รัฐบาลเยอรมนีเผยแผนบรรเทาทุกข์มูลค่าประมาณ 6.5 หมื่นล้านยูโร (หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 2.3 ล้านล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือชาวเยอรมันหลายล้านครัวเรือน ที่ต้องเผชิญความยากลำบาก หลังจากค่าครองชีพและราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น ท่ามกลางวิกฤตพลังงานครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษของยุโรป
โดยมาตรการสำคัญๆ ในแผนบรรเทาทุกข์ครั้งนี้ รวมไปถึงการให้คำมั่นว่าจะจำกัดผลกำไรมหาศาลของบริษัทพลังงาน, การจ่ายเงินให้แก่ผู้รับบำนาญ นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น, มาตรการควบคุมราคาไฟฟ้า, และการให้คำมั่นว่าจะออกตั๋วเงินอุดหนุนสำหรับรถสาธารณะทั่วประเทศ เนื่องจากขณะนี้ตั๋วเงินอุดหนุนฤดูร้อน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากหมดอายุไปแล้ว โดยรัฐบาลเยอรมนีเปิดเผยว่า ตั๋วเงินอุดหนุนเวอร์ชันใหม่นี้อาจมีราคาอยู่ระหว่าง 49-69 ยูโร เป็นต้น
ด้าน โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวในงานแถลงข่าว ซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีในกรุงเบอร์ลินว่า มาตรการดังกล่าวเป็นขั้นตอนสำคัญและยิ่งใหญ่เพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชน พร้อมทั้งระบุว่า วิกฤตนี้ “คือความรับผิดชอบของปูติน” ซึ่งหมายความถึง วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และสงครามในยูเครน
ทั้งนี้ เยอรมนีกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านพลังงาน ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่รัสเซียตัดสินใจปิดการส่งก๊าซผ่านท่อ Nord Stream 1 โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา บริษัท Gazprom ประกาศว่า จะไม่กลับมาเปิดการส่งก๊าซผ่านท่อตามแผนที่วางไว้ หลังจากการปิดบำรุงรักษาเป็นเวลา 3 วัน
โดยรัฐบาลเยอรมนีได้ตอบโต้ด้วยประกาศแผนการฉุกเฉินด้านก๊าซระดับที่ 2 จาก 3 และกำลังพิจารณาการผ่อนคลายนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมหลายประการ เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการขยายระยะเวลาการดำเนินงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหิน
เยอรมนียังให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนความพยายามของสหภาพยุโรปในการควบคุมผลกำไรของบริษัทพลังงาน ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจา โดยการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะสร้าง ‘ความคล่องตัวทางการเงิน’ ซึ่งสามารถใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นของผู้บริโภคในยุโรปได้
การประกาศแผนการดังกล่าวของเยอรมนีมีขึ้นก่อนการประชุมฉุกเฉินของรัฐมนตรีพลังงานสหภาพยุโรปในวันศุกร์หน้า โดยที่ประชุมเตรียมจะหารือเกี่ยวกับมาตรการอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการกำหนดราคาพลังงานจากพลังงานหมุนเวียน ถ่านหิน และนิวเคลียร์ด้วย
การบรรเทาทุกข์ครั้งนี้ยังถือเป็นแพ็กเกจช่วยผู้บริโภคและบริษัทต่างๆ รับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงอย่างรวดเร็วชุดที่ 3 นับตั้งแต่ โอลาฟ ชอลซ์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายปี 2564 ทำให้การบรรเทาทุกข์ทั้งหมดในขณะนี้อยู่ที่มากกว่า 9.5 หมื่นล้านยูโร และจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในงบประมาณของรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
รัฐบาลเยอรมนียังเปิดเผยอีกว่า ได้ส่งร่างงบประมาณไปยังรัฐสภาสำหรับการใช้จ่ายในปีหน้าแล้ว พร้อมกล่าวว่า ร่างงบประมาณดังกล่าวอยู่ภายในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ซึ่งว่าด้วยการกู้ยืมสาธารณะ หรือที่เรียกว่า ‘Debt Brake’
ขณะที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาใช้ภาษีลาภลอย (Windfall Tax) จากผลกำไรของบริษัทพลังงานไปใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลด้วยด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ชาวเยอรมันที่มีอายุครบ 18 ปีในปี 2023 จะได้รับบัตรที่มีเงิน 7,400 บาทสำหรับซื้อตั๋วคอนเสิร์ต แผ่นเสียง และอื่นๆ เพื่อสัมผัส ‘วัฒนธรรมที่มีชีวิต’
- จับตาท่าทีจีน! หลังเยอรมนีเตรียมส่งรัฐมนตรีเยือนไต้หวันครั้งแรกในรอบ 10 ปี
- ผู้ว่าแบงก์ชาติฝรั่งเศสและเยอรมนีระบุ เงินเฟ้อยูโรโซนจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% ภายในปี 2023-2024
อ้างอิง: