เยอรมนีเป็นชาติล่าสุดในยุโรปที่เปลี่ยนท่าที โดยจะอนุมัติให้ใช้งานวัคซีนต้านโควิด-19 ของ AstraZeneca เป็นกรณีฉุกเฉินกับกลุ่มประชาชนอายุ 65 ปีขึ้นไปได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้อนุมัติให้ใช้เฉพาะกับกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 65 ปีเท่านั้น เนื่องจากมีความกังวลถึงประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสในกลุ่มผู้สูงอายุ
การกลับท่าทีดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่มีข้อมูลการศึกษาใหม่ๆ เพิ่มเติมที่บ่งชี้ว่า วัคซีนช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและการเกิดอาการรุนแรงจากโควิด-19 ในกลุ่มผู้สูงอายุ ขณะที่ฝรั่งเศสได้อนุมัติให้ใช้กับประชาชนอายุ 65-74 ปีไปก่อนหน้านี้
วานนี้ (3 มีนาคม) นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ระบุว่า ผลการศึกษาล่าสุดให้ข้อมูลที่เพียงพอในการที่จะอนุมัติให้ใช้วัคซีนกับกลุ่มคนทุกวัยได้
นอกจากเยอรมนีแล้ว เบลเยียมก็เปิดเผยว่า จะอนุมัติให้ใช้วัคซีนของ AstraZeneca ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเช่นกัน
ก่อนหน้านี้หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England: PHE) เปิดเผยผลวิเคราะห์ข้อมูลจากการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของ Pfizer-BioNTech และ Oxford-AstraZeneca โดสแรกให้แก่ประชาชน พบว่า วัคซีนทั้ง 2 ตัวมีประสิทธิภาพสูงในการช่วยลดอาการป่วยรุนแรงและลดโอกาสที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสำหรับประชาชนกลุ่มอายุเกิน 80 ปี ได้มากกว่า 80%
ซึ่งข้อมูลจาก PHE ระบุว่า วัคซีนจะแสดงประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยรุนแรงหลังการฉีดวัคซีนราว 3-4 สัปดาห์ ซึ่งข้อมูลนี้ยังเป็นหลักฐานยืนยันประสิทธิภาพของวัคซีนจาก Pfizer ที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้สูงถึง 83%
ภาพ: Sean Gallup / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: