์ ผู้จัดการทีมในขณะนั้นกล่าวชมเชยว่า “แอชเวิร์ธคือกาวที่ช่วยยึดทุกสิ่งทุกอย่างของสโมสรนี้ให้อยู่ด้วยกัน”
หลังจากนั้นในปี 2012 เขาถูกทาบทามให้มาทำงานกับสมาคมฟุตบอลอังกฤษในตำแหน่ง Director of Elite Development เป็นคนวางรากฐาน ‘England DNA’ ที่ทำให้ทีมชาติอังกฤษไปได้ไกลถึงทุกวันนี้” แล้วจึงมารับงานผู้อำนวยสโมสรให้กับไบรท์ตันในปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่เขามีชื่อเสียงมากที่สุด
ผลงานดังกล่าวทำให้เมื่อซาอุดีอาระเบียเข้ามาเทกโอเวอร์ทีมนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด พวกเขาต้องการคนที่เก่งที่สุดในประเทศนี้ที่นอกจากจะมีความรู้และเข้าใจเกมฟุตบอลอังกฤษอย่างดี ต้องเก่งกาจในเชิงของการบริหารจัดการโดยเฉพาะในยุคสมัยที่เกมฟุตบอลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนคนทำงานในสไตล์เก่าๆ ไม่สามารถใช้วิธีโบราณในการบริหารเหมือนเดิมได้อีก
นิวคาสเซิล ‘ซื้อ’ แอชเวิร์ธ มาจากไบรท์ตันในปี 2022 และถือเป็นการซื้อตัวที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการซื้อซูเปอร์สตาร์เข้าทีมเลย
โดยเนื้องานที่ได้รับมอบหมายนั้นแอชเวิร์ธจะดูแลหลักๆ คือ
- งานด้านกลยุทธ์กีฬา (Sporting Strategy)
- ด้านการพัฒนาฟุตบอลและการจัดหาผู้เล่นในทุกระดับอายุ
สิ่งที่เราได้เห็นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือการที่นิวคาสเซิลไม่เพียงแต่จะเป็นทีมที่เล่นอย่างมีสไตล์ ยังเสริมทัพนักเตะได้อย่างยอดเยี่ยม โดยแม้ทีมจะร่ำรวยมหาศาลแต่ก็ไม่ได้ซื้อนักเตะซูเปอร์สตาร์ค่าตัวแพงที่จัดการได้ยาก เลือกซื้อนักเตะอนาคตไกลและมีโอกาสพัฒนาศักยภาพมากกว่า เช่น บรูโน กิมาไรส์, สเวน บ็อตแมน, อเล็กซานเดอร์ อิซัค และ ซานโดร โตนาลี (ที่หากไม่มีคดีการพนันก็น่าจะทำผลงานได้ยอดเยี่ยมมากเช่นกัน)
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักเตะจากอะคาเดมีของสโมสรรุ่นใหม่ไปจนถึงกลุ่มนักเตะดาวรุ่งที่คว้าตัวมาจากสโมสรอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็น ลูอิส ไมลีย์, ติโน ลิฟราเมนโต, ลูอิส ฮอลล์ เป็นต้น
แต่งานของเขาไม่ได้มีแค่นั้น (ใครที่คิดว่า DOF มีไว้ซื้อนักเตะอย่างเดียวคือคิดผิดมหันต์) แอชเวิร์ธรื้อระบบของสโมสรแล้ววางรากฐานใหม่หมด ตั้งแต่การของบปรับปรุงสนามซ้อมในมูลค่า 10 ล้านปอนด์ และยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของการเฟ้นหาที่ที่จะสร้างศูนย์ฝึกขนาดใหญ่ที่ทันสมัยที่สุดที่จะเป็น ‘รากแก้ว’ ของสโมสรในระยะยาว
หรือแม้แต่การหาคนทำงานที่เก่งที่สุด ละเอียดจนถึงขั้นเรื่องของจิตวิทยา ที่ได้ ดร.เอียน มิตเชลล์ จิตแพทย์ที่เก่งกาจที่ได้รับการยอมรับในวงการมาดูแลส่วนนี้ให้นิวคาสเซิล
ในด้านหนึ่งแอชเวิร์ธก็เหมือน เจอร์เกน คล็อปป์ ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล ที่แม้จะเป็นสุดยอดกุนซือคนหนึ่งแต่ไม่ชอบเก่งคนเดียว ชอบทำงานร่วมกับคนเก่งๆ มากกว่า แล้วหาทางดึงศักยภาพของแต่ละคนออกมา เพื่อสุดท้ายจะคำนวณรวมแล้วออกมาเป็นผลงานที่ดีของสโมสร
เรียกได้ว่าผลงานของแอชเวิร์ธคือของจริง ตัวจริง ไม่ต้องพูดเยอะ และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้แมนฯ ยูไนเต็ดต้องการเขามาช่วยวางรากฐานใหม่ให้แก่ทีม
ตามรายงานข่าวล่าสุดระบุว่า การทาบทามตัวได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยอาศัย ‘คอนเนกชัน’ พิเศษอย่าง เซอร์เดฟ เบรลส์ฟอร์ด ที่รู้จักกับแอชเวิร์ธมาตั้งแต่ช่วงที่เขาทำงานในสมาคมฟุตบอลอังกฤษในปี 2016
และความจริงแมนฯ ยูไนเต็ดก็เคยทาบทามเขามาตั้งแต่ปี 2019 แล้ว เพียงแต่ครั้งนั้นจะให้มาทำงานใต้ จอห์น เมอร์โท ซึ่งทำให้แอชเวิร์ธไม่สนใจงาน
แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งโอกาสในการได้นั่งแท่น ‘ผู้บอ’ ของสโมสรอย่างแมนฯ ยูไนเต็ด แน่นอนว่าถือเป็นเกียรติเป็นศรีของชีวิต และยังเป็นงานที่ท้าทายอย่างมากในเวลาเดียวกัน
ข่าวว่าเจ้าตัว ‘เปิดกว้าง’ สำหรับการเจรจากับแมนฯ ยูไนเต็ด
ตอนนี้จึงอยู่ที่ฝ่ายปีศาจแดงแล้วว่าจะหาทางพูดคุยกับนิวคาสเซิลได้หรือไม่ ซึ่งไม่ง่ายแน่นอน แต่ถ้าได้มามีโอกาสจะเป็นจุดเปลี่ยนของยักษ์ใหญ่ที่ตกต่ำทีมนี้ได้เลย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- โอมาร์ เบอร์ราดา ซีอีโอแมนฯ ยูไนเต็ด คนใหม่ ผู้นั่งเรือข้ามฟากมาจากแมนฯ ซิตี้
- แมนฯ ยูไนเต็ด ภายใต้ทฤษฎีใหม่ ‘Marginal Gains’ ใช้ AI วิเคราะห์ทุกสรรพสิ่ง
- บนความแตกต่างระหว่าง ‘หลักการ’ ของเทน ฮาก และปอสเตโคกลู
อ้างอิง: