คนที่ทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ SMEs หรือธุรกิจสตาร์ทอัพ ‘เงินทุน’ คือหมากสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อหรือพอแค่นี้ (เท่าที่ทุนมี) ต่อให้ไอเดียดี โปรดักต์ดี แต่ไม่มีเงินทุนพัฒนาหรือผลิตโปรดักต์ออกมาก็จบ
ประเด็นคือ ‘แหล่งเงินทุน’ ที่คนทำธุรกิจรายย่อยจะเข้าถึงได้มีไม่มากนัก เพราะแผนธุรกิจที่ดีใช้เป็นหลักประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงเมื่อผิดนัดชำระหนี้ของธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ ทำให้ธุรกิจที่มีศักยภาพต้องพับเสื่อกลับบ้าน หมดโอกาสได้เจอกับ ‘นักลงทุน’ ที่อาจจะกำลังมองหาช่องทางการลงทุนกับธุรกิจที่หลากหลาย ยิ่งในยุคที่โควิดยังคงอยู่กับเราแบบไม่รู้จะจบเมื่อไร ในภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีสัญญาณชีพว่าจะกลับมาเต้นปกติ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs ก็ยิ่งยากมากขึ้นไปอีก ถึงแม้ว่าหลายหน่วยงานต่างเร่งให้ความช่วยเหลือ SMEs ซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอยของระบบเศรษฐกิจไทย แต่โอกาสเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs กลับมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของ GDP ซึ่งถูกจำกัดด้วยกฎระเบียบเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงของผู้ลงทุนต่างๆ
‘หุ้นกู้ Crowdfunding’ เครื่องมือที่ช่วยให้ SMEs ระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อย
จากการที่ ก.ล.ต. ประกาศยอมรับให้ ‘หุ้นกู้ Crowdfunding’ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ SMEs สามารถขอกู้เงิน หรือที่เรียกว่า การระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อยได้ โดยมีลักษณะคล้ายกับหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทขนาดใหญ่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น
เมื่อ SMEs สามารถออกหุ้นกู้ Crowdfunding ได้ โดยไม่จำกัดว่าเป็นธุรกิจประเภทไหน เพียงแต่เกณฑ์การประเมินก่อนประกาศขายหุ้นกู้ Crowdfunding จะต้องอยู่ภายใต้การประเมินความเสี่ยงและจัดระดับความเสี่ยงของ Crowdfunding Portal ที่ต้องได้รับใบอนุญาตให้บริการ Crowdfunding จาก ก.ล.ต. เท่านั้น ซึ่งการประเมินก็เพื่อเสนออัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของ SMEs แต่ละรายให้แก่นักลงทุนที่สนใจระดมทุนนั่นเอง
ความน่าสนใจอยู่ตรงความหลากหลายของประเภทธุรกิจที่นักลงทุนสามารถเลือกกระจายความเสี่ยงผ่านการลงทุนในหุ้นกู้ Crowdfunding ของ SMEs ในอุตสาหกรรมที่ต่างกัน เมื่อดูที่ผลตอบแทนเปรียบเทียบกับการฝากเงินหรือลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทขนาดใหญ่ก็หอมหวานกว่า เพราะหุ้นกู้ Crowdfunding สามารถให้ผลตอบแทนได้ระหว่าง 6-20% ต่อปี โดยอายุหุ้นกู้มีตั้งแต่ 30 วัน – 2 ปี ตั๋วเงินระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูงแน่นอนว่าต้องแลกมากับความเสี่ยงสูง แต่ก็มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มหลายเท่าตัวให้กับผู้ถือหุ้น หากกิจการประสบความสำเร็จ และยิ่งถ้านักลงทุนเลือกลงทุนในหุ้นกู้ Crowdfunding ที่หลากหลาย ต่างอุตสาหกรรม ก็จะช่วยกระจายความเสี่ยงได้อีกทาง ที่สำคัญการลงทุนในหุ้นกู้ย่อมได้สิทธิ์ดีกว่าลงทุนในหุ้น เพราะเป็นสิทธิ์ในฐานะเจ้าหนี้ของกิจการ มีสิทธิ์ได้เงินคืนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ
ทั้งนี้ เกณฑ์ ก.ล.ต. ยังจำกัดให้นักลงทุนรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อหุ้นกู้ และลงทุนบนระบบ Crowdfunding ทั้งหมดไม่เกิน 1 ล้านบาท ในรอบ 12 เดือน ส่วนนักลงทุนที่มีความมั่งคั่งสูง นิติบุคคลหรือมีบุคคลที่ความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน (Accredited Investor) สามารถลงทุนได้ไม่จำกัดวงเงิน
และเพื่อให้การลงทุนเกิดประโยชน์สูงสุด นักลงทุนควรเลือกลงทุนในธุรกิจที่ตัวเองสนใจหรือมีความเข้าใจ และควรศึกษาข้อมูลการประเมินความเสี่ยงและจัดระดับความเสี่ยงของที่ออกโดย Crowdfunding Portal ที่มีทีมผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของ SMEs และยังมีระบบจัดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ขอออกหุ้นกู้ (Credit Worthiness Rating) ซึ่งคำนวณจากหลายปัจจัยที่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของกิจการ เพื่อช่วยให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม
สุดท้ายแล้วหากมองการลงทุนเป็นการออมเงิน การลงทุนในหุ้นกู้ Crowdfunding ก็จัดเป็นเครื่องมือออมเงินรูปแบบหนึ่งที่สร้างโอกาสกระจายการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย และทำให้ทุกคนมีโอกาสลงทุนอย่างเท่าเทียมกัน
นักลงทุนสามารถเข้ามาลงทุนในหุ้นกู้ Crowdfunding ได้ เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการลงทุน ด้วยการลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ investree.co.th