Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า โดยเตือนว่าแนวโน้มการเติบโตระยะปานกลางของเศรษฐกิจโลก (The Medium-Growth Prospects) อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2025 คาดว่าจะขยายตัวก็ตาม
การเปิดเผยครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนกำหนดการเผยแพร่รายงานอัปเดตแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Outlook ของ IMF ในวันศุกร์ที่ 17 มกราคมนี้
Georgieva กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนสูงเกี่ยวกับนโยบายการค้าของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลกและผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงขึ้น
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ก็ขยับเข้าใกล้เป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มากขึ้น และข้อมูลแสดงให้เห็นถึงตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่มั่นคง ดังนั้น Fed จึงสามารถรอข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้
ดังนั้นโดยรวมแล้ว Georgieva จึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะคงอยู่ “สูงขึ้นเล็กน้อยในอีกสักระยะหนึ่ง”
Georgieva กล่าวอีกว่า “เมื่อพิจารณาจากขนาดและบทบาทของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แล้ว ไม่น่าแปลกใจเลยที่ทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจอย่างมากกับทิศทางนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ โดยเฉพาะนโยบายในด้านกำแพงภาษีศุลกากร ภาษีต่างๆ การผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ และการเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐบาล”
อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ “ยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางของนโยบายการค้า ซึ่งอาจจะเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศและภูมิภาคที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก อย่างเช่นประเทศเศรษฐกิจขนาดกลางและเอเชีย”
Georgieva กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่อง ‘ผิดปกติมาก’ ที่ความไม่แน่นอนเหล่านี้ทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวเพิ่มสูงขึ้น และทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะลดลง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์เร็วๆ นี้
Georgieva มองว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นซึ่งจำเป็นต่อการควบคุมเงินเฟ้อ ไม่ได้ผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่พัฒนาการเงินเฟ้อทั่วไปยังแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งหมายความว่าธนาคารกลางจำเป็นต้องติดตามข้อมูลในท้องถิ่นอย่างระมัดระวัง
ดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าอาจส่งผลให้ต้นทุนการระดมทุน ‘สูงขึ้น’ สำหรับเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้น้อย
ดังนั้น Georgieva จึงแนะนำว่า ประเทศส่วนใหญ่จำเป็นต้องลดการใช้จ่ายทางการคลัง หลังจากรัฐบาลนำการปฏิรูปมาใช้เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในลักษณะที่ยั่งยืน
โดยเสริมว่า “ประเทศต่างๆ ไม่สามารถกู้ยืมเงินเพื่อแก้ปัญหาได้ พวกเขาทำได้แค่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตเพื่อแก้ปัญหาเท่านั้น” พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า แนวโน้มการเติบโตระยะปานกลางของโลกอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
อ้างอิง: