THE STANDARD สัมภาษณ์ เบสท์-ทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย คณะทำงานด้านความเท่าเทียมทางเพศและเสมอภาคทางสังคม และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เบอร์ 2 เขต 7 บางซื่อ-ดุสิต (เฉพาะแขวงถนนนครไชยศรี) พรรคไทยสร้างไทย ซึ่งมี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรค
การสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในปีนี้เป็นครั้งที่ 2 ของเขา โดยก่อนหน้านี้เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. กทม. สังกัดพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2562 ก่อนจะเป็นผู้สมัคร ส.ส. สังกัดพรรคไทยสร้างไทย ในการเลือกตั้งล่าสุดปี 2566
ขณะเดียวกันยังทำงานด้านความหลากหลายทางเพศต่อเนื่องมาตั้งแต่อยู่พรรคอนาคตใหม่
สมัคร ส.ส. เขต 7 บางซื่อ-ดุสิต เขตนี้มีความเฉพาะอย่างไร และบทบาท ส.ส. หากได้รับการเลือกตั้ง ตั้งใจจะผลักดันเรื่องอะไร
ในเขตบางซื่อ-ดุสิตมีความหลากหลายทางกายภาพมาก ประชาชนมีความต้องการที่แตกต่างกัน มีทั้งชุมชนเก่า ชุมชนแออัด และคอนโดมิเนียม เป็นเขตที่มีความเจริญเข้าไป คนที่จะเข้ามาทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนต้องมีความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลาย ต้องเป็นคนรุ่นใหม่ที่พอจะรู้ว่าแต่ละกลุ่มคนมีความต้องการอย่างไรบ้าง
บทบาท ส.ส. เขต ต้องมีความเข้าใจเรื่องความหลากหลาย นำความคิดสร้างสรรค์มาช่วยชุมชน โดยต้องทำความเข้าใจกับชุมชนให้มาก แล้วแก้ปัญหาโดยประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกฎแต่ละจุด ให้ทราบความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ส.ส. ต้องประสานงาน
สำหรับเขตที่ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้มีย่านชุมชนเก่าแก่ เช่น ถนนสายไม้มีร้านขายไม้ 2 ฝั่ง ความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นถนนเก่าที่เป็นย่านธุรกิจ เป็นชุมชนเก่าที่ไม่ใช่ชุมชนแออัด ซึ่งเขาก็ต้องการที่จะอนุรักษ์ย่านเก่าให้สามารถทำธุรกิจได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากความเจริญที่เข้ามา เช่น ปัญหาที่จอดรถลูกค้า ทำอย่างไรให้ชุมชนสามารถค้าขายต่อไปได้ กำหนดพื้นที่และเวลาจอดรถที่เหมาะสม ต้องการผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมในชุมชนมากขึ้น ภาครัฐต้องผ่อนคลายกฎระเบียบให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน
นอกจากนั้นมีชุมชนแออัดอยู่มากถึง 80 ชุมชน ชุมชนแออัดก็จะมีอีกปัญหาคือ กลัวการถูกไล่ที่ ปัญหาการประกอบอาชีพ คุณภาพชีวิต การศึกษา และคุณภาพความเป็นอยู่
ส่วนชุมชนที่เป็นคอนโดมิเนียมที่เข้ามาใหม่ เนื่องจากเมืองที่เริ่มขยายมา กลุ่มนี้ก็มีความต้องการที่ต่างออกไป เช่น ต้องการการเดินทางที่สะดวกสบาย ไม่อยากเจอปัญหารถติด
บางซื่อเป็นพื้นที่การคมนาคม แม้สถานีกลางบางซื่อจะไม่ได้อยู่ในเขตบางซื่อ แต่อยู่ในเขตจตุจักร
บางซื่อมีความเจริญและความหลากหลายของกลุ่มประชากร การดูแลรับฟังปัญหาจึงต้องนำไปสู่การตอบสนองที่ถูกต้องในแต่ละความต้องการของแต่ละกลุ่ม
นอกจากนั้นอยากให้บางซื่อมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ไม่อยากให้ถูกมองเป็นพื้นที่สีเทา บางซื่อมักจะถูกมองว่าเป็นพื้นที่สีเทาๆ เป็นพื้นที่ผู้มีอิทธิพล ไม่อยากให้บางซื่อถูกมองแบบนั้น แม้หลายคนจะยังรู้สึกว่าบางซื่อเป็นแหล่งอิทธิพลบางอย่าง เช่น การพนัน ทั้งที่มีแหล่งที่ดีอย่างถนนสายไม้ ตลาดบางซ่อน หรือในดุสิต มีตลาดราชวัตร ตลาดศรีย่าน เหล่านี้เป็นแหล่งทำประโยชน์ได้เยอะ
ส่วนความตั้งใจที่จะผลักดันในสภาเป็นเรื่องความเท่าเทียม สิทธิมนุษยชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องจากเป็นคณะทำงานด้านความเท่าเทียมทางเพศและเสมอภาคทางสังคมของพรรคไทยสร้างไทย ก็จะมีประเด็นต่างๆ เช่น สมรสเท่าเทียม ผลักดันกฎหมายอัตลักษณ์ทางเพศ การเปลี่ยนแปลงคำนำหน้านาม ขจัดการเลือกปฏิบัติ ไม่ให้เลือกปฏิบัติต่อบุคคลในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสภาพ อาชีพ เชื้อชาติ สัญชาติ หรือประวัติอาชญากรรม เหล่านี้ส่งผลทั้งหมดเชื่อมโยงกับพื้นที่ด้วย
LGBTQIA+ ได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ยังมีอะไรบ้างที่เป็นปัญหาต้องแก้ไข
วันนี้ LGBTQIA+ ถูกกดทับน้อยลงในแง่สังคม แต่ในแง่กฎหมายเรายังเจอปัญหาอีกเยอะมาก ยังไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการรัฐ สวัสดิการข้ามเพศ ต้องซื้อฮอร์โมนใช้เอง การผ่าตัดข้ามเพศมีราคาสูง ถ้าทำงานในระบบก็ไม่มีสิทธิลาเหมือนการลาไปคลอดบุตร ยังไม่ได้รับสิทธิตรงนี้
ยังต้องผลักดันให้รัฐยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง ทั้งกฎหมายและในทางปฏิบัติ โดยกฎหมายที่ออกมาต้องครอบคลุม ทำนโยบายรองรับความหลากหลายอย่างแท้จริง ไม่ใช่กฎหมายพูดถึงแต่เพศหญิง-ชาย การแต่งงานต้องเป็นเรื่องระหว่างบุคคลที่ทุกคนสามารถแต่งงานกันได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องระหว่างหญิง-ชาย
ในแง่สิทธิตามกฎหมายแทบจะไม่ได้รับการยอมรับมากขึ้นเลย เช่น สมรสเท่าเทียมมีการผลักดันมาเป็นสิบปี ขอให้ได้จดทะเบียนสมรสแต่ยังไม่ได้รับ
นอกจากนั้นยังมีการปฏิเสธการรับสมัครงาน โดยบอกว่าเป็นคนข้ามเพศ, สาวประเภทสอง, ตุ๊ด, กะเทย, เกย์, ทอม ไม่ได้รับสิทธิต่างๆ ถูกเลือกปฏิบัติ และคำว่า ‘แก้ทอมซ่อมดี้’ ก็ยังมีการใช้อยู่ในปัจจุบัน
รอบนี้สังกัดพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งมี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรค เลือกพรรคนี้เพราะอะไร
เราสนใจการเมืองตั้งแต่เด็ก ก็จะดูว่านักการเมืองคนไหนประวัติการทำงานดี คนไหนไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย ทั้งเรื่องคอร์รัปชันและเรื่องความเป็นประชาธิปไตย เลือกดูพรรคและผู้นำพรรคที่ประวัติประมาณนี้ มาเจอคุณหญิงสุดารัตน์ มีโอกาสได้คุยกับท่าน โดยก่อนจะรู้จักก็รู้ว่าท่านเป็นคนเก่ง ทำงานดี แต่อีกภาพหนึ่งก็คือ ท่านเป็นผู้ใหญ่ เป็นนักการเมืองอาวุโส
ตอนแรกมีความกังวลว่าท่านจะเข้าใจปัญหาเรื่องความหลากหลายทางเพศไหมนะ ท่านจะเปิดกว้างพอไหมนะที่เราเป็น LGBTQIA+ จะมาทำเรื่องต่างๆ ถ้าเราจะแต่งหญิงท่านจะโอเคไหมนะ
พอมาเจอท่านครั้งแรก ได้บอกคุณหญิงว่า จะมาทำเรื่อง LGBTQIA+, สมรสเท่าเทียม, Sex Worker เพื่อดูว่าท่านจะตอบสนองต่อข้อเสนอเราอย่างไร คิดว่าท่านจะรับไม่ได้หรือไม่ อยากทำหรือไม่ เวลาเราเจอผู้ใหญ่เราจะกลัวว่าเราจะผิดหวังกับคำตอบ เรากลัวว่าจะไม่สามารถทำงานกับเขาได้
แต่ปรากฏว่าสิ่งที่ท่านตอบมาคือ “เอาเลยเบสท์ แม่ชอบ แม่สนับสนุน” พอเจอคำตอบ “เอาเลย แม่ชอบ ทำเลย เอาให้ได้ แม่สนับสนุน” โอ้โห เหมือนเรายกภูเขาออกจากอก ผู้ใหญ่คนนี้มีความเปิดกว้าง มีวิสัยทัศน์ เราทำงานได้แน่นอน
แล้วพอมาทำงานกับคุณหญิงสุดารัตน์ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ คุณหญิงไม่ได้แค่พูด แต่เข้าใจ พร้อมรับ พร้อมเข้าถึงกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ และนโยบายต่างๆ ที่เสนอไป แทบจะร้อยละ 90 คุณหญิงรับไปเป็นนโยบายพรรค รับไปผลักดันต่อ เช่น เรื่องการแต่งตัวที่นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏร่วมลงชื่อกัน เพื่อขอแต่งกายตามเพศสภาพเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร คุณหญิงก็รับเรื่องขึ้นมาทันที แล้วบอกว่า “ได้ เดี๋ยวแม่จะไปเป็นคนช่วยประสานงาน ช่วยรับข้อปัญหานี้ไปพูดให้ผู้ใหญ่ฟัง”
เรารู้สึกว่าคุณหญิงไม่ใช่แค่บอกว่าอยากทำ คุณหญิงไม่ใช่แค่พูดว่าโอเค แต่คุณหญิงรับและนำไปทำจริงๆ เราก็เลยรู้สึกว่าการที่เราเลือกพรรคการเมือง เราต้องเลือกพรรคการเมืองที่เข้าใจและอยากทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่พูดว่ามีนโยบายนี้ แต่สุดท้ายแค่พูดออกมาเป็นข่าว ทำออนไลน์ให้คนเห็น ให้คนคิดว่าทำ แต่การทำงานต้องดูว่าถึงเวลาทำงานแล้วทำจริงหรือเปล่า พูดแล้วรับผิดชอบหรือเปล่า
พรรคไทยสร้างไทย คุณหญิงสุดารัตน์สอนเสมอว่า เป็นนักการเมือง ถ้าพูดแล้วต้องทำให้ได้ รับปากประชาชนแล้วต้องทำ ถ้าพูดแล้วทำไม่ได้อย่าพูด ถ้ารับปากประชาชนแล้วทำไม่ได้อย่ารับ เราเชื่อว่าพรรคไทยสร้างไทยเป็นพรรคที่ทำได้ ทำจริง มีประสบการณ์ เป็นเหตุผลที่มาทำงานกับคุณหญิง
ประสบการณ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรก สังกัดพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2562
ตอนอยู่พรรคอนาคตใหม่ เป็นหนึ่งในผู้ช่วยร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ เรื่องวิสาหกิจชุมชน ออกแบบผลิตภัณฑ์ และการวางแผนธุรกิจ
ตอนเข้าอนาคตใหม่และออกจากก้าวไกลเป็นอย่างไร
ตอนเข้าพรรคอนาคตใหม่ สนใจเข้าไปในฐานะพรรคการเมืองที่เกิดใหม่ มีความคาดหวังรูปแบบพรรคการเมืองใหม่ที่ไม่เหมือนพรรคการเมืองเก่าที่เล่นการเมืองแบบเก่า แต่เราก็เจอการเมืองแบบเก่าในพรรคของคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม เป็นพรรคที่เราอยู่นานหลายปี กระทั่งลาออกจากก้าวไกลปี 2564
จากนั้นมองหาพรรคที่มีอุดมการณ์ ทำงานการเมืองเป็น เข้าใจการเมืองไทย จึงมาสมัครพรรคไทยสร้างไทยปี 2564 ปีเดียวกัน หลังลาออกจากพรรคก้าวไกลก็มาสมัครพรรคไทยสร้างไทย แล้วทำงานต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มองว่าการทำงานต้องมีประสบการณ์และการจัดการที่สามารถทำงานได้อย่างแท้จริง เพราะปัญหาประเทศบางครั้งไม่ใช่เรื่องวิชาการ แต่ต้องมีทั้งบู๊และบุ๋น ต้องรู้ว่าประสานงานอย่างไร ไม่ใช่พุ่งชนอย่างเดียว
ประสบการณ์ในสภา
ตอนอยู่พรรคอนาคตใหม่เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต กับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
ประสบการณ์ก่อนทำงานการเมือง
ทำงานบริษัทเอกชนมาตลอด ฝ่ายขายเกี่ยวกับสินค้าไอที เคยเรียนเภสัชแล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่ จึงออกมาเรียนการตลาด ที่เรียนจบจริงๆ คือการตลาด แล้วมาทำงานสายไอที อย่างไรก็ตาม มีความสนใจการเมืองมาโดยตลอดตั้งแต่เด็ก
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีเรื่องอะไรที่เคยทำผิดพลาดแล้วมองเป็นบทเรียนบ้าง
เรื่องการสื่อสารที่เคยเป็นข่าวดังอยู่ช่วงหนึ่ง ด้วยความที่เราไม่ได้ตั้งใจ เมื่อเราต้องการสื่อสารเรื่องหนึ่ง แต่ใช้คำผิด ทำให้คนเข้าใจผิดกับสิ่งที่เราต้องการสื่อ ไปมองส่วนที่เราไม่ได้ตั้งใจจะสื่อ สาระสำคัญจริงๆ หายไป คนไปมองประเด็นที่เราไม่ได้ตั้งใจจะพูดถึง
จึงเป็นบทเรียนว่า การสื่อสารทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ เรามีนโยบายที่ดีอย่างไร มีความตั้งใจอย่างไร ถ้าเราสื่อสารผิด ก็จะนำไปสู่ความเข้าใจผิด เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
กรณีมีข่าวทวีตที่มีถ้อยคำ ‘ส.ส. ตลาดล่าง’ จริงๆ ต้องการจะสื่อสาร ไม่ใช่บอกว่า ส.ส. ไปงานศพ งานแต่ง งานบวช เป็นเรื่องแย่ เพราะเข้าใจอยู่แล้วว่าการเป็น ส.ส. ต้องเข้าถึงชุมชน ต้องไปงานแบบนี้
เพียงแต่ไม่ใช่ไปวันละเป็นสิบๆ งาน ไปโผล่หน้าแล้วก็ออกมา แบบนี้ไม่ได้ใช้เวลาพบเจอพูดคุยกับประชาชน ส่วนแฮชแท็ก ‘ส.ส. ตลาดล่าง’ เคยเห็นมีการใช้แฮชแท็กนี้กันมาก่อน แล้วเราไปหยิบมาใช้ โดยลืมคิดไปว่าเป็นคำที่ไม่ดี คนอ่านรู้สึกเหมือนเราไปว่า ส.ส. ที่ไปงานศพ ประกอบกับมีการใช้คำเสียดสี “เป็นพระหรือเป็น ส.ส. ครับ วิ่งรอกออกงานศพ” เป็นการเสียดสี ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ไม่ถูกต้อง
เมื่อเจอประสบการณ์ครั้งนั้นจึงคิดว่า เราจะต้องสื่อสารทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ตรงไปตรงมา ไม่ไปเสียดสีใครกระทั่งคนไม่มองตัวเนื้อหา
อย่างการสื่อสารทางการเมืองของเราล่าสุด การแต่งหญิงลงพื้นที่เป็นความคิดสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง เป็นความตั้งใจสื่อสาร ทั้งเรื่องตัวตน เรื่องสิทธิ และความเข้าใจของสังคม เพื่อความเข้าใจการสื่อสารทางการเมืองมากขึ้น ในส่วนอะไรที่ผ่านมาแล้วก็ถือเป็นบทเรียนที่ต้องปรับปรุง
พรรคไทยสร้างไทย
อยากจะฝากพรรคไทยสร้างไทย นำโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เราเป็นพรรคที่ตั้งใจเข้ามาเพื่อยุติความขัดแย้งการเมือง 2 ขั้วอย่างแท้จริง ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา การเมืองไทยอยู่ในความขัดแย้งมาโดยตลอด เลือกฝั่งไหนอีกฝั่งก็ขึ้นมาประท้วงหรือมีการรัฐประหาร ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ต้องการยุติความขัดแย้ง ยุติการรัฐประหาร เราเป็นห่วงประชาชน วันนี้ประชาชนยากจน มีหนี้สิน เลือกพรรคไทยสร้างไทย เบอร์ 32 หายจนหมดหนี้แน่นอน
ส่วนเขตบางซื่อ เราต้องการให้เป็นพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับ เป็นพื้นที่เจริญ มีการพัฒนาควบคู่กันไป และขออย่าสับสนกับชื่อพรรคการเมืองที่ชื่อคล้ายกัน
พรรคไทยสร้างไทย เบสท์ เบอร์ 2 ผู้สมัคร ส.ส. เขต 7 บางซื่อ-ดุสิต เฉพาะแขวงถนนนครไชยศรี จำง่ายๆ “เบสท์ เบอร์ 2 บางซื่อ-ดุสิต สู้ๆ ครับ เข้าคูหาชู 2 นิ้ว สู้ๆ ให้ตัวเอง แล้วก็สู้ๆ ให้พรรคไทยสร้างไทย กาเบอร์ 2 ครับ”