×

รู้จักยานฉางเอ๋อ 6 ภารกิจประวัติศาสตร์ ลงเก็บหินด้านไกลดวงจันทร์ครั้งแรก

03.05.2024
  • LOADING...

ยานฉางเอ๋อ 6 (嫦娥六号) ของจีน ลุ้นสร้างประวัติศาสตร์เป็นภารกิจแรกที่เก็บตัวอย่างหินจากด้านไกลดวงจันทร์กลับโลกได้สำเร็จ

 

หลังจากความสำเร็จของภารกิจฉางเอ๋อ 5 ในปี 2020 ที่สามารถนำตัวอย่างหินน้ำหนักรวม 1.731 กิโลกรัม กลับโลกได้สำเร็จ จีนได้ส่งยานฉางเอ๋อ 6 มุ่งหน้าไปลงจอดเพื่อเก็บหินจากดวงจันทร์อีกครั้ง ต่างเพียงแค่หนนี้จะเป็นความพยายามลงเก็บหินบริเวณขั้วใต้ของด้านไกลดวงจันทร์ ฝั่งที่ไม่เคยหันมาให้มนุษย์บนโลกได้ยลโฉม

 

ก่อนหน้านี้ จีนเคยส่งยานฉางเอ๋อ 4 เดินทางไปลงจอดที่หลุมอุกกาบาต Von Karman ในบริเวณขั้วใต้ฝั่งด้านไกลดวงจันทร์ได้สำเร็จในปี 2019 ถือเป็นการลงจอดด้านไกลดวงจันทร์อย่างนุ่มนวลครั้งแรก พร้อมกับรถโรเวอร์สำรวจพื้นผิว Yutu-2 และยังคงเป็นภารกิจเดียวที่มนุษย์เคยส่งไปสำรวจพื้นผิวด้านไกลดวงจันทร์จวบจนปัจจุบัน

 

เนื่องจากดวงจันทร์บริวารของโลกใช้เวลาหมุนรอบตัวเองนานเท่ากับการโคจรรอบโลก หรือเกิดการ ‘Tidal Locking’ ทำให้หันเพียงด้านเดียวเข้าหาโลกตลอดเวลา แม้จะมีการส่ายของดวงจันทร์ ทำให้อาจเห็นพื้นที่ด้านไกลบางส่วนได้ในบางช่วงเวลา แต่ยังมีถึง 41% ของพื้นผิวดวงจันทร์ที่ไม่เคยปรากฏให้มนุษย์บนโลกได้เห็น

 

นั่นคือด้านไกลของดวงจันทร์ ไม่ใช่ ‘ด้านมืด’ อย่างที่อาจเข้าใจผิดกัน กล่าวคือด้านไกลของดวงจันทร์ก็ยังมีกลางวัน-กลางคืนเช่นเดียวกับด้านที่หันเข้าหาโลก โดยบริเวณที่เข้าข่ายนิยาม ‘ด้านมืด’ ของดวงจันทร์คือ หลุมอุกกาบาตบางส่วนที่ขั้วใต้ดวงจันทร์ ที่แสงอาทิตย์ไม่เคยสาดส่องลงไปถึงบริเวณเบื้องล่างมาหลายพันล้านปี

 

ภารกิจลงจอดตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน รวมถึงการลงสำรวจพื้นผิวของนักบินอวกาศ 12 คนในสมัยโครงการอพอลโล ต่างเกิดขึ้นในฝั่งด้านใกล้ดวงจันทร์ เนื่องจากระบบสื่อสารระหว่างโลก-ยานอวกาศ ไม่สามารถทะลุทะลวงผ่านพื้นผิวดวงจันทร์ไปยังฝั่งด้านไกลโดยตรงได้ และเป็นสาเหตุที่เสียงสนทนาระหว่างศูนย์ควบคุมภาคพื้นกับนักบินอวกาศในวงโคจรรอบดวงจันทร์จะขาดหายไป เมื่อพวกเขาอ้อมไปดูด้านไกลของดวงจันทร์

 

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว CNSA หรือองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ได้ส่งดาวเทียมทวนสัญญาณ Queqiao-2 เข้าสู่วงโคจรแบบความรีสูง เพื่อให้ศูนย์ควบคุมบนโลกติดต่อและรับข้อมูลจากยานฉางเอ๋อ 6 ระหว่างลงจอดและทำงานอยู่บนดวงจันทร์ได้ โดยเป็นดาวเทียมทวนสัญญาณที่พัฒนาต่อจาก Queqiao-1 ซึ่งออกเดินทางไปสนับสนุนภารกิจฉางเอ๋อ 4 ตั้งแต่ปี 2018 พร้อมกับเป็นรากฐานเพื่อทดสอบการสร้างเครือข่ายดาวเทียม Queqiao ของจีน ในวงโคจรรอบดวงจันทร์ระยะยาว

 

สำหรับภารกิจฉางเอ๋อ 6 จะประกอบด้วยยานอวกาศ 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ส่วนยานลงจอดและส่วนยานบริการ โดยส่วนยานลงจอดจะลดระดับลงไปเก็บตัวอย่างจากพื้นผิว จากนั้นนำตัวอย่างเก็บในส่วนบน เพื่อเดินเครื่องยนต์นำหินดวงจันทร์กลับมาใส่ในแคปซูลของยานบริการที่รออยู่ในวงโคจร จากนั้นยานบริการจะเดินทางกลับโลก และแยกตัวส่งแคปซูลตัวอย่างหินให้มาลงจอดในทะเลทรายทางตอนเหนือของประเทศจีน สรุปเวลาภารกิจรวมประมาณ 53 วัน

 

ฉางเอ๋อ 6 มีแผนลงจอดบริเวณหลุมอุกกาบาตอพอลโล (ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการอพอลโลของสหรัฐอเมริกา) ในบริเวณขั้วใต้ของด้านไกลดวงจันทร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแอ่ง South Pole-Aitken หลุมอุกกาบาตดึกดำบรรพ์กว้าง 2,500 กิโลเมตร ที่หินจากบริเวณดังกล่าวอาจช่วยไขปริศนาต้นกำเนิดของดวงจันทร์ โลก และระบบสุริยะได้

 

นอกจากอุปกรณ์สำรวจของจีนแล้ว ภารกิจฉางเอ๋อ 6 ยังได้นำอุปกรณ์ DORN (Detection of Outgassing RadoN) ของฝรั่งเศส INRRI (INstrument for landing-Roving laser Retroreflector Investigations) ของอิตาลี และ NILS (Negative Ions on Lunar Surface) ของสวีเดน ร่วมเดินทางไปด้วย เช่นเดียวกับดาวเทียม CubeSat ICUBE-Q ของปากีสถาน เดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์กับเที่ยวบินนี้

 

จากยานอวกาศที่เคยถูกสร้างไว้เป็นยานสำรองของภารกิจฉางเอ๋อ 5 ในตอนนี้ฉางเอ๋อ 6 มีลุ้นสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการสำรวจดวงจันทร์ และอาจเป็นรากฐานสำคัญให้กับภารกิจสำรวจในอนาคตของจีน เช่นเดียวกับการพัฒนายานอวกาศจากนานาประเทศ ที่ต่างมีแผนมุ่งหน้าไปสำรวจดวงจันทร์ในอนาคตอันใกล้

 

สำหรับประเทศไทยจะมีส่วนร่วมส่งอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศ Sino-Thai Sensor Package for Space Weather Global Monitoring เดินทางไปศึกษาอนุภาคพลังงานสูง และผลกระทบระหว่างดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ กับยานฉางเอ๋อ 7 ที่มีกำหนดออกเดินทางไปดวงจันทร์ในปี 2026

 

ภาพ: VCG / VCG via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X